Health4senior

อยากให้สุขภาพดี เริ่มตรวจสุขภาพเบื้องต้นด้วยตนเอง

การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็น เพราะทำให้เราได้รู้ถึงสถานการณ์ทางสุขภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งโดยหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมนั้น แพทย์จะแนะนำให้ตรวจสม่ำเสมอเป็นประจำ

ทุกคนสามารถทำการตรวจสุขภาพเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง เช่น การคำนวณดัชนีมวลกาย วัดเส้นรอบเอว วัดการเต้นของหัวใจ ซึ่งถ้าหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวเองอยู่เสมอ จะทำให้เราค้นพบความผิดปกติของตัวเอง เพื่อไปรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาได้เร็วและทันท่วงที เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคหัวใจและหลอดเลือด การติดแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด การคัดกรองกระดูกพรุน การประเมินภาวะโภชนาการ การประเมินภาวะสมองเสื่อม ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ได้รับทราบผลการประเมิน และยังได้รับคำแนะนำในการตรวจเพิ่มเติมสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อีกด้วย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพที่เป็นอยู่ จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ดี

เราทุกคนล้วนแต่ต้องการมีสุขภาพที่ดี สมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ก็อาจจะต้องเผชิญกับภาวะเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจะเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้น จนทำให้ร่างกายเสื่อมถอยลงตามวัย หรือสภาพสังคมแวดล้อมที่อาจจะทำให้คนเรามีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งโดยตั้งใจ หรือไม่รู้ตัวก็ตาม

 

การตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะทำให้เราได้รู้ถึงสถานการณ์ทางสุขภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งโดยหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมนั้น แพทย์จะแนะนำให้ตรวจสม่ำเสมอเป็นประจำ หรืออย่างน้อยทุก 3 ปี ในบางกรณี โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการในบางกรณี เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรืออาจจะตรวจหาโรคมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่  มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และยังมีตรวจการมองเห็น การได้ยิน ตลอดจนประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย

สำหรับผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพของตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอการตรวจสุขภาพตามวาระดังกล่าวเท่านั้น เพราะสามารถทำการตรวจได้ด้วยตนเองที่ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน โดยหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้เราค้นพบความผิดปกติตัวเอง หรือคนรอบข้างได้ทันท่วงที

 

สิ่งที่เราควรหมั่นตรวจสอบ หรือสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ประกอบด้วย

การคำนวณดัชนีมวลกาย
ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เป็นค่าดัชนีที่คำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อใช้เปรียบเทียบความสมดุลระหว่างน้ำหนักตัวต่อความสูงของมนุษย์ และจะเป็นค่าตัวเลขที่สามารถนำไปเปรียบเทียบ ว่าตัวเรามีการดูแลรูปร่างและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ ยังทำให้ทราบอีกด้วยว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคยอดฮิตต่าง ๆ หรือไม่ เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน

การคำนวณดัชนีมวลกาย สามารถทำได้ง่าย เพียงแค่ชั่งน้ำหนักเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงเป็นเมตร โดยใช้สูตร กิโลกรัม/เมตร (ยกกำลัง2) โดยมีเกณฑ์ของดัชนีมวลกาย ดังนี้

  • น้อยกว่า 18.5 (<5) แปลผลว่า ผอมเกินไป
  • มากกว่าหรือเท่ากับ 18.5 แต่น้อยกว่า 25 (มากกว่าหรือเท่ากับ 18.5 แต่ < 25) แปลผลว่า น้ำหนักตัวเหมาะสม
  • มากกว่าหรือเท่ากับ 25 แต่น้อยกว่า 30 (มากกว่าหรือเท่ากับ 25 แต่ < 30) แปลผลว่า น้ำหนักเกิน
  • มากกว่าหรือเท่ากับ 40 แปลผลว่า อ้วนมากและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ การประเมินค่าดัชนีมวลกายนั้น ไม่สามารถนำไปใช้ได้กับผู้ที่มีมวลกล้ามเนื้อมาก เช่น นักกีฬา นักเพาะกาย ที่มีน้ำหนักมากเกิน 100 กิโลกรัม แต่ไม่จัดอยู่ในขั้นอ้วน หรืออันตรายมาก

การวัดเส้นรอบเอว
การรู้ขนาดรอบเอวของตัวเอง สามารถใช้เป็นข้อมูลหนึ่งที่บอกถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ตลอดจนโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ฯลฯ ซึ่งขนาดเส้นรอบเอว หรือเส้นรอบพุงในคนเอเชีย ในผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้ว (90 ซม.) ส่วนเส้นรอบวงเอวในผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว (80 ซม.)

การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (ชีพจร)
ชีพจรเป็นแรงสั่นสะเทือนของกระแสเลือด เมื่อกระทบผนังหลอดเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว ทำให้ผนังของหลอดเลือดแดงขยายออกเป็นจังหวะ เราสามารถวัดชีพจรตัวเองได้ง่าย ๆ แค่ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางวางตรงตำแหน่งเส้นเลือดแดงโดยตำแหน่งที่นิยมมากที่สุด คือ บริเวณเส้นเลือดแดงที่ข้อมือด้านใน ให้กด หรือสัมผัสจนได้ความรู้สึกของการเต้นของชีพจร นับจำนวนครั้งของชีพจรใน 1 นาที หลีกเลี่ยงการใช้นิ้วหัวแม่มือทำการวัด เพราะนิ้วหัวแม่มือมีชีพจรที่เต้นแรง และควรนับชีพจรในขณะนั่งพักจากการงานอื่น ๆ ไม่เครียด ไม่ตกใจ ไม่มีไข้

ค่าปกติของชีพจรในผู้ใหญ่ปกติ จะมีความแรงและจังหวะของชีพจรที่สม่ำเสมอทุกครั้ง และควรนับได้ 60 – 100 ครั้งต่อนาที แต่อาจมีอัตราการเต้นของชีพจรลดลงในผู้สูงอายุ ถ้าหากวัดค่าชีพจรได้ไม่สม่ำเสมอ หรือค่าที่วัดได้ต่ำกว่า 60 หรือมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก ใจสั่น แน่นหน้าอก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

การตรวจสอบประวัติครอบครัว
การที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคทางกรรมพันธุ์ อาจจะทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคบางชนิดได้มากกว่าคนปกติ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นต้น จึงควรมีการสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกรรมพันธุ์ด้วย

พฤติกรรมสุขภาพของตนเอง
ในกรณีที่มีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไม่เป็นเวลา นอนดึก ทำงานเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นผลเสียต่อร่างกายเสมอ หรือทำงานในสถานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายและอุบัติเหตุ เช่น เสียงดัง ทำงานกับเครื่องจักรเป็นเวลานาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของเราไม่ช้าก็เร็ว

การประเมินสภาวะสุขภาพอื่น ๆ
เป็นการทำโดยใช้แบบประเมิน เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคหัวใจและหลอดเลือด การติดแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด การคัดกรองกระดูกพรุน การประเมินภาวะโภชนาการ การประเมินภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น การค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นอันตราย หรือเจ็บป่วยรุนแรงได้ จะช่วยให้หาทางป้องกันได้เหมาะสม

อย่าลืมว่า การมีสุขภาพดีนั้นไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์ หรือโรงพยาบาล แต่ต้องเป็นเรื่องที่เราหมั่นเอาใจใส่ดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพแล้ว เราก็ต้องรู้จักดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม อย่างต่อเนื่องด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจจะตรวจสุขภาพของตนเอง ลองทำแบบทดสอบประเมินเบื้องต้นที่ www.healthcheckup.in.th ซึ่งนอกจากจะได้รับทราบผลการประเมินเบื้องต้นแล้ว ยังมีคำแนะนำในการตรวจเพิ่มเติมสำหรับบุคลที่มีความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อีกด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข http://healthcheckup.in.th/article/19
ภาพประกอบจาก :  www.freepik.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก