ระบบไหลเวียนโลหิต (Circulatory system) เป็นเครือข่ายของหัวใจและหลอดเลือดขนาดต่าง ๆ มีหน้าที่ในการเคลื่อนย้าย เลือด สารอาหาร ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์และฮอร์โมน เข้าและออกจากเซลล์ หากไม่มีระบบนี้ ร่างกายจะไม่สามารถต่อสู้กับโรคหรือไม่สามารถรักษาสภาพร่างกาย (Homeostasis) เพื่อดำเนินชีวิตอยู่ได้
อวัยวะที่เกี่ยวข้อง
- เลือด (Blood) เลือดประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นของเหลว คือ น้ำเลือด (Plasma) กับส่วนที่ไม่เป็นของเหลว คือ เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red blood cells) เซลล์เม็ดเลือดขาว (White blood cells) และเกล็ดเลือด (Platelet)
- น้ำเลือด (Plasma) ประกอบด้วยน้ำและสารต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ สารอาหารที่ถูกย่อยแล้วรวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ ฮอร์โมนและสารอื่น ๆ ที่ละลายน้ำได้ โดยมีประมาณ 50% ของเลือดทั้งหมด น้ำเลือดทำหน้าที่ลำเลียงอาหารที่ถูกดูดซึมจากลำไส้เล็กไปสู่เซลล์ทั่วร่างกาย พร้อมกับการลำเลียงของเสียที่เป็นของเหลวจากเซลล์ เช่น ยูเรีย มาสู่ไต ซึ่งไตจะสกัดเอาสารยูเรียแล้วขับถ่ายออกมาในรูปของปัสสาวะ
- เลือดในส่วนที่ไม่เป็นของเหลว ประกอบด้วย
- เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red blood cell, Erythrocyte, RBCs) ช่วงเจริญเติบโตจะอยู่ในไขกระดูก หลังจากนั้นจะเข้าไปอยู่ในกระแสเลือด แล้วนิวเคลียสจะหายไป มีสีแดง เนื่องจากภายในมีสารฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจน จากปอดไปสู่เซลล์ทั่วร่างกาย และขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียจากเซลล์มาสู่ถุงลมในปอด เพื่อขับถ่ายออกนอกร่างกายทางลมหายใจออก ในหนึ่งไมโครลิตรจะมีเม็ดเลือดแดงอยู่ระหว่าง 4 – 6 ล้านเซลล์ โดยจะมีชีวิตอยู่ในกระแสเลือดเฉลี่ย 120 วัน หลังจากนั้นจะถูกส่งไปทำลายที่ตับและม้าม
- เซลล์เม็ดเลือดขาว (White blood cells, Leukocyte) เป็นเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคและสารแปลกปลอมต่าง ๆ เม็ดเลือดขาวมีหลายชนิด พบได้ทั่วไปในร่างกาย รวมไปถึงในเลือดและในระบบน้ำเหลือง จำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวในเลือดมักใช้เป็นข้อบ่งชี้และการดำเนินไปของโรค–
ชนิดของเม็ดเลือดขาวที่พบมากสุดคือ Neutrophils มีบทบาทในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียเชื้อรา และจุลชีพอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย เม็ดเลือดชนิดนี้เป็นเหมือนด่านแรกของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหากร่างกายได้รับเชื้อโรค ซึ่งถ้ามีการทำงานหรือเกิดการตายเกิดขึ้นจะแสดงออกมาในรูปของหนอง - เกล็ดเลือด (Platelet, Thrombocyte) เป็นส่วนของเซลล์ที่ปนอยู่ในน้ำเลือด มีหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว เวลาเกิดบาดแผลเล็ก ๆ โดยเกล็ดเลือดจะหลั่งเอนไซม์เพื่อช่วยให้เลือดแข็งตัว มีการจับตัวเป็นก้อน เพื่อขวางทางไหลของเลือดและอุดบาดแผล ทำให้เลือดหยุดไหลและลดการสูญเสียเลือด รวมถึงช่วยลดขนาดของก้อนเลือดหรือลิ่มเลือดที่อุดอยู่บริเวณปากแผล ภายหลังเมื่อเลือดหยุดไหลแล้ว
- หลอดเลือด (Blood vessels) หลอดเลือดในร่างกายคนแบ่งออกได้ 3 ประเภท
- หลอดเลือดแดง (Artery) เป็นหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจ ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย (ยกเว้น Pulmonary artery ซึ่งจะนำเลือดดำจากหัวใจไปฟอกที่ปอด) เป็นเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูง ลักษณะของหลอดเลือดแดงจะเป็นชั้นกล้ามเนื้อที่หนา มีความยืดหยุ่นมาก ไม่มีลิ้นกั้น ทนต่อแรงดันเลือดที่ถูกฉีดออกจากหัวใจ
หลอดเลือดแดงมีชื่อเรียกตามขนาดเริ่มจาก หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เอออร์ตา (Aorta) ออกจากหัวใจและอยู่ตรงส่วนกลางของลำตัว ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดแดงที่ถูกสูบฉีดออกจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผ่านทางหลอดเลือดแดงขนาดกลาง อาร์เทอรี (Artery) มีชื่อตามอวัยวะที่นำเลือดไปเลี้ยง อาทิ หลอดเลือดเลือดหัวใจ (Coronary artery) หลอดเลือดเลือดตับ (Hepatic artery) หลอดเลือดไต (Renal artery) โดยบริเวณอวัยวะที่หลอดเลือดอาร์เทอรี่ไปเลี้ยง จะพบหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก อาร์เทอริโอล (Arteriole) โดยจะเชื่อมกับหลอดเลือดแดงฝอย คาพิลลารี (Capillary) ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงที่มีผนังบางมาก และเป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ - หลอดเลือดดำ (Vein) เป็นหลอดเลือด ที่นำเลือดที่มีของเสียและคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่หัวใจ เพื่อส่งไปฟอกที่ปอด (ยกเว้น Pulmonary vein ซึ่งจะนำเลือดแดงที่ผ่านการฟอกจากปอดแล้วนำกลับเข้าสู่หัวใจ) ลักษณะของหลอดเลือดดำ มีผนังบาง มีความยืดหยุ่นน้อย มีลิ้นกั้น แรงดันภายในหลอดเลือดต่ำ หลอดเลือดดำเรียงตามขนาดจากใหญ่ไปเล็กได้เป็น หลอดเลือดดำขนาดใหญ่ เวนาคาวา (Vena cava) หลอดเลือดดำขนาดกลาง เวน (Vein) หลอดเลือดดำขนาดเล็ก เวนูล (Venule) และหลอดเลือดดำฝอย คาพิลลารี (Capillary)
