มีปัจจัยมากมายที่ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตในวัยกลางคน ไม่ว่าจะเป็นการไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ร่างกายที่เสื่อมถอย สภาพจิตใจ และปัญหาสุขภาพซึ่งอาจพบได้ในผู้หญิงเท่านั้น โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่แสดงให้เห็นถึงช่วงวัยที่มากขึ้น… เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์แบบนี้แล้ว ควรรับมืออย่างไรให้ดีที่สุด เรามีข้อแนะนำดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอ
วิกฤตวัยกลางคน
ภาวะวิกฤตในวัยกลางคน คือ การที่คุณรู้สึกว่าคุณก็อายุ 50 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในชีวิต และยังคงไล่ตามความฝันบางอย่างอยู่ก็ได้ ดังนั้น การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพราะตระหนักได้ว่าชีวิตมันสั้นนัก ต้องทำความเข้าใจตัวกระตุ้นของการเกิด “ภาวะวิกฤตในวัยกลางคน” กันก่อนว่า ประเด็นปัญหาความเครียดต่าง ๆ ในชีวิตนั้น มีอะไรบ้าง
- การใช้ชีวิตในวัยเด็ก
- คนที่รักจากไป
- การต้องดูแลผู้สูงวัยภายในครอบครัว
- เคยตกงาน หรือใกล้จะเกษียณอายุ
- สัญญาณของสุขภาพที่แย่ลง
ภาวะวิกฤตในวัยกลางคนส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของผู้หญิง
ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยกลางคน ส่วนใหญ่จะพบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย เช่น วัยหมดประจำเดือน หรืออาจจะพบปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคมะเร็ง หรือโรคกระดูกพรุน ปัญหาสุขภาพเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นอาการซึมเศร้า และความกังวลที่เป็นสัญญาณของ “ภาวะวิกฤตในวัยกลางคน” ถึงแม้นักวิจัยยังคงพิจารณาว่าอาการอารมณ์แปรปรวนที่มาพร้อมกับวิกฤตวัยกลางคน อาจส่งผลต่อสุขภาพทางกาย แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงมักมีความผิดปกติของการรับประทานอาหารในช่วงวัยกลางคนด้วยร่วมด้วย
วิธีรับมือกับภาวะวิกฤตวัยกลางคน
วิกฤตนี้อาจเข้ามาหาคุณโดยที่ไม่รู้ตัว แตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนต้องประสบกับปัญหาโรคซึมเศร้าและความกังวล จนต้องย้อนกลับเข้ามาถามตัวเองอย่างจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายและจิตใจกันแน่ บางคนเลือกที่จะทำอะไรซึ่งต่างจากความเป็นตัวเองอย่างสุดขั้ว และต้องการจะทำสิ่งนั้นให้ได้ในทันทีทันใด อย่างเช่น การหย่าร้าง, การเปลี่ยนงาน หรือสายงานของตัวเอง เป็นต้น แม้กระทั่งการสูบบุหรี่มากขึ้น ดื่มมากขึ้น หรือการหนีความรู้สึกเหล่านั้น โดยการไปซื้อของอย่างบ้าคลั่ง ทั้งที่ปกติไม่เคยเป็นมาก่อน
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า บางครั้งการเปลี่ยนแปลงชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเติบโตอีกก้าวของชีวิต หรือบางครั้งก็ต้องเสี่ยงทำให้ปวดหัวในภายหลัง ดังนั้น ควรตระหนักถึงความเป็นไปได้
และคิดถึงผลของการกระทำซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ของตนเอง เพื่อที่จะสามารถประคองทั้งร่างกายและจิตใจให้ผ่านภาวะนี้ไปได้ คุณควรทบทวนว่าอะไรคือเป้าหมายของชีวิต หรือสิ่งที่คุณมุ่งหวังจริง ๆ หรือจะให้ดีก็ลองปรึกษานักบำบัดสำหรับเหตุการณ์ที่คุณกำลังเผชิญอยู่ เพื่อช่วยในการตัดสินใจก็ได้
ในแง่ของปัญหาเรื่องสุขภาพช่วงวัยกลางคนนั้น คุณสามารถปรึกษาแพทย์ หรือลงมือด้วยตัวเองในการควบคุมดูแลสุขภาพอาหารการกิน การออกกำลังกายอย่างจริงจัง เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรเริ่มทำเสียในขณะที่ยังมีเวลาและโอกาสให้ทำ ก่อนที่จะสายเกินไป
อย่าปล่อยให้บรรทัดฐานของคนอื่นก่อภาวะวิกฤตวัยกลางคนให้คุณ
ตั้งแต่เด็ก เรามักได้ยินข้อแนะนำว่า อายุเท่าไหร่ควรเรียนจบมหาวิทยาลัย อายุเท่าไหร่ควรได้งาน อายุเท่าไหร่ควรแต่งงาน และมีบ้าน มีรถ มีทรัพย์สินมูลค่า แค่ไหนตามกาลเวลาของชีวิตที่เปลี่ยนไป หากมองในแง่ดีสิ่งเหล่านี้ช่วยให้คุณมีแรงกระตุ้น แรงผลักดันในชีวิต แต่ในความเป็นจริง…จังหวะเวลาและโอกาสในชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คุณอาจไม่ได้ตามสิ่งที่มุ่งหวังภายใต้กรอบเวลาซึ่งค่านิยมกำหนดไว้ แต่ขอให้รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นแม้จะมาช้าหน่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณล้มเหลวในชีวิต ดังนั้น ปล่อยวางแล้วโฟกัสไปที่เป้าหมายระยะสั้นทีละอย่าง พยายามทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ชื่นชมและเห็นคุณค่าในตัวเองจะดีกว่า จำไว้ว่าชีวิตของคนเราย่อมมีเส้นทางที่แตกต่างกันไปในแบบของตนเอง
กล่าวได้ว่าหากไม่ใช่เรื่องของสุขภาพแล้ว ปัญหาวิกฤตวัยกลางคนส่วนใหญ่นั้นสามารถรับมือได้ด้วยจิตใจ การมีทัศนคติที่ดี ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะพบเจอกับเหตุการณ์ หรือบททดสอบแบบไหนเข้ามา การตะหนักรู้และเห็นคุณค่าในตัวเองเสมอ คือ หัวใจหลักซึ่งไม่ควรละทิ้งโดยเด็ดขาด หากรู้สึกหดหู่ใจเป็นอย่างมาก อย่าลังเลในการปรึกษาแพทย์ หรือนักบำบัดเพื่อช่วยให้คุณก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปได้อย่างมั่นคง
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.everydayhealth.com
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com