การเกิดมามีครบ 32 ประการ ถือว่ามีต้นทุนชีวิตที่ดี แต่พฤติกรรมการดำเนินชีวิตผิด ๆ หรือเรียกให้ง่ายว่านิสัยเสียบางอย่างหากไม่รีบแก้ นอกจากจะทำให้ทุนชีวิตที่ดีหดหายหรือมีสุขภาพแย่ลงแล้ว ยังต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แล้วอาจกลับมาได้ไม่เหมือนเดิม ขอเชิญชวนเพื่อน ๆ ปรับแก้นิสัยเสียหลัก ๆ ที่อาจทำให้สุขภาพแย่ ตามเรื่องนี้ได้เลยค่ะ
หยุดทำร้ายร่างกายโดยไม่รู้ตัว
พฤติกรรมหลายอย่างในการดำเนินชีวิตทำร้ายร่างกายโดยไม่รู้ตัว เพื่อนหลายคนอาจคิดว่าร่างกายยังสบายดีอยู่ เช่น ดื่มน้ำเฉพาะเมื่อรู้สึกกระหาย โดยไม่ได้คิดว่าร่างกายต้องการน้ำอย่างต่ำวันละหลายลิตร หรือการนอนวันละ 5 – 6 ชั่วโมง เมื่อตื่นเช้ารู้สึกสมองช้า ไม่ตื่นตัว ก็ดื่มกาแฟเข้าไปกระตุ้นเพื่อให้รู้สึกไม่ง่วง หรือการไม่กินอาหารเช้า แล้วไปกินเพิ่มในมื้ออื่น ๆ ทั้งที่ร่างกายต้องการอาหารเช้าจากการที่ไม่ได้ทานอาหารมาเป็นเวลาเกือบ 8 ชั่วโมง หรือแม้กระทั่งการไม่ออกกำลังกายเพราะคิดว่า ระหว่างการทำงานมีการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ร่างกายต้องการการออกกำลังที่มีความหนักและยาวนานเพียงพอ เพื่อพัฒนาการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย การมีพฤติกรรมไม่ดีหรือนิสัยเสียบางอย่าง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากไม่ได้รับการแก้ไข มาดูว่านิสัยเสียต่อสุขภาพหลัก ๆ มีอะไรบ้าง
7 นิสัยเสียหลัก ๆ ที่อาจทำให้ทุกคนมีสุขภาพแย่ลง
- นิสัยเสียที่ 1 ไม่ให้ความสำคัญกับการกินให้ถูกโภชนาการ เมื่อพูดถึงการกินหลาย ๆ คนมักจะนึกถึงสถานที่กิน อาหาร ของกินอร่อย ๆ เมนูขึ้นชื่อ โดยละเลยเรื่องของโภชนาการที่ถูกต้องไป นำไปสู่การมีสุขภาพที่แย่ มีสำนวนที่กล่าวว่า “You are what you eat” หรือ “กินอย่างไร ร่างกายก็เป็นอย่างนั้น” เป็นสิ่งที่จริง ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ใครที่ชอบกินข้าว แป้งหรือกับข้าวที่มีมันมาก ๆ ในแต่ละมื้อ อาหารเหล่านั้นจะมีคาร์โบไฮเดรตและไขมันซึ่งให้พลังงานสูง และยิ่งบางคนไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ร่างกายใช้พลังงานน้อยกว่าที่ได้รับจากอาหาร ก็จะสะสมในรูปของไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นานไปเข้าสู่ภาวะอ้วน ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกหลายโรค
.
ปัจจุบันกองโภชนาการ กรมอนามัย ได้ออกข้อปฏิบัติในการกินเพื่อสุขภาพดีหรือธงโภชนาการ เน้นให้แต่ละมื้อควรมีอาหารหลักครบ 5 หมู่ ไม่กินเมนูเดิม ๆ ซ้ำซากจำเจ และที่สำคัญกินอาหารแต่ละหมู่ให้ถูกสัดส่วน ในเบื้องต้นเรียงจากมากไปน้อยจะเป็นข้าวขัดสีน้อยสลับกับแป้ง ต่อด้วยผักและผลไม้ ต่อด้วย เนื้อสัตว์ ปลา ถั่ว ไข่ นม ส่วนน้ำมัน น้ำตาล เกลือ กินให้น้อยสุดเฉพาะที่จำเป็น
.
หรือหากใช้หลักการแบ่งสัดส่วนอาหารในแต่ละมื้อเพื่อสุขภาพ ก็สามารถใช้สัดส่วนง่าย ๆ คือ 2:1:1 โดย เป็นผักและผลไม้ 2 ส่วน ข้าว แป้ง ธัญพืช 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเหลือง ไข่ เต้าหู้ นม รวม 1 ส่วน และลดในแต่ละมื้อ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เป็นต้น
.
แนะนำอ่าน 6 ข้อต้องรู้สำหรับการกินเพื่อสุขภาพ, ทบทวนอาหารหลัก 5 หมู่ เรื่องใกล้ตัวไม่ควรลืม
. - นิสัยเสียที่ 2 ไม่ดื่มน้ำหรือดื่มน้ำน้อย ร่างกายคนเราประกอบไปด้วยน้ำราว 60 – 70% ของน้ำหนักตัว โดยอยู่ทั้งในระบบไหลเวียนโลหิต และเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ น้ำมีหลายหน้าที่ ทั้งการเป็นส่วนประกอบ ควบคุมอุณหภูมิ ช่วยขับถ่ายของเสีย และอื่น ๆ การขาดน้ำจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะมีอาการจากน้อยไปหามาก ตั้งแต่ปากแห้ง คอแห้ง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไปจนถึงปัสสาวะน้อย ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น นาน ๆ เข้าจะส่งผลให้สุขภาพแย่ลง
.
โดยเฉลี่ยผู้ชายน้ำหนักตัวมาตรฐานควรได้รับน้ำ 3 – 4 ลิตร และผู้หญิง 2 – 3 ลิตรต่อวัน (ข้อมูลจาก NAS และ IOM) ดังนั้นควรสร้างนิสัยดื่มน้ำหลังตื่นนอน ก่อนนอน และดื่มเล็กน้อยเป็นระยะระหว่างวันให้สอดคล้องกับเพศ วัยและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน
.
แนะนำอ่าน เปลี่ยนชีวิตให้สดใส ด้วยการดื่มน้ำ, น้ำบางเรื่องที่คุณอาจไม่รู้
. - นิสัยเสียที่ 3 ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การออกกำลังกายมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งการช่วยลดน้ำหนัก การลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ คุมน้ำตาลในเลือด ร่างกายแข็งแรง ป่วยยาก ในทางตรงข้ามหากขาดการออกกำลังกายร่างกายจะอ่อนแอ ไม่แข็งแรง ยิ่งมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือนิสัยเสียด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
.
ดังนั้น ใน 1 สัปดาห์ ควรมีการออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิก แบบเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แบบเพิ่มความยืดหยุ่นและความอ่อนตัว อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงขึ้นไป
.
แนะนำอ่าน ออกกำลังกายให้ดี ไม่รู้เรื่องต่อไปนี้ไม่ได้เลย, ตอบข้อสงสัยการออกกำลังกาย ตอน 1, ตอบข้อสงสัยการออกกำลังกาย ตอน 2, ตอบข้อสงสัยการออกกำลังกาย ตอน 3, ไขมันในเลือดผิดปกติ
. - นิสัยเสียที่ 4 นอนหลับน้อยกว่า 7 – 8 ชั่วโมงเป็นประจำ โดยร่างกายจะใช้เวลาในช่วงการนอนหลับ เพื่อให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ได้พัก ลดการทำงานเหลือไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็น ในช่วงเวลาดังกล่าวร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนเพื่อช่วยในการซ่อมแทรมส่วนที่สึกหรอ รวมถึงการจัดระเบียบข้อมูลต่าง ๆ ในสมองด้วย หากนอนไม่พอจะทำให้สมาธิน้อย ความคิดช้า ความจำสั้น ภูมิคุ้มกันร่างกายและความต้องการทางเพศต่ำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า สุขภาพจะค่อย ๆแย่ลง
.
ทั้งนี้แนะนำให้เพื่อน ๆ นอนคืนละ 7 – 8 ชั่วโมง และควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม โดยวงจรการนอนหลับจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้น
.
แนะนำอ่าน ความรู้เรื่องการนอนหลับ, ถึงคราวต้องนอนก่อน 4 ทุ่ม, ทำไมอายุมาก การนอนหลับจึงยากขึ้น
.
