“โรคพิษสุนัขบ้า” “โรคกลัวน้ำ” หรือ “โรคหมาว้อ” (ในภาษาอีสาน) เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ หมี หนู ค้างคาว รวมถึงคนด้วย ซึ่งในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข (96% ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ) รองลงมา คือ แมว
“หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่สุนัขกัด ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน”
เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผลซึ่งเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบริเวณแผลที่ถูกกัด หลังจากนั้นเชื้อจะเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง หากเชื้อเข้าสู่สมองและเพิ่มจำนวนขึ้นอีก ผู้ป่วยจะมีอาการคุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย และหากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลัง แล้วมีการเพิ่มจำนวนจะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด
ระยะฟักตัวหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายไปจนเกิดอาการ ใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ หรืออาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาว ขึ้นกับปัจจัยบางอย่าง เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ หรือมือ อีกทั้งลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม และ การล้างแผลจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้านั้นมีอัตราการเสียชีวิต 100% แต่อย่างไรก็ดีโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ได้จากการนำเชื้อ Rabies virus ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยวิธีการเฉพาะ ซึ่งเชื้อจะถูกทำให้ตาย ก่อนที่จะนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถทำได้ 2 แบบ คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular; IM) และฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal; ID)
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีอยู่ 4 ชนิด
- Lyssavac N® (Purified duck embryo cell rabies vaccine; PDEV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในตัวอ่อนไข่เป็ดที่ฟักแล้ว (Embryonated duck eggs) แนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้นมีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (Sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะเป็นสารแขวนตะกอนสีขาว ขุ่นเล็กน้อย เนื่องจากมี Thimerosal เป็นสารกันเสีย ปริมาตรรวม 1 ml
- SII Rabivax® (Human diploid cell rabies vaccine; HDCV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในHuman diploid cellแนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้นมีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (Sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส สีชมพู ปริมาตรรวม 1 ml
- Rabipur® (Purified chick embryo cell rabies vaccine; PCECV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน Primary chick embryo fibroblast cell สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (Sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 1 ml
- Verorab® (Purified vero cell rabies Vaccine; PVRV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน Vero cells สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำเกลือสำหรับทำละลาย (Solution of sodium chloride 4%) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 0.5 ml
วัคซีนทั้ง 4 ชนิดมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งจะมีความปลอดภัยและมีความบริสุทธิ์มากกว่าวัคซีนแบบเก่า ที่ผลิตจากการนำเชื้อ Rabies virus จากสมองสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามาใช้ ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีการนำวัคซีนดังกล่าวมาใช้แล้ว
ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงเป็นอย่างไร
ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงทั้ง 4 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทยมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่โอกาสในการเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ก็ยังมีอยู่หากได้รับเชื้อเป็นจำนวนมาก หรือถูกกัดบริเวณที่มีเส้นประสาทจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนก่อนสัมผัสเชื้อ จะมีประสิทธิผลที่ดีกว่าการฉีดวัคซีนหลังสัมผัสเชื้อ
ผลข้างเคียงของวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงเกิดขึ้นได้น้อย และไม่รุนแรงเหมือนวัคซีนที่ทำจากสมองสัตว์ ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบเซลล์เพาะเลี้ยงที่พบการรายงาน ได้แก่ ปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด แดง ร้อน คัน หรือ ปฏิกิริยาทั่วไป เช่น ไข้ ปวด อ่อนเพลีย ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายเองเมื่อได้รับการรักษาตามอาการ ส่วนในเรื่องของการแพ้วัคซีนรุนแรงนั้นยังไม่พบการรายงานแต่อย่างใด พบแต่เพียงรายงานการเกิด Serum sickness ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ข้ออักเสบ ปวดข้อ และพบผื่นที่ผิวหนัง นอกจากนี้ยังพบรายงานการเกิดลมพิษที่ไม่รุนแรงจากการได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำบ่อย ๆ ได้เช่นกัน
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสสัตว์ (Prophylaxis) มักจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือเด็ก เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เช่นกัน การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้น อีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน (หมายเหตุ : วันที่ 0 หมายถึง วันที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก)
2. การฉีดวัคซีนหลังการสัมผัสสัตว์ จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยเสมอ โดยอาจแบ่งเป็นกรณีได้ดังนี้
ไม่ต้องฉีดวัคซีน
ในกรณีที่สัมผัสกับสัตว์โดยที่ผิวหนัง ไม่มีแผลหรือรอยถลอก เช่น การให้อาหาร ถูกเลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือด (ยกเว้น น้ำลายหรือเลือดของสัตว์กระเด็นเข้าทางตา หรือปากจะต้องรับการฉีดวัคซีน)
ต้องฉีดวัคซีน ในกรณีที่
- ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก
- ถูกเลีย หรือ น้ำลายถูกผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีแผล
- ถูกข่วนที่ผิวหนังโดยไม่มีเลือดออกหรือออกซิบๆ
- ถูกกัดหรือข่วนเป็นแผล (แผลเดียวหรือหลายแผล) และมีเลือดออก
มีน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ รวมถึงการชำแหละหรือลอกผิวหนังสัตว์ ถูกเยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนังในการเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้น สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลรัฐบาลที่ใกล้ที่สุด (ที่ใดก็ได้) ทันที จนครบทุกเข็มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใด ๆ
ในกรณีที่ต้องฉีดวัคซีนหลังสัมผัสสัตว์ จะพิจารณาจำนวนครั้งของการฉีดวัคซีนตามประวัติของการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ
- ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลย หรือเคยฉีดมาแล้วแต่น้อยกว่า 3 เข็ม
- ในกรณีที่เลือกวัคซีนชนิดฉีดเข้า กล้ามเนื้อ ต้นแขนจะต้องได้รับการฉีด 5 ครั้ง ครั้งละ 1 โด๊ส* ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28 หรือ 3 ครั้งในวันที่ 0, 7 และ 28 โดยวันที่ 0 จะได้รับการฉีด 2 โด๊ส* และอีกสองครั้งที่เหลือฉีดครั้งละ 1 โด๊ส*
- ในกรณีที่เลือกวัคซีนชนิดฉีดเข้า ในผิวหนัง บริเวณต้นแขน จะต้องได้รับการฉีด 4ครั้งในวันที่ 0, 3, 7 และ 28 โดยแต่ละครั้งจะต้องฉีด 2 จุด จุดละ 0.1 มล. (ต้นแขนด้านซ้ายและขวา) หรือ 5 ครั้งในวันที่ 0, 3, 7, 28 และ 90 โดยสามครั้งแรกฉีดครั้งละ 2 จุด และสองครั้งที่เหลือฉีดอีกครั้งละ 1 จุด จุดละ 0.1 มล. หรือ 4 ครั้งในวันที่ 0, 7, 28 และ 90โดยครั้งแรกฉีดทั้งหมด 8 จุด ครั้งที่สอง 4 จุด และสองครั้งที่เหลืออีกครั้งละ 1 จุดจุดละ 0.1 มล.
* หมายเหตุ : 1 โด๊ส จะใช้วัคซีนปริมาตร 1 ml สำหรับ HDCV, PCECVและ PDEV หรือ 0.5 ml สำหรับ PVRV
นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ถูกสัตว์กัด หรือข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกกัดเป็นแผลที่ใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือมีแผลลึก แผลฉีกขาดมาก จะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin; IG) โดยเร็วที่สุด โดยฉีดบริเวณรอบแผลร่วมกับวัคซีนในวันที่ 0 เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง
สำหรับอิมมูโนโกลบุลิน เป็นโปรตีน ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อิมมูโนโกลบุลินสามารถผลิตได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ม้า (Equine rabies immunoglobulin; ERIG) หรือคน (Human rabies immunoglobulin; HRIG) และฉีดกระตุ้นจนกระทั่งมีแอนติบอดีอยู่ในระดับสูงพอ จึงเจาะเลือดมาแยกซีรั่มผลิตเป็นอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากม้าจะมีโอกาสทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่าอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากคน
ส่วนผู้ที่ถูกน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ กระเด็นเข้าสู่เยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง และผู้ชำแหละซากสัตว์หรือลอกหนังสัตว์จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาว่าจะต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลินหรือไม่ ตามความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นราย ๆ ไป
เคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม (วันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาเกิน 6 เดือนแล้ว) ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขนหรือในผิวหนังบริเวณต้นแขน จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกัน ในวันที่ 0 และ 3โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน
เคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม (วันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาไม่เกิน 6 เดือน) ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเลือกฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขนหรือในผิวหนังบริเวณต้นแขน จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกันเพียงครั้งเดียว ในวันที่ 0 เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน
ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัข แมวหรือสัตว์อื่น ๆ กัด
- ล้างแผลทันทีด้วยน้ำ และฟอกด้วยสบู่หลาย ๆ ครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมด ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใด ๆ ทา ถ้ามีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น
- เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน (Povidone iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (Hibitane in water) ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน นอกจากนี้ไม่ควรปิดปากแผล ยกเว้นว่าเลือดออกมากหรือแผลใหญ่มาก
- ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันทีหรือเร็วที่สุด เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีนหรืออิมมูโนโกลบุลินตามความเหมาะสม
- กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้ายกัดคนหรือสัตว์อื่น หรือไม่สามารถกักสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไป ให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า / หากสัตว์มีอาการปกติตลอดระยะเวลาที่กักเพื่อดูอาการ สามารถหยุดฉีดวัคซีนได้
วิธีการส่งซากสัตว์และสถานที่สำหรับส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของกองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ ที่ http://www.dld.go.th/inform/rabies/framdog.html
ลืมมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัดหมายไปเป็นอะไรไหม
การเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด อย่างไรก็ดีหากลืมหรือไม่สามารถมาตามกำหนดวันนัดหมาย ก็ควรรีบมารับการฉีดวัคซีนต่อจนครบให้เร็วที่สุด (ข้อมูลในปัจจุบันระบุว่าการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนดไป 2-3 วัน จะไม่ส่งผลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าช้าเกินกว่านี้ยังไม่พบข้อมูลการรับรองประสิทธิภาพ)
หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่
หญิงตั้งครรภ์ ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตาย และอิมมูโนโกลบุลินก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์เช่นกัน
สามารถเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีน หรือเปลี่ยนวิธีการฉีดได้หรือไม่
วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ มีคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัยใกล้เคียงกัน ในการฉีดเข้ากล้ามเนื้อสามารถใช้ทดแทนกันได้ทุกยี่ห้อ แต่ชนิดที่ฉีดเข้าในผิวหนังนั้นอาจต้องระมัดระวังเนื่องจากบางยี่ห้อไม่แนะนำให้ฉีดเข้าในผิวหนัง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยควรมีสมุดบันทึกการฉีดวัคซีนที่ระบุทั้งชื่อยี่ห้อวัคซีนและวิธีฉีดวัคซีนไว้ด้วยเสมอ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดวิธีเดียวกันตลอดจนครบชุดไม่ควรเปลี่ยนวิธีการฉีดสลับไปมา
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.health2click.com
ภาพประกอบจาก : www.stockvault.net