Health4senior

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เป็นโรคที่หลอดเลือดแดงเกิดหนาตัว มีความแข็ง ขาดความยืดหยุ่นและอาจถึงขั้นตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดบริเวณดังกล่าวลดลง ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายและใกล้เคียงไม่เพียงพอ ในกรณีที่ตีบตันจะทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนปลายของหลอดเลือดที่ตีบตัน ทำให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อบริเวณส่วนปลายเท้าตาย ขึ้นกับตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ตีบหรือตัน

 

อาการ

โรคหรือภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยผู้ที่เป็นโรคส่วนใหญ่จะไม่ทราบจนกระทั่งเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน โดยอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตัน ได้แก่

  1. หลอดเลือดที่คอหรือสมอง อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอัมพาต อัมพฤกษ์ เวียนศีรษะ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  2. หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิด โรคหัวใจขาดเลือด ปวดเค้นอก แน่นหน้าอก เหมือนมีสิ่งของมาทับอาจจะปวดร้าวมาไหล่และแขนซ้ายด้านใน เหงื่อออกมาก หายใจหอบเหนื่อย กรณีเป็นรุนแรงทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
  3. หลอดเลือดที่ขา อาจทำให้เกิดอาการปวดเวลาเดิน ชา มีแผลจะหายช้า เท้ามีสีดำคล้ำ อาจจะเกิดส่วนที่ดำและตายในส่วนปลายของตำแหน่งที่ตีบตันบริเวณเท้า
  4. เส้นเลือดที่ไต จะทำให้มีความดันโลหิตสูงและถ้าเป็นรุนแรงอาจจะทำให้ไตวายได้

 

กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง

กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งเกิดจากการมีไขมันหรือแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และการสะสมของไขมันและสารอื่น ๆ รวมถึงเม็ดเลือดขาวทำให้เกิดการอักเสบ มีเกล็ดเลือดมาเกาะ และแผ่นคราบ (plaque) หนาตัวขึ้น ซึ่งอาจจะแตกออกและเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง ทั้งนี้ หลอดเลือดแดงแข็งมักเกิดในหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ พบในหลอดเลือดแดงขนาดเล็กเป็นส่วนน้อย

 

ปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ ดังตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง

[supsystic-tables id=4]

  • การสูบบุหรี่*
    ความรุนแรงของความเสี่ยง อาจจะพิจารณาจากจำนวนซองบุหรี่ที่สูบต่อวัน X จำนวนปี
    สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นนิโคตินและความถี่ที่สูบ
    นอกจากนี้การได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุคคลในครอบครัวก็เพิ่มความเสี่ยงแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เอง
  • ความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน อาจจะคำนวณจากดัชนีมวลกายหรือรอบเอว**
    1. ดัชนีมวลกาย (Body mass index) = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (ม.)
      ตัวอย่าง ส่วนสูง 1.68 เมตร น้ำหนัก 68 กก. ดัชนีมวลกายเท่ากับ 68/(1.68)= 24.1 กก/ม2
      ปกติ ดัชนีมวลกายถ้ามากกว่า 23 กก/ม2 จะถือว่าน้ำหนักเกินและเพิ่มความเสี่ยง
    2. รอบเอว ชาย ไม่ควรเกิน 90 ซม. หญิง ไม่ควรเกิน 80 ซม. หรือ รอบเอวไม่เกิน ส่วนสูง/2
  • ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท ขึ้นไป ที่สถานพยาบาล***
    แม้แต่ระดับความดันโลหิต ≥ 130/85 มิลลิเมตรปรอทในกลุ่มที่อ้วนลงพุง ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • ไขมันผิดปกติ****
    ไขมันที่ไม่ดี คือ ระดับ LDL-C ถ้ามากว่า 190 มก./ดล. ถือว่าความเสี่ยงสูงมาก การรักษาควรให้ลดระดับ LDL-C เท่าใด ขึ้นกับความเสี่ยง เช่น น้อยกว่า 100 มก./ดล. ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น เบาหวาน หรือ น้อยกว่า 70 มก./ดล. ในผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดไขมันที่ดี คือ HDL-C เพศชายควรมีระดับ มากกว่า HDL-C 40 มก./ดล. และเพศหญิง ควรมากกว่า  50 มก./ดล. และถ้ามากกว่า 60 มก./ดล. อาจจะมีส่วนในการป้องกันโรคหัวใจ
  • เบาหวานหรือระดับน้ำตาลสูง*****
    แม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลสูงถึงระดับเบาหวาน แต่มีค่าน้ำตาลก่อนอาหารมากกว่า 100 มก./ดล. หรือน้ำตาลสูงที่ 2 ชั่วโมงหลังรับทานน้ำตาล 75 กรัม มากกว่า 140 มก./ดล. ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

การประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

บุคคลทั่วไปสามารถประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย application หรือ ทางอินเตอร์เน็ตที่ดูโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดและการแนะนำการปฏิบัติตนใน Thai CV risk score* ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลความเสี่ยง ได้แก่ อายุ เพศ การสูบบุหรี่ ประวัติโรคเบาหวาน ระดับความดันตัวบน ในกรณีที่ไม่ใช้ผลเลือดไขมัน จะใช้ค่าวัดรอบเอวและส่วนสูง หรือถ้ามีผลเลือด จะใช้ค่าโคเลสเตอรอล LDL-C HDL-C

* https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk/thai_cv_risk_score/

 

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติอาการป่วย  รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (ตามรายละเอียดในข้อสาเหตุ) พร้อมการตรวจร่างกาย การตรวจหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ รอบเอว น้ำหนัก ส่วนสูง เพื่อคำนวณดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต อาการแสดงของหลอดเลือดแดงแข็งบริเวณอวัยวะที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยง เช่น การตรวจคลำชีพจรที่เท้า ฟังเสียงฟู่ที่ท้อง หลัง และ คอ

ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำ แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม เช่น

  1. การตรวจเพื่อเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด
  2. การตรวจเพื่อหาความผิดปกติของเส้นเลือดแดง โดยการใช้เทคนิคทางด้านเอ็กซเรย์หรือการสแกน เพื่อดูความผิดปกติหลอดเลือด เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-scan) การทำดอปเปอร์อัลตร้าซาวด์ (Doppler ultrasound) เพื่อวัดความดันและการไหลของเลือดในหลอดเลือดที่คาดว่าผิดปกติ
  3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อวินิจฉัยและหาตำแหน่งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, การตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress test) เพื่อตรวจหาการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
  4. การฉีดสารทึบแสงพร้อมการเอ็กซเรย์ (Angiogram) เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือด

 

การรักษา

ภายหลังการวินิจฉัย รู้ตำแหน่งของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ภาวะของโรคร่วมหรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงแล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษาตามแนวทาง

  1. การรักษา/ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ ทั้งในรูปแบบของ
    • การใช้ยา ซึ่งมียาหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ยาลดไขมัน ซึ่งยาที่มีหลักฐานชัดเจนส่วนใหญ่ คือ ยากลุ่มสแตติน (Statin) นอกจากนี้อาจจะใช้ยากลุ่มอื่นร่วมถ้าไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงจากยากลุ่มสแตติน (Statin) ยาลดความดันโลหิต กลุ่มเอจอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) กลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) และกลุ่มอื่น ๆ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต เป็นต้น ยาลดระดับน้ำตาลในผู้เป็นเบาหวาน อาจจะพิจารณายากลุ่มเอส จี แอล ที ทู อินฮิบิเตอร์ (SGLT2 inhibitor) หรือ จีแอลพีวัน รีเซ็บเตอร์อโกนิส (GLP-1RA) หรือ เม็ทฟอร์มิน (Metformin) หรือ ไพโอกลิททาโซน (Pioglitazone)
    • การไม่ใช้ยา มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การควบคุมอาหาร กินให้ถูกโภชนาการ เน้นอาหารสุขภาพ เช่น ปลา ผัก ข้าวกล้อง ผลไม้ไม่หวานจัด การเพิ่มการออกกำลังกายตามสุขภาพร่างกายและอายุ งดบุหรี่รวมถึงหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง แอลกอฮอล์ การพักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกปล่อยวาง เป็นต้น
  2. การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยยาป้องกันเกาะกันของเกล็ดเลือด (Antiplatelet) เช่น แอสไพริน (Aspirin), โคพิโดรเกล (Clopidrogel) หรือ ยาอื่นๆ หรือการใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาลิน (Warfarin) ในกรณีที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดร่วมด้วย แต่ในกรณีที่หลอดเลือดแดงตีบเฉียบพลันพิจารณายาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic)
  3. การขยายหลอดเลือด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำบอลลูน (Balloon) การใช้ลวดตาข่าย (Stent) ถ่างหลอดเลือด
  4. การผ่าตัดทำบายพาส (Artery bypass grafting) เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดแดงที่หัวใจโดยการนำหลอดเลือดดำที่ขามาเชื่อมหลอดเลือดแดงเข้าด้วยกันเพื่อสร้างทางเบี่ยงข้ามบริเวณที่หลอดเลือดตีบตัน ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างปกติ ลดอาการเจ็บหน้าอก และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด

ซึ่งจะเลือกวิธีการใด ขึ้นกับว่าเป็นหลอดเลือดของอวัยวะใด การตีบตันเกิดในตำแหน่งใดของหลอดเลือด อายุ สุขภาพร่างกายผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  • ผู้ป่วยต้องปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพและบางรายซึ่งส่วนใหญ่อาจจะต้องใช้ยาควบคุมเพื่อชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ทั้งนี้หากพบอาการที่ผิดปกติเพิ่มเติม ให้ปรึกษาแพทย์ทันที
  • ผู้ที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคนี้ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุทันที แม้ว่าอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ แต่ผู้ป่วยยังคงมีความเสี่ยงในการที่อาการดังกล่าวจะกลับมา และส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ มากกว่าเดิม
  • บุคคลทั่วไป สามารถป้องกันและชะลอภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ได้โดย
    • การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยควรงดสูบบุหรี่ งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
    • การควบคุมอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการทานอาหารในทุกมื้อ ไม่ควรทานในปริมาณมากหรือตามใจปาก โดยมีมื้อหลักไม่เกิน 3 มื้อ มื้อเช้าสำคัญอย่าขาด มื้อเย็นควรให้น้อยที่สุด เพราะเป็นช่วงก่อนเข้านอน ในแต่ละมื้อเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูง เช่น ของมัน ของทอด เนื้อติดมัน และอาหารที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือนมไขมันต่ำแทนน้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • การออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้งขึ้นไป โดยเลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
    • การควบคุมน้ำหนัก ควรให้ความสำคัญกับปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ต่อวัน เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ไม่ให้น้ำหนักตัวเกินหรือมีภาวะอ้วน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการนำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้
    • รักษา/ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน ให้ได้ตามเป้าหมาย
    • ตรวจสุขภาพเพื่อดูการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และการทำงานของไต เพื่อคัดกรองความผิดปกติต่าง ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค

 

แหล่งข้อมูล

  1. en.wikipedia.org/wiki/Atherosclerosis
  2. www.mayoclinic.org
  3. www.honestdocs.co/atherosclerosis-cur
  4. https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk/thai_cv_risk_score/

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก