หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า การออกกำลังกายช่วงเช้าหรือเย็นดีกว่ากัน แต่ก่อนที่จะดูเรื่องเวลา ในเบื้องต้นมีข้อมูลที่ยืนยันแล้วว่าการออกกำลังกายที่เหมาะสม ร่วมกับการเลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ มีประโยชน์สำหรับทุกคนแน่ ๆ ส่วนเรื่องเวลาที่เหมาะสำหรับการออกกำลังกาย มีดังนี้
ออกกำลังกายทุกช่วงเวลา มีข้อดีข้อเสียต่างกัน
การออกกำลังกายไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาไหน ล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป โดยหากออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ผลลัพธ์ในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะเรื่องของการลดน้ำหนัก พบว่าไม่แตกต่างกันเท่าไร เพื่อให้เนื้อหาสั้นกระชับ ขอเลือกเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย เฉพาะการออกกำลังกายช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งเพื่อนส่วนใหญ่ มักจะออกกำลังกายในช่วงเวลาดังกล่าว
การออกกำลังกายช่วงเช้า
ข้อดี
- สามารถวางแผนและทำต่อเนื่องได้ง่ายกว่าการออกกำลังกายช่วงเย็น
- ได้รับอากาศบริสุทธิ์ ฝุ่นควันน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น ๆ ของวัน รวมถึงการได้รับวิตามินจากแสงแดดในช่วงเช้าอีกด้วย
- สามารถกระตุ้นระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ให้มีการตื่นตัว เตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในวันนั้น
- มีสมาธิจดจ่อกับการออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ ได้ดี เนื่องจากเพิ่งพักผ่อนมาอย่างเต็มที่จากการนอน
- มีงานวิจัยที่บอกว่า มีแนวโน้มทานอาหารมื้อเช้าได้น้อยกว่าปกติ อีกทั้งสามารถดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานได้มาก ส่งผลให้ลดน้ำหนักได้ดี
ข้อเสีย
- อาจต้องใช้เวลาวอร์มนาน เนื่องจากร่างกายมีอุณหภูมิต่ำ หลังจากตื่นจากการนอนหลับ ระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบไหลเวียนโลหิต ยังทำงานไม่เต็มที่
- ต่อเนื่องจากข้อแรก หากวอร์มไม่พอหรือออกกำลังกายหนัก จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูง
- หากนอนพักผ่อนไม่พอ การตื่นมาออกกำลังกายในตอนเช้า อาจทำให้อ่อนเพลียทั้งวัน อ่านเพิ่มเติม นอนหลับไม่พอ ควรออกกำลังกายไหม
- หากท้องว่าง จะมีการกระตุ้นให้ตับทำงานเพิ่มขึ้น อาจส่งผลเสียต่อการทำงานของตับได้
เทคนิคการออกกำลังกายช่วงเช้า
ควรรับประทานอาหารลองท้องก่อนออกกำลังกายสักระยะ เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอ และควรอบอุ่นร่างกายให้นานกว่าการออกกำลังกายในช่วงเวลาอื่น ๆ อย่างน้อย 15 – 20 นาที โดยการออกกำลังกายควรเน้นเบาไปหาหนัก เพื่อให้ร่างกายปรับตัว หากรู้สึกง่วง อ่อนเพลีย ควรพักผ่อนให้เต็มที่ เพราะการออกกำลังกายจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร อ่านเพิ่มเติม หัวใจของการออกกำลังกาย
แนะนำอ่าน ตอบข้อสงสัยเรื่องการออกกำลังกาย ตอน 1, ตอน 2, ตอน 3
การออกกำลังกายช่วงเย็น
ข้อดี
- ใช้เวลาวอร์มสั้นกว่าช่วงเช้า เนื่องจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า ระบบต่างๆของร่างกายผ่านการทำงานมาตลอดวัน อ่านเพิ่มเติม ตอบข้อสงสัย เรื่องออกกำลังกาย ตอน 2
- มีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่ำ หากเลือกออกกำลังกายที่สอดคล้องกับสมรรถภาพของร่างกาย อ่านเพิ่มเติม บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ทำไงดี
- มีแนวโน้มออกกำลังกายได้เต็มที่ เนื่องจากความพร้อมของร่างกาย และมีพลังงานเพียงพอจากการทานอาหารในระหว่างวัน ออกกำลังกาย ร่างกายใช้พลังงานอย่างไร
- เช่นเดียวกับช่วงเช้า การออกกำลังกายช่วงเย็น มีแนวโน้มให้การทานอาหารมื้อเย็นน้อยกว่าปกติ ช่วยลดน้ำหนักได้ดี
- หากมีเวลาพักหลังออกกำลังกายเพียงพอ จะทำให้การนอนหลับในตอนกลางคืนดียิ่งขึ้น
- ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน ทำให้ร่างกายสดชื่น
ข้อเสีย
- หากเว้นช่วงห่างจากการนอนไม่พอ ร่างกายยังคงตื่นตัวอยู่ จะทำให้นอนหลับยาก
- ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ช้า เนื่องจากมีสารอาหารให้พลังงานอื่น ๆ จากการรับประทานอาหารก่อนหน้า อ่านเพิ่มเติม ออกกำลังกาย ร่างกายใช้พลังงานอย่างไร
- อาจพบความลำบาก หากต้องการให้ออกกำลังกายหนักหน่วงสม่ำเสมอ เนื่องจากความพร้อมหลังเลิกงานเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน
เทคนิคการออกกำลังกายช่วงเย็น
ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนออกกำลังกาย หากจำเป็นควรเลือกกินผลไม้ที่ให้พลังงานแทน ปรับความหนักเบาของการออกกำลังกายตามสภาพความพร้อมในแต่ละวัน โดยหากออกกำลังกายที่หนักเพียงพอ จะมีแนวโน้มการทานมื้อเย็นได้น้อยลง อย่าลืมเว้นระยะห่างจากการนอนให้ได้อย่างน้อย 3 – 4 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงการนอนไม่หลับ
แนะนำอ่าน ตอบข้อสงสัยเรื่องการออกกำลังกาย ตอน 1, ตอน 2, ตอน 3
สรุปแล้ว ควรออกกำลังกายช่วงเวลาไหนดี
ออกกำลังกายช่วงเวลาที่ตนเองสะดวก ไม่ว่าจะช่วงเช้าหรือเย็น โดยเลือกช่วงเวลาที่สามารถออกได้เป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งในสัปดาห์ โดยปรับรูปแบบและความหนักเบา ความถี่ในการออกกำลังกายตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
แนะนำอ่าน ออกกำลังกายให้ดี ไม่รู้เรื่องต่อไปนี้ไม่ได้เลย
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com