การดำเนินชีวิตประจำวัน มีกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็นเกิดขึ้นในร่างกาย ภายหลังเสร็จสิ้นแต่ละกระบวนการจะมีของเสียเกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่ร่างกายไม่ต้องการและส่วนที่ร่างกายต้องการอยู่บ้าง แต่มีปริมาณมากเกินจนต้องขับออก ของเสียดังกล่าวมีทั้งที่อยู่ในรูปของ ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ
ร่างกายจะมีวิธีในการขับถ่ายของเสียแต่ละประเภทแตกต่างกัน โดยมีการขับถ่ายของเสียที่เป็นของแข็ง ทางลำไส้ใหญ่ผ่านอุจจาระ การขับถ่ายของเสียที่เป็นน้ำ ทางไตผ่านปัสสาวะและทางผิวหนังผ่านเหงื่อ การขับถ่ายของเสียที่เป็นก๊าซ ออกทางปอด ผ่านลมหายใจออก
อวัยวะที่เกี่ยวข้อง
- การขับถ่ายของเสียที่เป็นน้ำ มีอวัยวะหลัก ๆ ที่สำคัญ คือ ไตและผิวหนัง
- ไต (Kidney) อวัยวะรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วเขียว มีขนาดใหญ่ อยู่ด้านซ้ายและขวาของกระดูกสันหลัง ภายในไตจะมีท่อเล็ก ๆ ที่มีผนังบาง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อระบบหมุนเวียนเลือด พาเลือดมาหมุนเวียนผ่านไต ผนังดังกล่าวจะทำหน้าที่กรองของเสีย เช่น ยูเรีย แอมโมเนีย เกลือแร่และน้ำ ออกจากเลือด ทำให้เลือดที่มีของเสียกลายเป็นเลือดดีและไหลกลับเข้าสู่หัวใจ โดยน้ำและของเสียที่ไตกรองได้ จะไหลลงสู่ท่อไต เก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะและรอการขับออกจากร่างกายผ่านทางการขับถ่ายปัสสาวะ
โดยปัสสาวะปกติ จะมีสีเหลือง ไม่ขุ่น ไม่มีตะกอน มีกลุ่นฉุนเล็กน้อย ประกอบด้วยน้ำประมาณ 95% และของแข็ง 5% ซึ่งเป็นทั้งสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ได้แก่ ยูเรีย แอมโมเนีย น้ำตาล โซเดียม คลอไรด์ แคลเซี่ยม และแมกนีเซี่ยม รวมทั้งกรดไขมันและฮอร์โมนบางชนิดด้วย ปกติมีค่าเป็นกรด โดยมี pH ต่ำกว่า 7.4 แต่สามารถเปลี่ยนตามอาหารที่รับประทานและสภาวะสุขภาพของร่างกาย - ผิวหนัง (Skin)ที่ผิวหนังมีต่อมเหงื่อ (Sweat gland) ภายในต่อมเหงื่อจะมีท่อขดและมีหลอดเลือดฝอยลำเลียงเลือดที่มีของเสียมายังต่อมเหงื่อ โดยของเสียจะแพร่ออกจากหลอดเลือดฝอยเข้าสู่ท่อในต่อมเหงื่อ กลายเป็นเหงื่อ (Sweat) โดยเหงื่อจะประกอบด้วยน้ำร้อยละ 99 และสารอื่น ๆ อีกร้อยละ 1 ได้แก่ เกลือโซเดียมคลอไรด์ ยูเรีย แอมโมเนีย และสารอื่น ๆ เหงื่อจะถูกลำเลียงไปตามท่อออกสู่ภายนอกร่างกายผ่านรูเหงื่อทั้งนี้ในบางพื้นที่ของผิวหนัง อาทิ รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ จะมีต่อมเหงื่อชนิดที่ไม่มีรูเปิดออกสู่ภายนอกโดยตรง โดยสารที่ขับออกจากต่อมชนิดนี้จะทำให้ร่างกายเกิดกลิ่นตัว
- ไต (Kidney) อวัยวะรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วเขียว มีขนาดใหญ่ อยู่ด้านซ้ายและขวาของกระดูกสันหลัง ภายในไตจะมีท่อเล็ก ๆ ที่มีผนังบาง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อระบบหมุนเวียนเลือด พาเลือดมาหมุนเวียนผ่านไต ผนังดังกล่าวจะทำหน้าที่กรองของเสีย เช่น ยูเรีย แอมโมเนีย เกลือแร่และน้ำ ออกจากเลือด ทำให้เลือดที่มีของเสียกลายเป็นเลือดดีและไหลกลับเข้าสู่หัวใจ โดยน้ำและของเสียที่ไตกรองได้ จะไหลลงสู่ท่อไต เก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะและรอการขับออกจากร่างกายผ่านทางการขับถ่ายปัสสาวะ
- การขับถ่ายของเสียที่เป็นของแข็ง มีอวัยวะหลัก คือ ลำไส้ใหญ่
- ลำไส้ใหญ่ (Large intestine) ภายหลังจากอาหารที่รับประทาน ผ่านระบบย่อยอาหารเป็นที่เรียบร้อย กากอาหารจะเหลืออยู่ที่ลำไส้ใหญ่ ที่ซึ่งสารอาหารที่มีประโยชน์ อาทิ น้ำ แร่ธาตุ วิตามิน และกลูโคส จะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ทำให้กากอาหารมีลักษณะเหนียว ข้นจนเป็นก้อนกึ่งแข็ง หลังจากนั้นกากอาหารจะถูกบีบให้เคลื่อนที่ไปอยู่ในส่วนของไส้ตรง ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของลำไส้ใหญ่ และขับถ่ายสู่ภายนอกร่างกายทางทวารหนัก กลายเป็นอุจจาระอุจจาระ (Stools) ประกอบด้วยน้ำ 75% และของแข็ง 25% ได้แก่ กากอาหาร แบคทีเรีย ไขมัน เกลือ โปรตีน และอื่น ๆ โดยมีลักษณะ สีและกลิ่นแตกต่างกันไปตามส่วนประกอบของอุจจาระนั้นๆ ดังนั้นลักษณะของก้อนอุจาระอาจบอกสภาวะของร่างกายในเบื้องต้นได้ เช่น อุจจาระแข็ง เม็ดกลมเล็ก ร่างกายอาจขาดน้ำ ขาดใยอาหาร หรืออุจจาระอยู่ในลำไส้ใหญ่นานเกิน อุจจาระมีเลือดปน อาจมีเลือดออกที่ลำไส้ใหญ่ เป็นริดสีดวงเป็นต้น
- การขับถ่ายของเสียที่เป็นก๊าซ มีอวัยวะหลัก คือ ปอด (Lung)
- ปอด (Lung) นอกเหนือจากการหายใจเข้า ซึ่งเป็นการนำออกซิเจนจากอากาศภายนอกมาสู่ปอด โดยออกซิเจนจะแพร่จากถุงลมปอดเข้าหลอดเลือดฝอยปอด ไหลกลับเข้าสู่หัวใจเพื่อส่งไปเลี้ยงเซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกายในทางกลับกัน ของเสียที่เกิดขึ้นภายหลังกระบวนการเผาผลาญ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่ออกจากเซลล์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ เข้าสู่หลอดเลือดฝอย โดยผ่านขั้นตอนทางเคมีในระหว่างการเดินทางและกลับเข้าสู่หัวใจ และผ่านมาที่หลอดเลือดฝอยปอด ที่ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่ผ่านผนังของหลอดเลือดฝอยปอดเข้าสู่ถุงลมปอด แล้วลำเลียงไปตามหลอดลม เพื่อกำจัดออกนอกร่างกายทางจมูก ผ่านการหายใจออก
โรคระบบขับถ่ายที่พบบ่อย
- โรคลำไส้อักเสบ เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร โดยอาการที่แสดงออกจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าการอักเสบอยู่ที่ส่วนใด รวมถึงเกิดจากสาเหตุใด เชื้อโรคประเภทใด รวมถึงการเป็นโรคลำไส้อักเสบ ชนิดเฉียบพลันหรือชนิดเรื้อรัง
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนี้พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงอยู่ติดกับปากช่องคลอด สั้นกว่าท่อปัสสาวะของผู้ชาย และอยู่ใกล้ทวารหนัก ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก จึงมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าอาการที่พบบ่อยได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ถ่ายปัสสาวะไม่สุด ปวดแสบ ขัดขณะปัสสาวะ รวมถึงปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีเลือดปนหรือมีกลิ่นผิดปกติ
- โรคริดสีดวงทวารหนัก โรคนี้จะทำให้หลอดเลือดบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีอาการบวมและโป่งพอง รวมทั้งมีบางส่วนยื่นออกมาจากทวารหนัก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ จึงควรไปพบแพทย์ ตั้งแต่เริ่มมีอาการ
- โรคไตวาย เป็นโรคที่เกิดจากไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด ทำให้มีของเสียตกค้างในร่างกาย รวมถึงการเสียสมดุลของระดับน้ำ และแร่ธาตุในร่างกาย โรคไตวายมีทั้งแบบที่เป็นไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง สาเหตุมีหลายประการ โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การมีความดันโลหิตสูง และการเป็นโรคเบาหวาน
- กรวยไตอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดการติดเชื้อบริเวณกรวยไต จนมีการอักเสบ ผู้ป่วยมักจะมีอาการแบบเฉียบพลัน ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย เจ็บแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น อาจมีเลือดปน มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น
- ท่อปัสสาวะอักเสบ สาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อบริเวณท่อปัสสาวะ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยพบสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อที่ไม่ใช่เพศสัมพันธ์และไม่เกิดจากการติดเชื้อเป็นส่วนน้อย โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากในทางกายภาพ ท่อปัสสาวะของผู้หญิงมีโอกาสรับเชื้อได้สูงกว่าท่อปัสสาวะของผู้ชาย
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในลำไส้ใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งโดยมีการเพิ่มจำนวนจนร่างกายควบคุมไม่ได้ ในระยะแรกๆ อาจเป็นเพียงแค่เนื้องอกธรรมดา อาจไม่พบอาการ หรือมีอาการแต่ปล่อยทิ้งไว้ โดยเนื้องอกนั้นเวลาผ่านไป อาจกลายเป็นมะเร็งได้
เรียบเรียงข้อมูลโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: en.wikipedia.org th.wikipedia.org th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก: www.shutterstock.com