การสืบพันธุ์ของมนุษย์ เป็นแบบปฏิสนธิภายในร่างกาย โดยเพศชายจะหลั่งอสุจิจำนวนมากในช่องคลอดของเพศหญิง อสุจิจะเดินทางเข้าไปในมดลูก และท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับไข่ ภายหลังการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะมีการฝังตัวและเจริญเติบโตที่ผนังมดลูก โดยอยู่ในครรภ์ประมาณ 9 เดือน ในระหว่างนั้นต่อมน้ำนมจะทำการผลิตน้ำนม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมของเพศหญิง
ระบบสืบพันธ์ุเพศชาย
อวัยวะที่เกี่ยวข้อง
- อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและเก็บอสุจิ ประกอบด้วย อัณฑะ (Testis) เป็นต่อมรูปไข่มี 2 ข้าง ภายในมีหลอดสร้างตัวอสุจิ (Seminiferous Tubule) ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิ (Sperm) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย ภายหลังการสร้างและพัฒนา อสุจิจะถูกส่งเข้าสู่หลอดเก็บตัวอสุจิ (Epididymis) ภายนอกอัณฑะ โดยอัณฑะจะถูกห่อหุ้มอยู่ในถุงหุ้มอัณฑะ (Scrotum) เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะในการสร้างตัวอสุจิ โดยจะต่ำกว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายประมาณ 3-5 องศาเซลเซียสนอกจากนี้อัณฑะยังสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหลัก ที่ช่วยกระตุ้นให้แสดงลักษณะต่าง ๆ ของเพศชาย เช่น มีกล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อกระดูกโครงร่างใหญ่ มีหนวดเครา มีขนดก เป็นต้น
- อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างของเหลวในการหลั่งอสุจิ และท่อนำอสุจิ ได้แก่ ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal vesicles) ทำหน้าที่สร้างอาหารเพื่อใช้เลี้ยงตัวอสุจิ รวมถึงการสร้างของเหลวมาผสมกับตัวอสุจิเพื่อให้เกิดสภาพที่เหมาะสมกับตัวอสุจิ ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) ทำหน้าที่หลั่งสารที่มีฤทธิ์เป็นเบสอ่อนๆ เพื่อปรับสมดุลกรด-เบสในท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมกับตัวอสุจิ ต่อมคาวเปอร์ (Cowper Gland) อยู่ใต้ต่อมลูกหมาก ทำหน้าที่หลั่งสารไปหล่อลื่นท่อปัสสาวะในขณะที่เกิดการกระตุ้นทางเพศนอกจากนี้ยังมีหลอดนำอสุจิ (Vas deferens) อยู่ต่อจากหลอดเก็บตัวอสุจิ ทำหน้าที่ลำเลียงตัวอสุจิไปเก็บไว้ที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ
- อวัยวะที่ใช้ในการร่วมเพศ จะเป็นอวัยวะเพศชายที่อยู่ภายนอก คือ องคชาต (Penis) ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของปัสสาวะและน้ำอสุจิ มีลักษณะเป็นท่อนยาว ประกอบไปด้วยส่วนของกล้ามเนื้อคล้ายฟองน้ำ (Corpus cavernosum) และส่วนของท่อปัสสาวะ โดยกล้ามเนื้อคล้ายฟองน้ำทำหน้าที่ในการกักเก็บเลือด ทำให้เกิดการแข็งตัวขององคชาต จนสามารถสอดใส่เข้าไปภายในช่องคลอดของเพศหญิงได้ ส่วนปลายขององคชาตจะบานออกเป็นรูปดอกเห็ด โดยมีเส้นประสาท และเส้นเลือดเป็นจำนวนมาก
การทำงาน
เพศชายจะเริ่มสร้างตัวอสุจิตั้งแต่อายุประมาณ 12 – 13 ปี โดยในการหลั่งน้ำอสุจิแต่ละครั้ง จะมีตัวอสุจิเฉลี่ยประมาณ 350 – 500 ล้านตัว โดยปริมาณน้ำอสุจิและตัวอสุจิแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องเช่น อายุ ความแข็งแรง เชื้อชาติ อื่น ๆ น้ำอสุจิจะถูกขับออกจากร่างกายตรงปลายสุดขององคชาต โดยตัวอสุจิเมื่อออกสู่ภายนอกจะมีชีวิตอยู่ได้ 2 – 3 ชั่วโมง ในขณะที่อยู่ในมดลูกของเพศหญิงได้นาน 24 – 48 ชั่วโมง
โรคที่เกี่ยวข้อง
ต่อมลูกหมากโต หย่อนสมรรถภาพทางเพศ มะเร็งต่อมลูกหมาก ไส้เลื่อน ต่อมลูกหมากโต หย่อนสมรรถภาพทางเพศ มะเร็งต่อมลูกหมาก ไส้เลื่อน
ระบบสืบพันธ์ุเพศหญิง
อวัยวะที่เกี่ยวข้อง
อวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ส่วนใหญ่อยู่ภายในร่างกายบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยส่วนที่อยู่ภายในประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ รังไข่ (Ovary) ทำหน้าที่สร้างเซลล์ไข่ (Ovum) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธ์เพศหญิงและผลิตฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มดลูก (Uterus) เชื่อมกับรังไข่ต่อจากท่อนำไข่ มีหน้าที่รองรับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ มดลูกส่วนที่ต่อกับช่องคลอดจะมีส่วนที่เรียกว่า ปากมดลูก ช่องคลอด (Vagina) เป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อกับมดลูก มีหน้าที่เป็นช่องทางให้อวัยวะเพศชายสอดใส่และรองรับอสุจิที่หลั่งขณะมีเพศสัมพันธ์รวมถึงการเป็นช่องทางคลอดออกสู่โลกของทารก
สำหรับอวัยวะเพศหญิงที่อยู่ภายนอก ประกอบด้วยแคมใหญ่ แคมเล็กและปุ่มคริสตอริส (Clitoris) ซึ่งปุ่มนี้จะมีเส้นประสาทอยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ในเพศหญิง จะมีการหลั่งเมือกจากต่อมบาร์โธลีน (Bartholin’s glands) ทำหน้าที่ช่วยในการหล่อลื่นและปรับลดความเป็นกรดในช่องคลอด
การทำงาน
เพศหญิงเมื่อเข้าอายุ 12 – 13 ปี ไข่จะเริ่มสุก แล้วตกจากรังไข่ เรียก การตกไข่ (Ovulation) โดยจะตกเดือนละ 1 ใบ สลับข้างกัน ไข่ที่ตกจะเคลื่อนเข้าสู่ท่อนำไข่ ระหว่างนั้นมดลูกจะเริ่มขยายขนาดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ทำให้ผนังมดลูกด้านในหนาตัวขึ้น และมีหลอดเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ ในกรณีที่ไข่ไม่ได้รับการผสมจะค่อยๆฝ่อตัวไป ทำให้หลอดเลือดฝอยบริเวณผนังมดลูกเกิดการสลายตัว เกิดเลือดหรือก้อนเลือดไหลผ่านช่องคลอดออกมา เรียก การมีประจำเดือน (Menstruation) ในขณะที่ผนังมดลูกค่อยๆกลับสู่ภาวะปกติ
โรคที่เกี่ยวข้อง
- ช่องคลอดอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอด ทำให้เกิดการอักเสบ มีตกขาวผิดปกติ เช่น มีสีเปลี่ยน มีกลิ่นเหม็น มีเลือดปน รวมถึงมีอาการคันหรือแสบช่องคลอด
- ปีกมดลูกอักเสบ เป็นส่วนหนึ่งของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ โดยมีการติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่บริเวณท่อนำไข่และต่อมาเกิดการอักเสบ การติดเชื้อสามารถเกิดได้กับปีกมดลูกข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดแบบเสียด ๆ คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออก อาจมีไข้
- อุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการมีความแตกต่างกันบ้างตามอวัยวะที่อักเสบ
- เชื้อราในช่องคลอด เป็นการติดเชื้อราภายในช่องคลอด ทำให้เกิดการระคายเคือง การคัน การบวมแดงของช่องคลอด รวมถึงตกขาวที่ผิดปกติ
- ปวดประจำเดือน เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการมีประจำเดือน โดยจะปวดบีบเป็นพัก ๆ บริเวณท้องน้อย อาจร้าวไปถึงบริเวณหลัง บริเวณก้น หรือบริเวณต้นขา บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หน้ามืด เป็นลมร่วมด้วย
- มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เอชพีวี ชนิดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยไวรัสชนิดนี้จะติดต่อผ่านบาดแผลหรือรอยถลอกของอวัยวะสืบพันธ์ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ และจะทำให้เซลล์ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นมะเร็งได้ในเวลาหลายปี หลังจากนั้น
เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.livescience.com www.britannica.com th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com