ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine system) เป็นระบบสื่อสารภายในร่างกาย ผ่านฮอร์โมน (Hormone) โดยทำหน้าที่ควบคุมเชื่อมโยง ติดต่อประสานและทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ ของร่างกาย โดยการทำงานจะอยู่ในลักษณะช้า ๆ และส่งผลในระยะยาว เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย การพัฒนาของระบบสืบพันธ์ การมีประจำเดือน การเผาผลาญ การควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ เป็นต้น
ต่อม (Gland) ในร่างกายมนุษย์สามารถแบ่งตามการส่งสารเคมีที่หลั่งออกมา ได้เป็นต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) หรือต่อมไม่มีท่อ ต่อมประเภทนี้จะมีการหลั่งสารที่เรียกว่า ฮอร์โมน (Hormone) เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลือง เพื่อไปควบคุมหรือดัดแปลงสมรรถภาพของเซลล์ที่อวัยวะเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน รังไข่ และอัณฑะ สำหรับต่อมมีท่อ (Exocrine gland) จะมีการหลั่งสารที่ต่อมสร้าง ผ่านทางท่อของต่อมส่งไปยังอวัยวะเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น ต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำตา ต่อมน้ำนม ต่อมเหงื่อ
โดยมีบางต่อม เป็นทั้งต่อมไร้ท่อและต่อมมีท่อ เช่น ตับอ่อน หลั่งน้ำย่อยผ่านท่อเข้าสู่ลำไส้เล็ก ขณะเดียวกันมีการหลั่งฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด หรืออัณฑะสร้างตัวอสุจิส่งออกทางท่อ ขณะเดียวกันยังมีการหลั่งฮอร์โมนเพศเข้าสู่กระแสเลือด
อวัยวะที่เกี่ยวข้อง
- ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland) เป็นต่อมขนาดเล็กอยู่ติดกับด้านหลังของต่อมไทรอยด์ ต่อมนี้สร้างฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone-PTH) หรือพาราทอร์โมน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย อันส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก และการทำงานของกล้ามเนื้อ
- ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) เป็นต่อมที่ตั้งอยู่ด้านบนของไต (Kidney) ต่อมนี้สร้างฮอร์โมนสำคัญ ๆ หลายชนิด เช่น ฮอร์โมนอะดรีนาลิน (Adrenalin) ช่วยให้ร่างกายมีความพร้อมเมื่ออยู่ในภาวะเครียด ตกใจกลัว ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด กดภาวะภูมิคุ้มกัน และต้านการอักเสบ ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (Aldosterone) ช่วยควบคุมความดันโลหิตในร่างกาย รวมถึงฮอร์โมนเพศ
- ตับอ่อน (Pancreas) อยู่ด้านซ้ายของช่องท้อง วางตัวตามแนวส่วนโค้งของลำไส้เล็กส่วนต้น บริเวณที่เรียกว่า Islets of Langerhans จะเป็นกลุ่มเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) และฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) มีบทบาทในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) เป็นต่อมที่อยู่ติดกับส่วนล่างของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) หลั่งฮอร์โมนที่สำคัญ ๆ ของร่างกาย เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูกและกล้ามเนื้อ ฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิน (Gonadotrophin) กระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ควบคุมลักษณะทางเพศ รวมถึงฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เซลล์เม็ดสีสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้น
- ต่อมไทรอยด์ (Thyroid) เป็นต่อมที่อยู่ส่วนล่างด้านหน้าของคอ ติดกับหลอดลมและกล่องเสียง ต่อมนี้หลั่งไทรอยด์ฮอร์โมน ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก สมองและระบบประสาท รวมถึงการควบคุมอัตราเมตาบอลิซึม (Metabolism) ภายในร่างกาย
- ต่อมไพเนียล (Pineal ) เป็นต่อมที่อยู่บริเวณกึ่งกลางของสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) ต่อมนี้หลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) มีผลต่อวงจรนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในรอบวันได้
- ต่อมไทมัส (Thymus) เป็นต่อมที่อยู่ใต้กระดูกอก และด้านหน้าหัวใจ มีขนาดใหญ่ในเด็กและฝ่อเล็กลงเมื่ออายุมากขึ้น ต่อมนี้หลั่งฮอร์โมนไทโมซิน (Thymosin) กระตุ้นให้มีการสร้าง T-lymphocyte ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ต่อมเพศ (Gonad) ในเพศชายคือ อัณฑะ (Testis) เป็นทั้งต่อมมีท่อและต่อมไร้ท่อ โดยผลิตอสุจิ (Sperm) ส่งออกทางท่อ และหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ และลักษณะต่างๆของความเป็นชาย ในเพศหญิงรังไข่ (Ovary) จะผลิตไข่ (Ovum) ให้พร้อมและตกจากรังไข่สลับข้างกันทุกเดือน พร้อมทั้งหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ และลักษณะต่าง ๆ ของความเป็นเพศหญิง รวมถึงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะทำหน้าที่ระงับไม่ให้ไข่สุกระหว่างตั้งครรภ์เพื่อป้องกันไม่ให้มีประจำเดือนระหว่างตั้งครรภ์
โรคระบบต่อมไร้ท่อที่พบบ่อย
- โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดหรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดเพื่อส่งต่อให้เซลล์ไปใช้เป็นพลังงานมีความผิดปกติ หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานาน จะทำให้หลอดเลือดแดงและอวัยวะที่เกี่ยวข้องเสื่อม เกิดโรคและอาการแทรกซ้อนตามมา
- โรคของต่อมไทรอยด์ เป็นโรคที่ทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ทำให้มีไทรอยด์ฮอร์โมนมากหรือน้อยกว่าปกติ จนเกิดผลกระทบกับร่างกาย โดยกรณีที่มีฮอร์โมนมากกว่าปกติ จะมีอาการเหนื่อย ใจสั่น ขี้ร้อน น้ำหนักลด เหงื่อมาก ตาโปน แขนขาอ่อนแรง กรณีที่มีฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ จะมีอาการความคิดช้า เฉื่อยชา ง่วงนอน น้ำหนักขึ้น ตัวบวม หน้าบวม
- โรคอ้วน เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆของร่างกายจนเกินปกติ โดยมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป โดยภาวะดังกล่าวจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนคือ การทำงานผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติ เช่น โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองเป็นต้น
- โรคพีซีโอเอส (PCOS) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือฮอร์โมนC
- ในร่างกายสตรี โดยการทำอัลตร้าซาวด์จะพบถุงน้ำเล็กๆ (Cyst) หลายใบในรังไข่ ผู้ป่วยจะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ และมีลักษณะของฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีสิว หรือขนดกกว่าผู้หญิงทั่วไป
- โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้สมบูรณ์ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ อาการนี้อาจเกิดขึ้นกับผู้ชายในช่วงวัยใดก็ได้ แต่ก็มักจะพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวมีหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนที่ทำให้ความต้องการทางเพศลดลง รวมถึงระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ลดลง ระดับฮอร์โมนโปรแลกติน (Prolactin) เพิ่มขึ้น และภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากหรือน้อยเกินไป
- โรคมะเร็งตับอ่อน พบได้เรื่อยๆ แต่ไม่บ่อย ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อมะเร็งลุกลามไป ผู้ป่วยจะมีอาการแสดง เช่น ปวดท้องโดยปวดร้าวไปที่หลัง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน อุจจาระสีซีด คันตามผิวหนัง อาจคลำได้ก้อนในท้อง และอาการอื่น ๆ ตามอวัยวะที่มะเร็งลุกลามไป เป็นต้น
เรียบเรียงข้อมูลโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.webmd.com en.wikipedia.org www.emedicinehealth.com www.haamor.com
ภาพประกอบจาก: www.shutterstock.com