ภายใต้หลักธรรมคำสอน ที่พระพุทธเจ้าหลงเหลือไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ‘สติ’ คือหนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลัง ซึ่งสามารถนำทางไปสู่การรู้แจ้ง ช่วยให้เราระลึกรู้วาระแห่งจิตแต่ละขณะ นำไปสู่ความเข้าใจของแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี แม้หลายคนจะทราบว่า ‘สติ’ คือ ‘ประธาน’ คือหัวใจหลัก แต่ก็มักเกิดความติดขัดในขั้นของการนำหลักธรรมมาใช้จริงเสมอว่าควรเริ่มต้นอย่างไร
สติปัฏฐาน 4
1. กายานุปัสสนา คือ การมิสติกำหนดพิจารณากาย
2. เวทนานุปัสสนา คือ การมีสติพิจารณาอารมณ์
3. จิตตานุปัสสนา คือ การมีสติรู้เห็นในจิตใจ
4. ธัมมานุปัสสนา คือ การมีสติพิจารณาธรรม
นำหลักสติปัฏฐาน 4 มาใช้ในชีวิตอย่างไร
1. เริ่มจากกาย
การพิจารณากายของตนเอง เป็นขั้นแรกซึ่งสามารถทำได้ง่ายที่สุด อย่างการลองกำหนดลมหายใจอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน มีสติรับรู้ในแต่ละอิริยาบถ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ โดยสตินั้นทำให้เราเกิดสมาธิ รับรู้ในสิ่งที่กำลังทำหรือจะทำ สิ่งนั้นจะส่งผลต่อความคิดของเรา ถ่ายทอดออกมาเป็นการกระทำที่ดี ไม่ยึดติดกับกิเลสนั่นเอง
2. กำหนดอารมณ์
คนเรารับรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านทางรูป รส เสียง กลิ่น และผิวหนัง อันเป็นประสาทสัมผัส ซึ่งเวทนาก็คือการรับรู้เมื่อเราเสพเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาแล้วเกิดเป็นอารมณ์ ถ้าหากเราปล่อยให้สิ่งนั้นครอบงำโดยไม่รู้จักควบคุมกายของตัวเองมาก่อน ก็จะเกิดเป็นความทุกข์ ความอยาก ดังนั้นการพิจารณาเวทนาคือการรู้ การมองดูอารมณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่ไปยึดติด
3. ล่วงรู้จิตใจ
จิตมักถูกกิเลสทำให้ไขว้เขว ความอยาก ความต้องการ หรือแม้แต่ความคิดฟุ้งซ่านก็ส่งผลต่อจิตได้เช่นกัน แต่หากเราฝึกที่จะพิจารณากายและอารมณ์บ่อย ๆ แล้ว เราจะพบว่าทุกสิ่งนั้นไม่เที่ยง แต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นก็มีสาเหตุและผลในตัวของตัวเอง ดังนั้นไม่ควรหลงใหลในความไม่เที่ยงนั้น อดีต ปัจจุบัน และอนาคตจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับจิตของเรา
4. ขบคิดหลักธรรม
การพิจารณาถึงหลักธรรม เป็นเหมือนการเตือนให้สติของเรารับรู้ว่า ควรกำหนดกายและอารมณ์อย่างไร และสิ่งนั้นก็จะส่งผลต่อจิต เป็นขั้นตอนของการเกิดปัญญาอย่างแท้จริง เข้าใจถึงทุกข์ และหนทางการดับทุกข์ เมื่อเราสั่งสม หมั่นปฏิบัติตามแนวทางนี้ไปเรื่อย ๆ ความทุกข์ก็จะค่อย ๆ ลดลง
สิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอคือ ในการฝึกสติปัฏฐาน 4 นั้น ต้องมีสมาธิในขั้นกายเป็นเครื่องนำทาง เพื่อให้สมาธินั้นน้อมนำความตั้งมั่นให้เกิด จนมองเห็นเวทนา และจิตของตนเองอย่างถ่องแท้ นั่นจึงจะสามารถพิจารณาธรรมในวาระต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่เจือปนกับกิเลสอื่น ๆ
ดังคำเทศนาธรรมโดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งเคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“…ในพุทธศาสนานี้มีการฝึกหัดสติอันเดียว การฝึกหัดเรื่องอะไรก็ตาม ฝึกหัดสติอันเดียวเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายแต่ก่อนนี้ ก็ทรงสอนให้ฝึกสติอันเดียวเท่านั้น ทรงสอนฆราวาสก็เหมือนกัน ทรงสอนเรื่องสติ ให้มนุษย์คนเราพากันมีสติ พวกเราก็พากันถือคำสอนของพระองค์นั่นแหละมาพูด เช่น พอพลั้ง ๆ เผลอ ๆ ก็ว่า ไม่มีสตินี่ ก็พูดกันไปอย่างนั้นแหละ ตัวผู้พูดเองก็ไม่รู้เรื่องว่าตัวสติมันเป็นอย่างไร พูดไปเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ มิหนำซํ้าบางคนไม่มีสติอยู่แล้ว ยิ่งไปดื่มสุรายาเมาเข้า ยิ่งไปใหญ่จนเสียสติเป็นบ้าไปก็มี เหตุนี้จึงว่า คำสอนของพุทธศาสนาทั้งหมดมาลงที่สติอันเดียว ตั้งแต่เบื้องต้นก็สอนสติ ท่ามกลาง ที่สุดก็สอนสติ เป็นศาสนาที่สอนถึงที่สุด แต่คนทำนั่น ทำสติไม่ถึงที่สุดสักที ทำมากี่ปีกี่ชาติก็ไม่สมบูรณ์สักที พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ทรงสอนสติตัวเดียวนี้…”
สำหรับชาวพุทธที่ต้องการฝึกปฏิบัติให้เกิดผลในชีวิตประจำวัน ก็ขอให้มีสติเป็นที่ตั้ง นั่นจึงจะเป็นกุญแจไขไปสู่หลักธรรมอย่างอื่นของพระพุทธองค์ได้อีก นับเป็นแนวทางของการรู้แจ้งอย่างแท้จริง
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.nkgen.com