ลักษณะและประโยชน์ในการใช้งาน
ความดันโลหิต (Blood pressure) เป็นหนึ่งในสัญญาณชีพ (Vital sign) หลักของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย 4 อาการแสดง คือ ชีพจร (Pulse) อัตราการหายใจ (Respiratory rate) อุณหภูมิร่างกาย (Body temperature) และความดันโลหิต (Blood pressure) โดย 3 ใน 4 อาการ มนุษย์สามารถวัดอย่างหยาบๆได้เอง ยกเว้นความดันโลหิตที่ต้องใช้เครื่องวัด และความดันโลหิตที่ผิดปกติ นำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ผู้เจ็บป่วยอาจไม่รู้ หลายๆครอบครัวจึงมีเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ที่บ้าน อย่างไรก็ตามเครื่องวัดความดันโลหิต มีหลายแบบหลายราคา การเลือกซื้อจึงต้องมีหลักการที่ถูกต้อง
ข้อมูลที่ควรเตรียมก่อนการเลือกซื้อ
- จำนวนผู้ใช้งาน ผู้ซื้อต้องสำรวจการใช้งาน ทั้งนี้เครื่องบางรุ่นระบบและแหล่งพลังงานถูกผลิตเพื่อใช้กันในศูนย์ ในคลินิก บางรุ่นเหมาะกับครอบครัวใหญ่ ในขณะที่บางรุ่นเหมาะสำหรับกับการใช้งานส่วนตัวเป็นหลัก
- ต้องการฟังก์ชั่นพิเศษใดหรือไม่ ในปัจจุบันข้อมูลทางด้านสุขภาพ สามารถแสดงผลที่สมาร์ทโฟน ผ่านแอพพลิเคชั่นของผลิตภัณฑ์ได้ ผู้ซื้อควรศึกษาพฤติกรรมในการใช้งาน และพูดคุยกับผู้ขายในการเลือกผลิตภัณฑ์ เช่น ต้องการการแสดงผลต่อเนื่องเป็นกราฟ ต้องการดูผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน ต้องการแสดงผลเป็นค่าเฉลี่ย ป้องกันการกระแทก กันน้ำ ระบบหยุดขณะเคลื่อนไหว เป็นต้น
- งบประมาณ เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันเครื่องวัดความดันโลหิต มีหลายแบรนด์ หลายรุ่น ราคาตั้งแต่หลักร้อย จนถึงหลักหมื่น การเลือกผลิตภัณฑ์ควรอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับงบประมาณ อย่างไรก็ตามการเลือกเครื่องราคาถูก โดยไม่มีมาตรฐานการวัดที่ถูกต้อง อาจทำให้ค่าคลาดเคลื่อน ก่อให้เกิดปัญหาในการใช้งานและสุขภาพของผู้ซื้อได้
คุณสมบัติที่ควรสอบถามจากผู้ขาย
หลังจากที่คุณบอกข้อมูลที่เตรียมมากับผู้ขายครบถ้วนแล้ว ผู้ขายมักจะแนะนำคุณไปยังแบรนด์และรุ่นที่ผู้ขายแนะนำ สิ่งที่คุณควรสอบถามคือ
- เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบจุดเด่นของเครื่องวัดความดันโลหิตที่ผู้ขายแนะนำ เช่น ฟังก์ชั่นหรือคุณสมบัติพิเศษตรงกับสิ่งที่ผู้ซื้อต้องการหรือไม่ และเทคโนโลยีหรือฟังก์ชั่นนั้นได้รับการรับรองจากหน่วยงานทางด้านมาตรฐานหรือไม่ ตัวอย่างมาตรฐานการรับรองที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน เช่น เครื่องหมาย CE (European Conformity: CE) เครื่องหมาย UL (Underwriters’ Laboratories :UL) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือนั้นได้รับการออกแบบและผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป หรือเครื่องหมาย มอก. ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศไทย เป็นต้น
- วัสดุหลัก และการรับประกัน ผู้ซื้อควรสอบถามถึงอายุงานของวัสดุหลัก และการรับประกันว่าคลอบคลุมส่วนใดบ้าง เงื่อนไขเป็นอย่างไร ส่งศูนย์ ห้างหรือร้าน ระยะเวลาในการซ่อมหรือรออะไหล่ เป็นต้น
- ราคา สอบถามราคา ส่วนลด ส่วนแถม เงื่อนไขการจ่ายต่างๆ
- คู่เทียบ เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ แนะนำให้คุณให้ผู้ขายแนะนำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติและระดับราคาใกล้เคียงกัน เปรียบเทียบ 2 – 3 รุ่น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เดียวกันหรือคนละแบรนด์ ถึงขั้นตอนนี้ มั่นใจว่าผู้ซื้อจะได้ข้อมูลจากผู้ขายเพิ่มเติมในอีกหลายเรื่อง
ข้อมูลเพิ่มเติม
คำแนะนำในการใช้เครื่องวัดความดันโลหิต
- ไม่ควรวัดความดันทันทีหลังอาหารมื้อหลัก ควรห่างอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
- ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่หรือเครื่องก่อนทำการวัด
- ไม่ควรวัดขณะที่ร่างกายเหนื่อย หมดแรง อ่อนเพลีย หรือมีอารมณ์เครียด
- ถ้าใช้เครื่องวัดความดันที่ต้นแขน ให้วัดในท่านั่ง วางแขน และข้อศอกบนโต๊ะ จัดระดับให้ผ้าพันต้นแขน หรือผ้าพันข้อมืออยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
- ถ้าใช้เครื่องวัดความดันที่ข้อมือ ให้วัดในท่านั่ง วางข้อมือให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
สนใจเลือกซื้อเครื่องวัดความดันโลหิต คลิก