Health4senior

หย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย

อาการนกเขาไม่ขันหรืออาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย (Erectile Dysfunction หรือ Impotence) คือภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวจนสามารถร่วมเพศได้ ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่การไม่สามารถร่วมเพศได้เป็นบางครั้ง ถึงไม่สามารถร่วมเพศได้เลย โดยมีการสำรวจพบอาการนี้ในชายอายุ 40-49 อายุ 50-59 อายุ 60-70 ปี ร้อยละ 20.4, 46.3, และ 73.4 ตามลำดับ ทั้งนี้มีสาเหตุได้จากสภาพร่างกาย เช่น ป่วยด้วยโรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไขมัน ความดันโลหิตสูง และสภาพจิตใจ เช่น วิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า เครียด มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคู่ เป็นต้น

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย
อาการของนกเขาไม่ขันหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดขึ้นเมื่ออวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวหรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์จนสำเร็จ โดยอาจจัดระดับอาการเป็น ระดับรุนแรงน้อยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จเกือบทุกครั้ง ระดับรุนแรงปานกลางสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และระดับรุนแรงมากไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จเลย ทั้งนี้อาจเกิดร่วมกับอาการบกพร่องทางเพศอื่น ๆ ด้วยได้ เช่น มีความต้องการทางเพศลดลง มีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ เป็นต้น

 

เมื่อไหร่จึงควรมาพบแพทย์

  • อวัยวะเพศชายแข็งตัวไม่เต็มที่ติดต่อกันนานกว่า 2-3 สัปดาห์ และมีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์
  • มีอาการบกพร่องทางเพศอื่น เช่น มีปัญหาในการหลั่งเร็วหรือช้าเกินไปจนกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์

 

ปัจจัยเสี่ยง

  • ผู้ชายที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป
  • ผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังเกี่ยวกับหลอดเลือด ระบบประสาท และต่อมไร้ท่อ เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • ผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการผ่าตัด หรือภยันตรายต่าง ๆ เช่น การผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก หรือกระเพาะปัสสาวะ โรคของไขสันหลัง เป็นต้น
  • ผู้ที่ป่วยด้วยโรคทางจิตใจ เช่น โรคเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น

 

ภาวะแทรกซ้อน

โดยปกติแล้วภาวะนี้จะไม่มีความรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนใดๆ แต่อาจส่งผลทางด้านจิตใจและความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ เช่น หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ซึมเศร้า และอาจนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร อย่างไรก็ตามอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจเป็นอาการของโรคเรื้อรังอื่นๆที่เป็นอันตรายได้

 

สาเหตุ

สาเหตุของอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  • สาเหตุทางด้านร่างกาย ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เกิดจากการมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS) หรือโรคพาร์กินสัน เป็นต้น
    นอกจากนั้นยังเกิดได้จากผลข้างเคียงจากการรักษาโรคหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาแก้แพ้ รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าหนัก ร่างกายอ่อนล้า การติดสารเสพติด การมีอาการบาดเจ็บของอุ้งเชิงกรานหรือไขสันหลังสืบเนื่องจากผลข้างเคียงของการผ่าตัด การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต (benign prostatic hyperplasia or BPH) หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ เป็นต้น
    สำหรับผู้ที่ใช้เวลานานในการปั่นจักรยานอาจมีความเสี่ยงในการเกิดหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เพราะที่ปั่นจักรยานสามารถทำให้เส้นประสาทและเส้นเลือดที่ทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวนั้นบาดเจ็บได้
  • สาเหตุทางด้านจิตใจ สมองมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย หรือกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งภาวะทางจิตใจบางอย่างที่ไปขัดขวางหรือส่งผลด้านลบต่ออารมณ์ทางเพศ ซึ่งได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาความสัมพันธ์กับคู่

 

การวินิจฉัย

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย เช่น อาการที่สำคัญ ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว หรือยาที่ใช้อยู่ จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายพื้นฐาน และตรวจเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ ตรวจสุขภาพจิต ตรวจการแข็งตัวของอวัยวะเพศ หรืออาจส่งตัวไปให้แพทย์เฉพาะทางของโรคที่เป็นต้นเหตุ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เกิดภาวะนี้เป็นผู้ที่มีอายุและมักจะมีโรคที่เป็นต้นเหตุซ่อนอยู่

 

การรักษา

การรักษาจะแตกต่างกันตามสาเหตุ ความรุนแรงและโรคประจำตัว เช่น หากสาเหตุเกิดจากโรคทางร่างกาย แพทย์ก็จะรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศควบคู่ไปกับการรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ โดยอาจมีการตรวจและส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางโรคที่เกี่ยวข้องเป็นการเพิ่มเติม ปัจจุบันการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีหลากหลายวิธีตามความเหมาะสมและความต้องการของผู้ป่วย ดังนี้

  1. การรักษาด้วยยารับประทาน สามารถใช้ยาในกลุ่มพีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase-5 Inhibitors: PDE-5) ได้แก่ ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) ยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) โดยยาจะออกฤทธิ์ชั่วคราวในการช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตของอวัยวะเพศชาย โดยพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ใช้ยานี้มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศที่ดีขึ้น แต่ต้องมีการเล้าโลมก่อนใช้ยาจึงจะเห็นผลได้ดี อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดในการใช้ยากลุ่มนี้อยู่ จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เช่น ห้ามใช้ในผู้ที่ใช้ยากลุ่มไนเตรท (Nitrate) ห้ามใช้ร่วมกับยาไซเมทิดีน (Cimetidine) หรือการมีความเสี่ยงต่อภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism) เป็นต้น และในบางรายอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ปวดศีรษะ และไมเกรน ผิวหนังแดง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้และอาเจียน คัดจมูกหรือมีน้ำมูกไหล ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ การมองเห็นแย่ลง
  2. การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนบำบัด สำหรับผู้ที่มีสาเหตุมาจากฮอร์โมน เช่น มีระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำเกินไป แพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนในร่างกายให้กลับสู่ระดับปกติ
  3. การรักษาโดยใช้อุปกรณ์สุญญากาศหรือกระบอกสุญญากาศ โดยแพทย์อาจพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยารับประทานไม่ได้ผล อุปกรณ์มีลักษณะเป็นกระบอกกลวง มีทั้งแบบใช้ถ่านและใช้แรงมือ สามารถนำอุปกรณ์นี้สวมครอบเข้าไปที่อวัยวะเพศและปั๊มเอาอากาศออกมา จะทำให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงอวัยวะเพศและทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวนานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้
  4. การผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศเทียม วิธีนี้จะเป็นวิธีสุดท้ายเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง นอกจากนั้น แกนอวัยวะเพศเทียมยังมีราคาแพงมากและต้องเป็นศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะบางรายเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้
  5. การรักษาทางจิตใจซึ่งมีหลายวิธี เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การฝึก “Sensate Focus” เรียนรู้การกระตุ้นอารมณ์จากการสัมผัส การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล การบำบัดด้วยการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT)

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารไขมันสูง
  2. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
  3. ฝึกดูแลจิตใจให้สงบ มั่นคง ไม่เครียด ไม่วิตกกังวลจนส่งผลต่อสุขภาพ หากมีปัญหาจิตใจควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษา อย่าปล่อยไว้
  4. หากมีโรคประจำตัวที่เป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับหลอดเลือด ระบบประสาท และต่อมไร้ท่อ เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน ให้รีบรักษา โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ส่งผลต่อสุขภาพน้อยที่สุด

 

แหล่งข้อมูล
1. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/erectile-dysfunction/symptoms-causes/syc-20355776
2. www.si.mahidol.ac.th/เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ 1-2
3. www.pobpad.com

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก