Q: ถ้าหิว ควรทานอาหารก่อนหรือหลังออกกำลังกายจะดี
A: มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกในขณะท้องว่าง ร่างกายจะใช้พลังงานจากไขมันมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับการเผาผลาญไขมันเพิ่มขึ้น ควรออกกำลังกายในขณะท้องว่างจากเบาไปหนัก และควรกินคาร์โบไฮเดรตล่วงหน้า ก่อนการออกกำลังกายหนัก
Q: ควรดื่มน้ำทุกครั้งที่ออกกำลังกายหรือไม่ มีหลักการดื่มอย่างไร
A: ควรดื่ม โดยแบ่งดื่มก่อนออกกำลังกายเป็น 2 ช่วง คือ ดื่มล่วงหน้า 1 – 2 ชม. และดื่ม 15 – 20 นาทีก่อนออกกำลังกาย ในปริมาณที่ลดลง ระหว่างออกกำลังกายมีการสูญเสียเหงื่อ ควรมีการดื่มน้ำเป็นระยะประมาณ 15 – 20 นาที/ครั้ง ครั้งละไม่มาก หากมีเหงื่อออกมาก ควรมีการเสริมเกลือแร่เพิ่ม หลังการออกกำลังกายควรมีการดื่มน้ำเพื่อเติมน้ำกลับคืนร่างกาย ให้ใกล้เคียงกับที่สูญเสียไป ปริมาณมากน้อยสังเกตจากน้ำหนักตัวที่ลดลง
แนะนำอ่าน เปลี่ยนชีวิตให้สดใสด้วยการดื่มน้ำ
Q: ถ้าไม่สบายนิดหน่อย ออกกำลังกายได้ไหม
A: หากเป็นอาการเหนือคอขึ้นไป เช่น คัดจมูก เจ็บคอ น้ำมูกใส สามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรลดความหนักของการออกกำลังกายลงอย่างน้อย 50% พร้อมกับการดูแลด้านอื่นในเบื้องต้น เช่น ดื่มน้ำอุ่น นอนหลับพักผ่อน ทั้งนี้หากอาการแย่ลงควรหยุดออกกำลังกายทันที
Q: ถ้าต้องการลดน้ำหนัก ควรออกกำลังกายลักษณะไหน
A: หลักการเบื้องต้น ลดน้ำหนักควรออกกำลังกายควบคู่กับการควบคุมอาหาร ให้พลังงานที่ร่างกายใช้มากกว่าพลังงานที่ได้รับ สำหรับการออกกำลังกายที่เหมาะสมจะเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ให้หัวใจเต้นอยู่ในโซน 2 ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป สัปดาห์ละ 3 ครั้งหรือมากกว่านั้น พร้อมกับการออกกำลังกายแบบเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มการเผาผลาญให้มากขึ้น
Q: เลือกควบคุมอาหารโดยไม่ออกกำลังกาย เพื่อลดน้ำหนักได้ไหม
A: ไม่แนะนำ แม้ว่าการคุมอาหารโดยให้พลังงานที่ร่างกายใช้มากกว่าพลังงานที่ได้รับ สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ แต่การออกกำลังกายร่วมกับการควบคุมอาหาร ทำให้ร่างกายไม่ต้องฝืนกับการควบคุมอาหารอย่างหนัก ๆ อีกทั้งยังทำให้ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ กล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ มีความแข็งแรง ทำงานได้ดีขึ้น
Q: ออกกำลังกายเพื่อลดไขมันเฉพาะส่วนได้ไหม
A: ไม่ได้ เพราะร่างกายไม่สามารถกำหนดได้ว่า จะลดไขมันตรงไหนก่อนหลัง โดยหลักการแล้วร่างกายจะเริ่มสะสมไขมันซึ่งเป็นพลังงานส่วนเกินไว้ที่ พุง เอว สะโพก แขน ขา โดยการนำมาใช้จะเริ่มจากที่สะสมใหม่ โดยไขมันที่เอว พุง จะค่อย ๆ ลดภายหลังจากการลดน้ำหนักไปได้สักระยะ ทั้งนี้อาจมีการบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะจุด เพื่อสร้างความแข็งแรงบริเวณนั้นได้
Q: ถ้าออกกำลังกายหนักแล้ว จะกินมากเท่าไรก็ได้
A: ไม่ถูก การออกกำลังกายหนัก ทำให้กินได้มากกว่าไม่ออกกำลังกาย แต่ต้องไม่ทำให้พลังงานที่ร่างกายได้รับมากกว่าพลังงานที่ร่างกายใช้ เพื่อให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
Q: ออกกำลังกายแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เน้นการใช้น้ำหนักพอดี ทำจำนวนชุดมาก ๆ
A: ไม่ถูกต้อง หากต้องการสร้างกล้ามเนื้อ ควรเน้นการใช้น้ำหนักมาก ๆ จำนวนชุดน้อย ๆ โดยต้องรู้สึกตึงกล้ามเนื้อในระดับหนึ่ง เสริมด้วยการกินโปรตีนเสริมตามความเหมาะสม
แนะนำอ่าน อาการที่บอกว่า ออกกำลังกายไม่ได้ผล
Q: ออกกำลังกายแบบเสริมความยืดหยุ่น ควรเน้นการใช้น้ำหนักมาก ออกแรงสั้น ๆ ไม่หายใจ
A: ไม่ถูกต้อง การเสริมความยืดหยุ่น ควรเน้นให้กล้ามเนื้อ ได้มีการยืด คลายตัวอย่างช้า ๆ ไม่เน้นความหนักหรือความเร็ว เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อตึง และเกิดการบาดเจ็บได้ อ่านเพิ่มเติม ออกกำลังกายแบบไหน ฝึกความอึดทนแกร่ง
แนะนำอ่าน อาการที่บอกว่า ออกกำลังกายไม่ได้ผล
Q: ออกกำลังกาย จำเป็นต้องกินเวย์ โปรตีนไหม
A: ไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับอาหารที่เรารับประทานมีโปรตีนเพียงพอไหม โดยไม่จำเป็นต้องกินให้เกินพอ เนื่องจากโปรตีนส่วนที่เกินร่างกายจะขับออก สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย โดยเฉพาะแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งต้องใช้โปรตีนที่สูง การกินเวย์โปรตีนอาจเป็นประโยชน์
Q: ออกกำลังกาย ต้องกินน้ำเกลือแร่ไหม
A: โดยทั่วไปไม่จำเป็น โดยทานน้ำให้เพียงพอทั้งก่อน ระหว่างและหลังการออกกำลังกายเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปได้ ยกเว้นการออกกำลังกายหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น วิ่งมาราธอน ควรดื่มเกลือแร่ เพื่อเสริมเกลือแร่ที่สูญเสียไปพร้อมกับเหงื่อขณะวิ่งได้
Q: ผู้ป่วยในทุกประเภท ไม่ควรออกกำลังกาย
A: การออกกำลังกายมีประโยชน์หลายประการ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำแนะนำถึงวิธีการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
อ่านต่อ ตอบทุกข้อสงสัย การออกกำลังกาย : ตอน 1 : ตอน 2
ผู้เรียบเรียง กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com