ท่ามกลางวัฒนธรรมการดื่มชาอันเก่าแก่ หนึ่งในชาที่ถูกยกย่องในเรื่องของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็คือ “ชาเขียว” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มความนิยมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเรามักจะเห็นชาชนิดนี้เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทต่าง ๆ รวมไปจนถึงงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับชาเขียวมากมาย
ชา = ศาสตร์การเยียวยาโบราณ
“ชา” ถูกใช้ทางการแพทย์เป็นครั้งแรกในกลุ่มชาวมณฑลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว หรือราว 1,100-200 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับช่วงราชวงศ์ถัง พวกเขาเชื่อว่าการดื่มชาสามารถช่วยรักษาความสมดุลในร่างกาย ความนิยมนี้ก่อให้เกิดธุรกิจการค้าใบชาขนาดใหญ่ในประเทศจีนยุคนั้น กระทั่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และ “ชาเขียว” ก็เป็นหนึ่งในประเภทของชาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
“ชาเขียว” คือใบชาที่ไม่ผ่านขั้นตอนการหมัก เป็นใบสดที่เข้าสู่กระบวนการอบแห้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สามารถเก็บได้จากต้นชาที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis ทำให้รสสัมผัสที่ได้จากเครื่องดื่มชาประเภทนี้มีความหอม สดชื่น และยังมีสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าใบชาประเภทอื่น ๆ อาทิ วิตามินบี, วิตามิอี, วิตามินซี, Polyphenol, EGCG, Catechin รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่างชนิดอีกมากมาย
หากพิจารณาเฉพาะสรรพคุณในการเยียวยาโดยแพทย์แผนโบราณ จะพบว่าชาเขียวนั้น ไม่ว่าจะเป็แบบใบชา หรือแบบผงมัทฉะ ล้วนส่งผลดีต่อการบรรเทาอาการปวดศีรษะ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคสมอง นอกจากนั้นยังแก้ร้อนใน ปรับสมดุลในร่างกาย ขับเหงื่อ และช่วยกระตุ้นความเจริญอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ชักนำให้ชาเขียวกลายเป็นหัวข้อที่น่าสนใจจากการวิจัยเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกหลายท่าน
ชาเขียวและประโยชน์ทางการแพทย์ยุคปัจจุบัน
- ชาเขียวลดคอเลสเตอรอล
จากผลการวิจัยตีพิมพ์เมื่อปี 2011 พบว่าการดื่มชาเขียวทั้งในรูปแบบเครื่องดื่มหรือการรับประทานในรูปแบบแคปซูลสกัด ล้วนส่งผลต่อการลดระดับ LDL หรือคอเลสเตอรอลประเภทไม่ดีในร่างกาย จึงเหมาะกับผู้ที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนัก หรือต้องการรักษาความสมดุลร่างกายโดยรวม - ชาเขียวลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
จากผลการวิจัยตีพิมพ์ใน “Journal of the American Medical Association” เมื่อปี 2006 พบว่าการดื่มชาเขียวลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยคาเตชิน (Catechin) เป็นสารที่มีผลต่อการป้องกันความผิดปกติในระบบหัวใจและหลอดเลือด - ชาเขียวลดความเสี่ยงเส้นโลหิตแตกเฉียบพลัน
จากผลการวิจัยตีพิมพ์ใน “Journal of the American Heart Association” พบว่าการดื่มชาเขียวมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน โดยเจ้าของงานวิจัยนี้คือ รศ.ดร. โยชิฮิโกะ โคคุโบะ ได้กล่าวแนะนำว่า อย่างน้อยควรดื่มชาเขียวทุกวัน ในเวลาของมื้ออาหารใดก็ได้ - ชาเขียวกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
มีงานวิจัยทางคลินิก พบว่าชาเขียวส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วยเช่นกัน เนื่องจากในกลุ่มผู้ทดลองทั้งมนุษย์ และสัตว์ ล้วนมีอัตราการทำงานของเซล์ที่ดีขึ้น ทั้งการสร้าง เติบโต ซ่อมแซม ซึ่งส่งผลให้ร่างกายอยู่ในสภาวะที่แข็งแรงนั่นเอง - ชาเขียวช่วยบำรุงสมอง
จากผลการวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร “Psychopharmacology” แสดงให้เห็นว่าชาเขียว สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดของสมอง โดยเฉพาะหน่วยความจำในการสั่งงาน ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาเขียวอาจมีแนวโน้มในการรักษาความบกพร่องทางสติปัญญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคสมองเสื่อมได้ด้วย - ชาเขียวลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์
จากผลการวิจัยตีพิมพ์เมื่อปี 2011 พบว่าสาร CAGTE หรือ สารสกัดจากชาเขียวที่เก็บมาจากลำไส้ใหญ่ เพื่อทำการทดสอบว่า หลังจากชาเขียวถูกย่อยและดูดซึมนั้น จะส่งผลต่อโปรตีนในร่างกายของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า สาร Epigallocatechin-3-gallate (EGCG) ที่มีมากในชาเขียวอาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน - ชาเขียวลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
อ้างอิงจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่มีเป็นปริมาณมากในชาเขียวสามารถลดการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้ และจากการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคชาเขียวเป็นปริมาณมากพบว่ามีอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งของประชากรต่ำกว่า อีกทั้งผลการศึกษาในขั้นตอนถัดมายังพบว่าชาเขียวนั้นส่งผลในเชิงบวกต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม, กระเพาะปัสสาวะ, รังไข่, ลำไส้ใหญ่, ลำคอ, ต่อมลูกหมาก, ผิวหนัง และกระเพาะอาหาร และยังส่งผลในแง่การป้องกัน ลดความเสี่ยงในกลุ่มผู้ทดลองอีกด้วย
จากหลักฐานงานวิจัยทั้งหมด บ่งชี้ได้ถึงคุณประโยชน์ซึ่งสามารถพิสูจจน์ได้จริงของชาเขียว จึงไม่เป็นที่แปลกใจเมื่อวงการสุขภาพมากมายต่างยกย่องให้เครื่องดื่มชนิดนี้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอันดับหนึ่ง ที่สามารถดื่มได้ทันที ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องปรุงแต่งเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในทุก ๆ วัน ลองเพิ่มชาเชียวลงไปในมื้ออาหาร ตามเวลาที่สะดวก จะก่อนหรือหลังรับประทานอาหารก็ได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถดูดซึมประโยชน์ดี ๆ จากชาเขียวเข้าสู่ร่างกายได้แล้ว
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.shen-nong.com, www.medicalnewstoday.com
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com