Health4senior

“ที่นอน” เพื่อสุขภาพการนอนที่ดี

มนุษย์เราใช้เวลาในการนอน ประมาณ 1 ใน 3 ของชีวิต ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของร่างกาย โดยร่างกายจะมีกลไกสำคัญ ๆ ในช่วงเวลานอน เพื่อให้ร่างกายพร้อมมากที่สุดภายหลังการตื่นนอน ดังนั้นคุณภาพการนอนจึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ของทุก ๆ คน

 

อ่านย่อหน้านี้ แล้วจะรักการ “นอนหลับ”

สำหรับใครที่ก่อนหน้านี้เข้าใจว่า การนอนหลับเป็นเวลาที่ทุกระบบในร่างกายหยุดหมดนั้น ความจริงแล้วไม่เป็นแบบนั้น การนอนหลับ สามารถแบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ คือ ช่วงหลับธรรมดา (non-rapid eye movement (NREM) sleep) และช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement (REM) Sleep) รวมเป็นวงจรการนอนหลับสลับไปมาในระหว่างที่เรานอนหลับ จนกระทั่งตื่น โดยช่วงหลับธรรมดายังแบ่งย่อยเป็น เริ่มง่วง หลับตื้น หลับปานกลาง หลับลึก ในทุกช่วงของการนอนหลับระบบต่าง ๆ ในร่างกายยังคงทำงานอยู่ ยกตัวอย่างที่สำคัญ ๆ เช่น ช่วงหลับลึก เป็นช่วงหลับสนิทที่สุดของการนอน กินเวลา 30 – 50 นาทีในแต่ละรอบการนอน ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น Growth hormone เพื่อการเจริญเติบโต มีการซ่อมแทรมส่วนที่สึกหรอ หรือช่วงหลับฝัน กินเวลา 30 นาทีในแต่ละรอบการนอน ช่วงนี้สมองจะมีการจัดการข้อมูลต่างๆที่เข้ามา ทำให้เกิดเป็นความทรงจำ ความเข้าใจ และอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต

จะเห็นได้ว่าช่วงเวลานอนนั้น หลาย ๆ ระบบในร่างกายยังคงทำงาน ทั้งเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การหลั่งของฮอร์โมนต่าง ๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต การหลั่งของสารที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานของร่างกาย การจัดระเบียบความคิดและความจำ การคลายความเหน็ดเหนื่อย ความเครียด รวมถึงการสะสมพลังงานเพื่อใช้ในขณะตื่น

 

ผลเสียของการนอนไม่พอ นอนอย่างไม่มีคุณภาพ

การอดนอนหรือนอนไม่เพียงพอเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการนอนเกินจะส่งผลต่อสุขภาพ มีการศึกษาพบว่าคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน มีผลต่ออัตราการตายที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการนอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง ติดต่อกัน 6 คืน จะเกิดความผิดปกติในการเผาผลาญกลูโคส การใช้อินซูลิน ส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อกระบวนการจำ คิดและตัดสินใจอีกด้วย

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการคุณภาพการนอน

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการนอนมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องเพศ วัย อาชีพ สภาพแวดล้อม สุขนิสัย ความเจ็บป่วย โดยผู้สูงอายุมักจะมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งจากฮอร์โมน ความคิดและอื่น ๆ ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพการนอนที่แย่ลง มีเทคนิคช่วยให้นอนหลับสนิทตลอดคืนออกมามากมาย อาทิ ทำกิจกรรมคลายเครียดก่อนเข้านอน ออกกำลังกายช่วงเย็น อาบน้ำอุ่นก่อนนอน ปรับเวลาเข้าและตื่นนอน ปรับบรรยากาศห้องนอนให้น่านอน เพลงกล่อมนอน เป็นต้น

 

“ที่นอน” อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพการนอน

อุปกรณ์การนอนโดยเฉพาะ “ที่นอน” เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญต่อคุณภาพการนอน เนื่องจากสรีระของผู้นอนที่แตกต่างกัน ทั้งความสูง น้ำหนักตัว เพศชายหญิง โดยการที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ท่านอนที่มีไม่มากเป็นเวลานานหลาย ๆ ชั่วโมง ล้วนส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ตัวอย่างเช่น ที่นอนที่ไม่ได้มาตรฐานหรือท่านอนที่ผิด อาจส่งผลต่อระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนเลือด รวมถึงกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อของผู้นอน เป็นต้น บางคนตื่น ๆ หลับ ๆ บางคนตื่นมาแล้วยังรู้สึกง่วงนอนอยู่ บางคนรู้สึกปวดหลัง  ปวดแขน ปวดขา หลังจากตื่นนอน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นผลมาจากคุณภาพ “ที่นอน” ที่ใช้อยู่ประจำ

 

