สำหรับหลาย ๆ คน คงจะเคยได้ยินเรื่องของเอนไซม์กันมาบ้างแล้ว วันนี้กองบรรณาธิการได้เรียบเรียงเนื้อหาเบื้องต้น เป็นการทบทวนความรู้อีกครั้ง เพื่อการดูแลสุขภาพที่ดีมากยิ่งๆขึ้น
เอนไซม์ ( Enzyme) เป็นโปรตีนที่สิ่งมีชีวิตสร้างขึ้น เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ให้มีประสิทธิภาพ โดยลดพลังงานที่จะใช้ในปฏิกิริยาเหล่านั้น มีข้อมูลพบว่า มากกว่า 5,000 ปฏิกิริยาชีวเคมี ที่มีเอนไซม์เป็นตัวร่วมที่สำคัญ โดยเอนไซม์จะเปลี่ยนสารตั้งต้นให้เป็นสารอื่น ๆ เพื่อทำให้ระบบที่เกี่ยวข้องทำงานได้ดี เช่น ระบบย่อยอาหาร จะมีเอนไซม์เป็นตัวเร่งในการย่อยอาหาร จากสารโมเลกุลใหญ่ให้เป็นสารโมเลกุลเล็ก ในระดับที่สามารถผ่านผนังเซลล์ของแต่ละเซลล์ในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารตามที่เรารับประทาน นอกจากนี้เอนไซม์ยังมีหน้าที่ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ช่วยสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหดตัว สลายสารพิษ ทำให้เลือดบริสุทธิ์ ช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอด และช่วยลดความเครียดของตับอ่อนและอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งบางครั้ง ถ้าไม่มีเอนไซม์ ปฏิกิริยาทางเคมีอาจใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จสิ้น หรืออาจจะไม่เกิดเลยก็ได้
คุณสมบัติของเอนไซม์
- เอนไซม์มีโครงสร้างทางเคมีเป็นโปรตีน ประกอบไปด้วยโพลีเปปไทด์ (Polypeptide) ม้วนกันเป็นก้อนกลม มีโครงรูปที่จำเพาะ กำหนดโดยลำดับการเรียงตัวของกรดอะมิโน โดยเอนไซม์บางชนิดต้องอาศัยโคแฟกเตอร์(Cofactor) หรือโคเอนไซม์ (Coenzyme) ถึงจะทำงานได้ ทั้งนี้ในการทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมี เอนไซม์จะกลับคืนสภาพเดิม ขณะที่โคเอนไซม์จะหมดเปลืองไปเรื่อย ๆ จึงจำเป็นที่ร่างกายต้องหามาเสริม
- เอนไซม์แต่ละชนิดมีหน้าที่เฉพาะตัว โดยจะทำปฏิกิริยาเคมีจำเพาะกับสารตั้งต้นหรือซับสเตรด (Substrate) ที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น เช่น เอนไซม์ชนิดย่อยไขมันจะไม่ย่อยแป้ง และเอนไซม์ย่อยแป้งจะไม่ย่อยโปรตีน เป็นต้น
- เอนไซม์มีความไวต่อปฏิกิริยามาก แม้ในปริมาณน้อยก็สามารถเร่งปฏิกิริยาได้ ถ้าไม่มีเอนไซม์ปฏิกิริยาเคมีทุกชนิดจะเกิดขึ้นช้ามาก จนชีวิตไม่สามารถรอดอยู่ได้
- การแช่แข็งจะไม่ทำลายความสามารถของเอนไซม์ส่วนใหญ่ แต่เอนไซม์จะถูกทำลายได้โดยง่ายที่ความร้อนสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส
- อัตราการทำงานของเอนไซม์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อุณหภูมิ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการทำงานอยู่ในช่วง 25-40 องศาเซลเซียส ความเป็นกรดเบส โดยส่วนใหญ่จะทำงานได้ดีในช่วงค่า pH 6-7 ปริมาณของเอนไซม์และซับสเตรด ถ้าปริมาณไม่สมดุลจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเอนไซม์ได้
- เอนไซม์แต่ละชนิดที่ร่างกายผลิตขึ้นมาจะมีชีวิตหรืออายุได้เพียง 20 นาที และจะต้องมีเอนไซม์ใหม่เข้ามาทดแทนอยู่เรื่อย ๆ แต่อาจมีบางชนิดที่อยู่ได้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์
- เอนไซม์ที่กระตุ้นปฏิกิริยาเคมี จะถูกยับยั้งด้วย “ตัวยับยั้งเอนไซม์” ซึ่งมีแบบที่เป็นการยับยั้งแบบถาวร การยับยั้งแบบชั่วคราว และการยับยั้งแบบย้อนกลับ
ชนิดของเอนไซม์
- เอนไซม์จากอาหาร (Food enzyme) คือ เอนไซม์ที่พบได้ในอาหารสด อาหารดิบทุกชนิด ทั้งที่มาจากพืชและสัตว์ เอนไซม์ชนิดนี้จะช่วยในการย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยความร้อนสามารถทำลายเอนไซม์ในอาหารได้โดยง่าย
- เอนไซม์ย่อยอาหาร (Digestive enzyme ) คือ เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นโดยร่างกาย ส่วนใหญ่จะผลิตมาจากตับอ่อน เพื่อใช้ในการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีคุณค่า
- เอนไซม์ในการเผาผลาญพลังงาน (Metabolic enzyme) คือ เอนไซม์ที่ผลิตในเลือด ในเซลล์เนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในต่าง ๆ ของร่างกาย มีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีเพื่อช่วยในการเผาผลาญสารอาหารและสร้างพลังงานสร้างภูมิต้านทาน ความเจริญเติบโตให้กับร่างกาย รวมไปถึงการช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะภายใน และช่วยบำบัดและรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ของร่างกาย
การขาดเอนไซม์
เอนไซม์ที่มีระดับต่ำในร่างกาย จะมีความสัมพันธ์กับความเสื่อมของอวัยวะและระบบต่างๆในร่างกาย ถ้าเอนไซม์ มีระดับต่ำมาก โรคที่เกี่ยวเนื่องกับความเสื่อมดังกล่าวก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
ภาพประกอบ: www.medicalnewstoday.com