เป็นที่ทราบกันดีว่า เราไม่อาจบ่งชี้โรคอัลไซเมอร์ด้วยสาเหตุของโรคเพียงอย่างเดียว เพราะองค์ประกอบทางพันธุกรรมทำให้ความผิดปกติของสมองเพิ่มขึ้น เสื่อมถอยลงและทำให้เกิดอาการหลงลืม อีกทั้งกระบวนการทางชีววิทยาก็มีความข้องเกี่ยวกันกับผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้ ปัจจุบันมีข้อมูลที่อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้…..อาการ “ง่วงนอนมาก ๆ ตอนกลางวัน”
“ง่วงนอนมาก ๆ ตอนกลางวัน” อีกหนึ่งสัญญาณความเสี่ยง
แม้จะมีข้อมูลว่าอายุมาก การนอนหลับอาจยากขึ้น แต่นั้นไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีอายุทุกคน ต้องเผชิญกับอาการ “ง่วงนอนมาก ๆ ตอนกลางวัน” (Daytime sleepiness) โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญได้ค้นพบว่าอาการดังกล่าวอาจมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยมีผลการศึกษาหลายเรื่องแสดงให้เห็นถึง คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มีแนวโน้มว่าจะมีแบบแผนการนอนหลับที่สับสน หนึ่งในนั้นคืออาการ “ง่วงนอนมาก ๆ ในตอนกลางวัน” ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่าแอมีลอยด์ (Amyloid) ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่มีหลายชนิดย่อย เมื่อเข้าไปจับกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จะก่อให้เกิดการผิดปกติในการทำงานของอวัยวะนั้น โดยเมื่อไปจับที่สมองจะเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์
ไขความลับ “ง่วงนอนมาก ๆ ตอนกลางวัน” กับแอมีลอยด์ (Amyloid)
จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีอาการ “ง่วงนอนมาก ๆ ตอนกลางวัน” ในตอนเริ่มต้นโครงการ มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของแอมีลอยด์ (Amyloid) ในสมองรวดเร็วกว่าผู้ที่ไม่มีอาการ “ง่วงนอนมาก ๆ ตอนกลางวัน” โดยการเพิ่มขึ้นนั้น จะพบมากใน 2 ส่วนของพื้นที่สมอง คือ anterior cingulate cortex และ cingulate precuneus ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่พบแอมีลอยด์มากในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดยขณะนี้ยังมีการศึกษาอยู่ว่า อาการ “ง่วงนอนมาก ๆ ตอนกลางวัน” ทำให้มีการสะสมของแอมีลอยด์ที่สมองเพิ่มขึ้น หรืออีกด้านการสะสมของแอมีลอยด์ที่สมอง เมื่อถึงระดับหนึ่งจะส่งผลต่อความรู้สึกสับสนในการนอน ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
งานวิจัยว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันอาจต้องใช้เวลานาน แต่ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์สำหรับทุก ๆ คนให้มาสนใจกับ ความรู้เรื่องการนอนหลับ นอนเท่าไหร่ ถึงจะพอ เพื่อวางแผนการนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ช้าลง หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.health2click.com
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com