- นิสัยเสียที่ 5 ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป น้ำหนักตัวเป็นดัชนีวัดด้านสุขภาพที่สำคัญ โดยผู้ที่มีน้ำหนักตัวเหมาะสมกับวัย และได้สัดส่วนกับความสูงของตนเอง จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากโรค และมีชีวิตยืนยาว การมีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป จะนำไปสู่โรคหรือปัญหาสุขภาพได้ เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคข้อเข่าเสื่อม โรคความดันโลหิตสูงและอื่น ๆ เบื้องต้นเพื่อนๆสามารถดูน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับส่วนสูงได้จากการคำณวนค่า BMI โดยค่า BMI มากกว่า 25 ถือเป็นโรคอ้วนขั้นที่ 1 และกรณีค่า BMI น้อยกว่า 18.5 ถือเป็นผอมมาก เสี่ยงต่อการที่ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย เป็นต้น
.
แนะนำอ่าน โรคอ้วน, โรคความดันโลหิตสูง
. - นิสัยเสียที่ 6 สูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือน้ำอัดลม สำหรับการดื่มสุรา พบว่าผู้ที่ติดสุราหนักจะมีอายุสั้นกว่าบุคคลทั่วไประหว่าง 10 – 14 ปี และยังเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคนอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ซึมเศร้า สมองพิการ มะเร็งตับ และโรคเรื้อรังอื่น ๆ รวมถึงอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับสำหรับการสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าควันบุหรี่เต็มไปด้วยนิโคติน สารเคมี สารพิษรวมถึงสารก่อมะเร็งจำนวนมาก ผู้สูบจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ-แตก-ตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดบวม โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคมะเร็งปอด
.
สำหรับการดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า การดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลปริมาณมากสัมพันธ์กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อโรคอ้วน ภาวะอ้วนลงพุง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน รวมถึงฟันผุ
.
ดังนั้น ในเบื้องต้นควรลดหรืองดการสูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ รวมถึงการดื่มน้ำอัดลม เพื่อลดผลเสียต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ
.
แนะนำอ่าน วิธีบำบัดอาการซึมเศร้า ควบคู่การรักษา, โรคอ้วน, โรคเบาหวาน, กระดูกพรุน
.
- มองโลกในแง่ลบ ไม่มีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี การมองแบบแง่ลบที่จะเป็นการสร้างความกดดันเพิ่มมากกว่าความเป็นจริงให้กับตัวเอง เป็นต้นเหตุให้เกิดการวิตกกังวล เครียดสะสม ร่างกายเกร็ง กล้ามเนื้อไม่ผ่อนคลาย นอนหลับยาก ภูมิคุ้มกันลด ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย
.
การฝึกการมองโลกในแง่บวกหรืออย่างน้อยมองตามความเป็นจริง ไม่สร้างความกดดันเพิ่มขึ้นให้กับตัวเอง เป็นสิ่งดีต่อสุขภาพ โดยการมองเรื่องที่ไม่ว่าจะดีหรือร้ายในด้านบวก เป็นการสร้างแรงผลักดัน กระตุ้นให้มีพลังกายพลังใจ ในการเอาชนะอุปสรรคไปได้แบบไม่เครียด ไม่วิตกกังวลจนเกินไป และสามารถเสริมสร้างความมั่นคงของจิตใจเพิ่มมากขึ้น
.
แนะนำอ่าน ปรับตัวปรับใจ ก่อนหรือหลังวัยเกษียณ, ยังหน้าไม่แก่ ถูกเรียกลุงป้า คิดบวกอย่างไร
ปรับแก้พฤติกรรมหรือนิสัยเสีย ให้เป็นของขวัญดี ๆ ให้กับร่างกาย
เพื่อน ๆ บางคนอาจจะมีนิสัยเสียข้อใดข้อหนึ่งอยู่ โดยคิดว่าสุขภาพยังดีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่นิสัยเสียเหล่านี้หากทำจนติดเป็นนิสัย ผลเสียไม่ได้มีให้เห็นวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า หรือปีหน้า แต่ผลเสียจะมาในรูปของอาการป่วย โรคเรื้อรังต่าง ๆ เมื่อเวลาผ่านไปตามอายุที่มากขึ้น และเมื่อมีอาการหรือเป็นโรคร้ายแล้ว การรักษามีค่าใช้จ่ายสูง ไม่นับผลกระทบในด้านอื่น ๆ ที่จะตามมาทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลง ดังนั้นการปรับแก้พฤติกรรมหรือนิสัยเสีย ให้เป็นของขวัญดีๆให้กับร่างกายจึงเป็นสิ่งที่น่าทำอย่างยิ่ง
แหล่งข้อมูล: www.health2click.com