คุณลักษณะของ “ที่นอน” ที่ดี

ที่นอนที่ดีนั้นไม่ควรนิ่มหรือแข็งจนเกินไป โดยที่นอนแบบนิ่ม จะมีผลทำให้ปวดหลังได้มากกว่าที่นอนแบบแข็ง โดยที่นอนที่เก่า มีการใช้งานมานาน มีความนิ่มไม่คืนตัว เป็นแอ่งกระทะ ผู้นอนจะเกิดอาการปวดหลัง นอนไม่สบาย หายใจไม่สะดวก นอกจากนี้ที่นอนยังควรมีโครงสร้างที่เหมาะสม เช่น ความแน่น จำนวนชั้น วัสดุ รูปทรง ที่สามารถรองรับน้ำหนักและสภาพร่างกายที่แตกต่างกันของผู้นอนได้ ทั้งนี้ควรรวมถึงการรองรับอย่างเหมาะสม ในเวลาที่ผู้นอนขยับตัว ทั้งการดิ้น พลิกตัว หรือลุกตื่นจากการนอน

 

ประเภทของที่นอน

  • ที่นอนฟองน้ำ เป็นที่นอนที่นำฟองน้ำมาอัดใส่ข้างในโดยผสมสารเคมี ทำให้ที่นอนมีความแข็งแรง ไม่ยุบเร็ว น้ำหนักเบา ความนุ่มนิ่มจากฟองน้ำคือ คุณสมบัติหลักของที่นอนประเภทนี้ แต่ต้องแลกับคุณสมบัติในการคืนตัวของที่นอนที่มีต่ำ เสี่ยงต่อการเป็นแอ่งเว้าโค้งตามบริเวณที่มีน้ำหนักกดประจำ ที่นอนฟองน้ำเหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประหยัด ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนปวดหลังง่าย
  • ที่นอนใยมะพร้าว ผลิตขึ้นจากการอัดของเส้นใยแข็งที่ได้มาจากกาบมะพร้าว ทำให้ที่นอนใยมะพร้าวค่อนข้างมีความแข็ง ไม่ยวบยาบ ไม่ยุบตัว มีความแน่นทึบ คงสภาพดี ระบายอากาศได้ดี เป็นมิตรต่อธรรมชาติ แก้อาการปวดหลังจากการนอนบนที่นอนนิ่มและยุบตัวง่าย แต่หากหมดสภาพแล้ว ใยมะพร้าวจะเริ่มลุ่ย เป็นขุย เกิดเชื้อราจากความชื้น และอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ
  • ที่นอนสปริง เป็นที่นอนที่มีการผลิตและจัดจำหน่ายเยอะที่สุด คุณภาพแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบของสปริง เช่นเดียวกับราคา ที่นอนสปริงมีความยืดหยุ่นสูง ไม่สะสมความชื้น ยิ่งมีน้ำหนักมากยิ่งมีสปริงมาก ทำให้รับสรีระส่วนที่โค้งเว้าได้ดี จุดเด่นของที่นอนประเภทนี้ คือที่นอนจะเด้ง นุ่ม น้ำหนักเบา สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ประเภทของสปริงแต่ละแบบ ก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป โดยยิ่งมีจำนวนรอบเกลียว มาก ก็จะยิ่งยืดหยุ่นและรับน้ำหนักได้ดี ข้อเสียของที่นอนสปริง คือสปริงจะยุบ ล้ม และล้าได้ตามคุณภาพของวัสดุและจำนวนสปริง
  • ที่นอนยางพารา เป็นที่นอนที่มีคุณสมบัติคล้ายที่นอนฟองน้ำ แต่มีความยืดหยุ่นและทนทานกว่า สามารถรองรับสรีระความโค้งเว้าทุกส่วนของผู้นอนได้ดี ไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป ทำให้นอนหลับได้สบายตัว ไม่เมื่อย ไม่ปวดหลังเวลาตื่นนอน เป็นที่นอนที่ได้รับการยอมรับและนิยมใช้กันในหลายประเทศ ทั้งนี้ควรใช้ที่นอนยางพาราแท้เพื่อผลลัพธ์ที่ดี เนื่องจากที่นอนยางพาราแท้จะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าที่นอนประเภทอื่น ๆ นิ่มกำลังดี คงทน ไม่ยุบตัวง่าย ไม่ปวดเมื่อย ไม่สะสมความชื้น รักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ผู้นอนสามารถนอนได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับที่นอนประเภทอื่นแล้ว ที่นอนยางพารามีราคาที่สูงกว่า

การใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิต และเป็นเวลาสำคัญที่ร่างกายพักฟื้น ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หลั่งสารเคมีกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ เสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย จัดระเบียบความคิดและความจำ การคลายความเหน็ดเหนื่อย ความเครียด สะสมพลังงานเพื่อใช้ในขณะตื่น หลาย ๆ คนอาจต้องใส่ใจกับลักษณะของที่นอนมากขึ้น

 

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com
ข้อมูลอ้างอิง
  1. ความรู้เรื่องการนอนหลับ
  2. 10 เทคนิคช่วยนอนหลับสนิทตลอดคืน
  3. รู้จักที่นอนและการเลือกที่นอนให้เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดี

 

 

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก