บุหรี่ มีสารพิษต่าง ๆ หลายชนิด แต่สารสำคัญที่ทำให้เกิดการเสพติดคือ นิโคติน เป็นสารที่มีลักษณะคล้ายน้ำมัน ไม่มีสีร้อยละ 95 ของนิโคตินที่เข้าสู่ร่างกายจะไปจับอยู่ที่ปอด บางส่วนจับอยู่ที่เยื่อหุ้มริมฝีปาก และบางส่วนถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด มีผลโดยตรงต่อต่อมหมวกไต ก่อให้เกิดการหลั่งสารอิพิเนฟริน (Epinephrine) ทำให้ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดรัดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด เป็นต้น
เมื่อหยุดสูบบุหรี่จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดนิโคตินในร่างกาย หรือที่เรียกว่า ภาวะขาดนิโคติน จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว บางคนอาจเกิดขึ้นในช่วง 2 – 3 วันแรกเท่านั้น และเมื่อผ่านพ้นระยะนี้แล้ว หากมีความอยากสูบบุหรี่อีกต่อไป นั่นเป็นเพียงความต้องการทางอารมณ์หรือความเคยชินเท่านั้น ภาวะขาดนิโคติน มีอาการดังนี้ โหยหา อยากสูบบุหรี่ หงุดหงิด กระวนกระวาย ใจสั่น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ง่วงนอน เซื่องซึม สมองตื้อ ซึมเศร้า ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ กระเพาะอาหารและลำไส้แปรปรวน
ยาที่ช่วยเลิกสูบบุหรี่มีหลายอย่างด้วยกันคือ
- น้ำยาอดบุหรี่ (Mouth wash) มีส่วนผสมของ Sodium Nitrate โดยจะทำปฏิกิริยากับต่อมรับรสในปาก ทำให้สูบบุหรี่ไม่อร่อย เสียรสชาติ จึงทำให้เกิดการเบื่อบุหรี่ วิธีใช้ ใช้อมประมาณ 1 – 2 นาที แล้วบ้วนทิ้ง อย่ากลืนเพราะจะทำให้คลื่นไส้อาเจียน
- โคลนิดีน (Clonidine) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ ที่สำคัญคือ มีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำ ปัจจุบันไม่นิยมนำมาใช้กับผู้ต้องการเลิกบุหรี่
- สมุนไพร สมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้เกิดการเบื่อบุหรี่ เช่น หญ้าดอกขาว ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีขึ้นกระจายทั่วไปตามที่รกร้างข้างทาง ทุกภาคของประเทศไทย ใช้ทั้งต้นต้มรับประทานแก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ใบสดตำให้ละเอียดปิดสมานแผล ทำให้เย็นหรือผสมกับน้ำนม คนกรองเอาแต่น้ำ หยอดตา แก้ตาแดง ตาฝ้า ตาเปียก ตาแฉะ แต่ในปัจจุบันนำมาใช้กับผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ เพราะผลข้างเคียงของสมุนไพรหญ้าดอกขาวจะทำให้ช่องปากจืดรับรสได้น้อยลง และเบื่อบุหรี่ วิธีใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาว ใช้ทุกส่วนของลำต้นโดยผ่านกระบวนการผลิต สามารถนำมาชงแทรกชาดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เป็นเวลา 10 – 15 วัน จะช่วยลดอาการหงุดหงิดจากการเปรี้ยวปากอยากสูบบุหรี่ได้
ภาพประกอบจาก : en.wikipedia.org