ไม่มีอาการป่วย ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ช่วยอะไรได้บ้าง
ช่วยด้านการป้องกัน ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐในแต่ละพื้นที่
ไม่มีอาการ แต่มีตัวอย่าง 5 กรณีนี้ ควรทำอย่างไร
1) ไปเที่ยวกลางคืน ภายหลังสถานที่ดังกล่าว พบผู้ติดเชื้อในวันและเวลาใกล้เคียงกัน 2) เพื่อนที่ทำงานนั่งใกล้ ๆ กันติดเชื้อ 3) คนในบริษัทเดียวกันติดเชื้อ ไม่รู้จักส่วนตัว 4) คนในคอนโดที่พักติดเชื้อ ไม่รู้จักส่วนตัว 5) ไปห้างสรรพสินค้าที่มีข่าวคนติดเชื้อ ไม่ได้ไปที่ร้านเดียวกัน 6) คุณลุงที่บ้านอยู่ด้วยกัน ติดเชื้อ
- กรณีที่ 1 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่มีอาการ แต่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ให้ใช้มาตรการกักตัว 14 วัน หากมีอาการป่วยไปพบแพทย์และตรวจหาเชื้อทันที
- กรณีที่ 2 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อทุกวัน ให้ไปตรวจหาเชื้อโควิด ระหว่างรอผลให้ใช้มาตรการกักตัว หากมีอาการป่วยไปพบแพทย์ทันที
- กรณีที่ 3 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ โอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อน้อย ให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการป้องกัน หากมีอาการป่วยให้ไปพบแพทย์และตรวจหาเชื้อทันที
- กรณีที่ 4 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ โอกาสสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อน้อย ให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการป้องกัน หากมีอาการป่วยให้ไปพบแพทย์และตรวจหาเชื้อทันที
- กรณีที่ 5 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ โอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อน้อย ให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการป้องกัน หากมีอาการป่วยให้ไปพบแพทย์และตรวจหาเชื้อทันที
- กรณีที่ 6 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อทุกวัน ให้ไปตรวจหาเชื้อโควิด ระหว่างรอผลให้ใช้มาตรการกักตัว หากมีอาการป่วยไปพบแพทย์ทันที
*เป็นแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น ในสถานการณ์จริงให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1668 กรมการแพทย์ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ อยากรู้ว่าใช่โควิดหรือเปล่าต้องทำอย่างไร
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ให้ดูว่ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือเข้าออกพื้นที่เสี่ยงไหม กรณีมีปัจจัยเสี่ยงให้ติดต่อเพื่อตรวจโควิดทันที กรณีไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้สังเกตอาการ หากต้องการตรวจสามารถติดต่อขอตรวจโดยออกค่าใช้จ่ายเองจากหลายสถานบริการ
ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง รอสังเกตอาการ เมื่อไหร่ควรไปหาหมอหรือตรวจโควิด
หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 – 4 วัน หรืออาการรุนแรงขึ้นระหว่างสังเกตอาการ เช่น ไข้สูงขึ้น หอบเหนื่อย ให้พบแพทย์และตรวจโควิดทันที
ผู้ติดเชื้อโควิดแล้วมีอาการ แบบไหนอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง แบบไหนอาการรุนแรง
ผู้ติดเชื้อโควิด ในช่วง 1 – 5 วันแรก อาการจะไม่รุนแรง เป็นอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย จมูกไม่ได้กลิ่น ระยะต่อมาประมาณ 6 – 15 วันหลัง เชื้อลุกลามเข้าสู่หลอดลมและปอด เป็นระยะโควิดลงปอด อาการจะรุนแรงขึ้น มีอาการไอถี่ขึ้น ไข้สูง หนาวสั่น หอบเหนื่อย หายใจไม่เต็มอิ่ม ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง ระบบหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอาจเสียชีวิตได้
การตรวจหาเชื้อโควิด 19 มีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อ ตรวจได้ผลเป็นลบหรือไม่
มีโอกาส สาเหตุเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดพลาดจากการเก็บเชื้อของผู้ทำการตรวจ ตำแหน่งที่เก็บเชื้ออาจเข้าไปในช่องทางเดินหายใจไม่ลึกพอ หรืออยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อ ทำให้เชื้อมีน้อยตรวจไม่เจอ ดังนั้น ถ้าผลการตรวจเป็นบวก คือ ติดเชื้อโควิด ถ้าผลเป็นลบ คือ ตรวจหาเชื้อไม่เจอ อาจต้องมีการตรวจซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาถัดไป
เมื่อผลตรวจหาเชื้อโควิด 19 ได้ผลเป็นลบ สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เลยไหม
ไม่ได้ กลุ่มเสี่ยงยังต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน ในบางกรณีอาจต้องมีการตรวจซ้ำ
เมื่อผลตรวจหาเชื้อโควิด 19 ได้ผลเป็นบวก ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
เข้าสู่มาตรการแยกตัว (Isolation) ซึ่งทางภาครัฐจัดไว้ กรณีไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยจะพักที่รพ.สนาม หรือ Hospitel กรณีมีอาการรุนแรงต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Quarantine) เป็นใครได้บ้าง แล้วต้องปฏิบัติอย่างไร
กลุ่มเสี่ยง เป็นผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เดินทางเข้าออกพื้นที่มีการระบาด กับกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมดในระหว่างที่รอรับการตรวจ รอผลการตรวจ โดยให้ปฏิบัติดังนี้
- ผู้ถูกกักกันต้องไม่ออกจากที่พักอาศัยเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
- รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น โดยใช้ภาชนะ ช้อนส้อม และแก้วน้ำส่วนตัว ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70%
- สวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ในบ้านประมาณ 1 – 2 เมตร
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิด พูดคุยกับบุคคลอื่นในบ้าน
- ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม แล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง
- ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางพัก เช่น เตียง โต๊ะ บริเวณของใช้รอบ ๆ ตัว รวมถึงห้องน้ำ ด้วยน้ำยาฟอกขาว
- ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70 – 90 °C
.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19 | “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร | โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้ | ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ | ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง | การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง | การควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง | ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 | ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 |
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : น.ท.หญิง พญ. ศิริพร ผ่องจิตสิริ
ภาพประกอบ : www.freepik.com