การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ใครต้องทำอะไรบ้าง
มาตรการหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 มีการตรวจหาเชื้อ แยกผู้ติดเชื้อ (Isolation) กักกัน (Quarantine) ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง สังเกตอาการผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อต่ำ และมีมาตรการรองรับแต่ละกลุ่ม โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
วิธีตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด 19 ที่นิยมทำในปัจจุบัน
สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูง ได้สิทธิตรวจหาเชื้อโควิดฟรี ตรวจสอบสถานที่ตรวจได้ที่ www.service.dmsc.moph.go.th/labscovid19 กรณีที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงอาจมีค่าบริการ สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ สายด่วน สปสช. 1330 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
.
สำหรับวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สรุปได้ดังนี้
- Real-time RT PCR เป็นการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งเป็นวิธีการตรวจมาตรฐานที่แนะนำในปัจจุบัน โดยการป้ายเอาเมือกและเยื่อบุในคอ หรือโพรงจมูก หรือนำเสมหะที่อยู่ในปอดไปตรวจ เป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ มีความไว มีความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 3 – 5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อย ๆ ได้ ทั้งนี้ผลตรวจเป็นบวกสามารถยืนยันการติดเชื้อโควิด 19 ได้ หากผลตรวจเป็นลบเป็นการตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งอาจต้องมีการตรวจซ้ำหลังจากนั้น สำหรับสาเหตุที่ตรวจไม่พบอาจมาจากเชื้ออยู่ในระยะฟักตัว ยังมีจำนวนน้อย และสาเหตุทางด้านเทคนิคอื่น ๆ
- Antibody test การเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยการใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว ทราบผลได้ใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5 – 7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10 – 14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค วิธีนี้มีราคาถูกกว่า แต่หากเพิ่งได้รับเชื้อ ยังไม่มีอาการ ผลการตรวจอาจขึ้นเป็นลบ เหมือนว่าผู้ป่วยไม่ได้รับเชื้อโควิด 19 ปัจจุบันยังไม่แนะนำมาใช้เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยหลัก
กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง
กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง เช่น สมาชิกในครอบครัว ญาติ และผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในขณะที่มีอาการป่วยที่ต้องกักตัว (Quarantine) ต้องทำอย่างไรบ้าง
.
การกักตัวสามารถทำที่บ้าน (Home Quarantine) สิ่งที่ต้องปฏิบัติตลอด 14 วัน
- ผู้กักตัวควรหยุดเรียน หยุดงาน พักอยู่บ้าน ไม่ออกไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะ
- ผู้กักตัวควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ในขณะที่ผู้อื่นต้องใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่กับผู้กักตัวด้วย
- จัดห้องพักแยกต่างหาก เลือกที่อากาศถ่ายเท ไม่ใช้พื้นที่ร่วมกันโดยไม่จำเป็น แม้แต่ห้องน้ำ
- กรณีต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน นอกเหนือจากทุกคนใส่หน้ากากอนามัยแล้ว ผู้กักตัวควรรักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1 เมตร ไม่ควรอยู่ใกล้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังหรือเด็กเล็ก
- เลี่ยงการใช้สิ่งของและเลี่ยงทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เลี่ยงการกินอาหารร่วมกัน เลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกัน
- ทำความสะอาดพื้นที่ เครื่องใช้ ห้อง พื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อเป็นประจำ เช่น ห้องน้ำ หากมีการใช้ร่วมกันก็ควรทำความสะอาดทุกวันด้วยเช่นกัน
- การซักผ้าควรใช้น้ำร้อน 60 – 90 องศาเซลเซียส ร่วมกับน้ำยาซักผ้าปกติในการซักผ้า และเครื่องนอนของผู้ที่ต้องกักตัว และอย่าให้เสื้อผ้า เครื่องนอนที่ใช้แล้วของผู้กักตัวสัมผัสกับผ้าอื่น ๆ ที่สะอาด
- ควรสวมถุงมือทุกครั้งในการทำความสะอาด และล้างมือทั้งก่อนและหลังทำความสะอาด ถ้าเลือกได้แนะนำถุงมือประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง
- ถ้าต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ควรปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดน้ำชำระ
- ถ้าไอหรือจาม แม้แต่ไอแห้งเบา ๆ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือแขนเสื้อปิดปาก หลังไอจามเสร็จควรล้างมือทุกครั้ง
- แยกขยะ เช่น ถุงมือ กระดาษชำระ หน้ากากอนามัย และทำเครื่องหมายติดป้ายไว้ว่าขยะติดเชื้อ และแม้ตอนนี้ตามท้องถนนจะยังไม่มีถังขยะแยกสำหรับขยะติดเชื้อเหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ก็เป็นการดีกว่าที่เราจะได้บอกเจ้าหน้าที่เก็บขยะให้เพิ่มความระมัดระวัง
- เก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อตรวจหาเชื้อ วิธี Real-time RT PCR จำนวน 2 ครั้ง เก็บตัวอย่างครั้งแรกโดยเร็วเมื่อเจ้าหน้าที่ระบุผู้สัมผัสได้ และเก็บตัวอย่างครั้งที่สอง 7 วัน หลังจากตรวจครั้งแรก หรือ 13 วัน หลังจากวันสัมผัสผู้ป่วยยืนยันครั้งสุดท้ายแล้วแต่ว่าวันใดถึงก่อน
กลุ่มเสี่ยงต่ำที่ต้องสังเกตอาการต้องทำอย่างไรบ้าง
ผู้สังเกตอาการ ไม่ต้องทำแบบการกักตัว แต่เน้นมาตรการป้องกันหลัก ๆ คือ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกต้องบ่อย ๆ เว้นระยะห่างกับผู้อื่นให้เพียงพอ โดยหากอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูก เจ็บคอ ไม่หายภายใน 3 – 4 วัน หรืออาการรุนแรงขึ้นต้องพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที
.
บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เข้าใจโรคโควิด 19 | “ไวรัส” อันตรายต่อมนุษย์ อย่างไร | โควิด 2019 เรื่องต้องรู้ หากจะรับมือให้ได้ | ฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19 (COVID-19) อะไรที่ต้องทำ | ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง | การฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อลดความรุนแรง | ถามตอบ ข้อสงสัย การควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 | ถามตอบ ข้อสงสัย การป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 | ถามตอบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 |
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ตรวจทานความถูกต้องโดย : นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ
ภาพประกอบ : www.freepik.com