ความเครียดสามารถเกิดได้จากงาน ชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่วิกฤตวัยกลางคนรุมเร้า เพราะโรคที่เกิดขึ้นกับอารมณ์และจิตใจ จึงไม่ได้มีอาการแสดงออกชัดเจนเท่ากับการเจ็บป่วยแบบอื่น ๆ อีกทั้งความเครียด หรือโรคเครียด ก็ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติ หากเรากำลังเผชิญกับปัญหา แต่ใจความสำคัญอยู่ที่ว่า ความเครียดนั้นได้กระทบต่อการใช้ชีวิตของเราแล้วหรือยัง และถ้ารู้สึกว่าตนเองกำลังเสี่ยง มาลองเช็คสัญญาณต่าง ๆ ว่าถึงเวลาที่ต้องไปพบแพทย์แล้วล่ะ หากคุณมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น
เช็คระดับความเครียด
- หงุดหงิดบ่อยครั้ง หากปกติคุณเป็นคนอารมณ์ดี แต่ช่วงนี้มักมีปัญหาโต้เถียงกับเพื่อน ครอบครัวคนใกล้ชิดบ่อยขึ้น กระทบกระทั่งกันแม้แต่เรื่องเล็กน้อยจนทำให้รู้สึกเครียด พึงระลึกว่าไม่ใช่อารมณ์ปกติที่ควรจะมองข้าม เพราะหากความอดทนที่มีต่อผู้อื่นของคุณกำลังลดลงเรื่อย ๆ ก็อาจเป็นอาการของความผิดปกติที่กำลังพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลได้
- นอนไม่หลับ อาการนอนไม่หลับและพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคุณได้มากกว่าที่คิด และทำให้คุณมีอารมณ์ที่หงุดหงิดฉุนเฉียว เครียด คิดอะไรไม่ออก และอาจจะหนักถึงขั้นมีปัญหาใหญ่เวลางาน หรือเวลาขับรถ หากคุณรู้ตัวว่าควบคุมการนอนหลับของตัวเองไม่ได้ ก็ถึงเวลาต้องปรึกษากับใครซักคนแล้วล่ะ
- ปลีกวิเวก สัญญาณแรก ๆ ของโรคซึมเศร้า คือ การเริ่มปลีกตัวออกจากผู้อื่น หากคุณรู้สึกว่าสังคมเริ่มอยู่ยาก เบื่อหน่ายที่จะทำกิจกรรมและตัดขาดการติดต่อกับผู้อื่น ก็อาจจะต้องหยุดถามตัวเองซักนิด ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
- กินมากขึ้น หรือน้อยลงผิดปกติ การกินมาก หรือน้อยเกินไป และกินแต่พวกอาหารประเภทไขมันและน้ำตาลสูง อาจเป็นสัญญาณที่เกิดจากความเครียด และเป็นการกินที่เกิดจากอารมณ์ไม่ใช่ความต้องการจริง ๆ ของร่างกาย ซึ่งความเครียดระยะสั้นจะทำให้ทานได้น้อยลง ส่วนความเครียดระยะยาวจะไปเพิ่มฮอร์โมน Cortisol ที่ทำให้มีความยากอาหารมากขึ้น
- ผ่อนคลายไม่ได้ ถ้าคุณรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอคุณอาจกำลังมีอาการของโรควิตกกังวล แตกต่างจากภาวะซึมเศร้าที่แสดงอาการเป็นช่วง ๆ โดยอาการนี้จะสังเกตได้ยาก และมักจะเป็นต่อเนื่องกันจนในที่สุดอาจจะแสดงออกมาผ่านร่างกาย ในรูปแบบของอาการปวดศีรษะ ไหล่เครียดตึง และอาการปวดท้องก็เป็นได้
ความคิดผิด ๆ อาจนำไปสู่ระดับความเครียดที่เลวร้ายกว่าเดิม
ความเครียด คือ โรคอย่างหนึ่ง อย่าปล่อยให้ความเชื่อผิด ๆ มาหยุดคุณ อย่าง “โรคทางจิตสามารถหายเองได้หากเราเข้มแข็งพอ, เข้าวัดทำบุญสิเดี๋ยวก็หาย, คิดไปเองหรือเปล่า, มีแค่คนอ่อนแอเท่านั้นแหละที่เป็นแบบนี้, มีแต่คนบ้านั่นแหละที่ไปหาจิตแพทย์” ซึ่งข้อความเหล่านี้ล้วนไม่จริงทั้งนั้น และอาจเป็นการขุดหลุมฝังตัวเอง หรือคนที่กำลังรอความช่วยเหลือจากคุณทางอ้อมอีกด้วย
จำเอาไว้เสมอว่าคุณแค่อาจจะป่วย แล้วก็เหมือนโรคทั่วไปที่จะต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางนั้น ๆ เพื่อทำการรักษา และอย่าได้กังวลว่าค่ารักษาจะแพงเกิน เพราะมีโครงการช่วยเหลือผู้มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจอยู่มากกว่าที่คุณคิด แค่เพียงคุณยอมรับและมุ่งสู่การรักษา เท่านี้ก็เป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์กับตัวของคุณเอง
อย่าปล่อยให้ความวิตกกังวล มาขัดขวางคุณต่อการสังเกตสัญญาณของอาการทางจิตเหล่านี้โดยเด็ดขาด เพราะสิ่งที่นำมาอาจร้ายแรงไปจนถึงโรคทางจิต, โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้ ดังนั้น เมื่อเริ่มสงสัยว่าสิ่งที่คุณเป็นอยู่เข้าข่ายอาการเหล่านี้ อย่ารอช้าที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ, นักบำบัด หรือแม้แต่จิตแพทย์ เพราะเมื่อคุณป่วย การเริ่มลงมือรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยทำให้อาการเครียดต่าง ๆ เบาบางลงและหายขาดได้เร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ดังเดิมอีกครั้ง
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.webmd.com
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com