- หลอดเลือดฝอย (Capillaries) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นหลอดเลือดที่เชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดง (Artery) และหลอดเลือดดำ (Vein) โดยจะแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง และอวัยวะอื่น ๆ ประกอบด้วยเซลล์เพียงชั้นเดียว โดยเป็นแหล่งที่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซ และสารต่างๆระหว่างเลือดกับเซลล์ของร่างกาย
- หลอดเลือดแดง (Artery) เป็นหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจ ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย (ยกเว้น Pulmonary artery ซึ่งจะนำเลือดดำจากหัวใจไปฟอกที่ปอด) เป็นเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูง ลักษณะของหลอดเลือดแดงจะเป็นชั้นกล้ามเนื้อที่หนา มีความยืดหยุ่นมาก ไม่มีลิ้นกั้น ทนต่อแรงดันเลือดที่ถูกฉีดออกจากหัวใจ
- หัวใจ (Heart, Cardio) มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอยู่บริเวณส่วนกลางของช่องอก ขนาบข้างด้วยปอด และมีหลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดอาหารวางอยู่ด้านหลัง ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ หัวใจจะมีน้ำหนักประมาณ 250 – 350 กรัม และมีขนาดประมาณสามในสี่ของกำปั้น หัวใจมีระบบหลอดเลือดหัวใจ (coronary system) ซึ่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง
.
หัวใจมี 4 ห้อง แบ่งออกเป็น 2 ห้องบนและ 2 ห้องล่าง หัวใจทางด้านขวา เริ่มจากหัวใจห้องบนขวา (Right atrium) รับเลือดมาจากร่างกายส่วนบนและล่าง มีลิ้นหัวใจ ไตรคัสปิด (Tricuspid valve) คั่นกับหัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) ซึ่งจะอยู่ทางด้านหน้าสุดของหัวใจ ติดกับกะบังลม ทำหน้าที่ส่งเลือดไปยังปอด ผ่านลิ้นหัวใจ พัลโมนารีเซมิลูนาร์ (pulmonary semilunar valve) และหลอดเลือดแดง พัลโมนารี (pulmonary arteries) สำหรับหัวใจทางด้านซ้าย เริ่มจากหัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) รับเลือดจากปอดผ่านทางหลอดเลือดดำ พัลโมนารี (pulmonary veins) มีลิ้นหัวใจ ไมตรัล (Mitral valve) คั่นกับหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) ซึ่งเป็นห้องหัวใจที่มีขนาดใหญ่และมีผนังหนาที่สุด ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผ่านทางลิ้นหัวใจ เอออร์ติกเซมิลูนาร์ (Aortic semilunar valve) และหลอดเลือดแดงใหญ่ เอออร์ตา (Aorta)
กล้ามเนื้อหัวใจมีคุณสมบัติที่น่าสนใจคือ สามารถกระตุ้นการทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยระบบนำไฟฟ้า (conduction system) ภายในผนังของหัวใจ
การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต
เลือดดำหรือเลือดที่มีออกซิเจนต่ำจากส่วนบนของร่างกาย จะไหลเข้าสู่หัวใจทางห้องบนขวา (Right atrium) หลังจากนั้นจะมีการบีบตัวส่งเลือดผ่านลิ้นหัวใจ (Tricuspid valve) ลงสู่หัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) และบีบตัวส่งเลือดผ่านลิ้นหัวใจ (Pulmonary valve) เข้าสู่หลอดเลือดแดงปอด (Pulmonary arteries) เพื่อส่งเลือดไปยังปอด ที่ปอด เลือดดำจะผ่านเข้าไปในเส้นเลือดฝอยรอบ ๆ ถุงลมปอด (Alveoli) แล้วส่งผ่านคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับถุงลมปอด พร้อมรับออกซิเจนเข้ามาแทน เป็นผลให้เลือดดำกลายเป็นเลือดแดง หรือเลือดที่มีออกซิเจนสูง หลังจากนั้นจะไหลออกจากปอด ผ่านหลอดเลือดดำปอด (Pulmonary veins) กลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) ซึ่งมีขนาดเล็กและอยู่หน้าสุด ไหลต่อผ่านลิ้นหัวใจ (Mitral valve) ลงมายังหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) เพื่อบีบเลือดผ่านลิ้นหัวใจ (Aortic valve) และหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เอออร์ต้า (Aorta) ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
โรคระบบไหลเวียนโลหิตที่พบบ่อย
- โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากการเกาะของคราบไขมัน (Plaque) ในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวขึ้น หลอดเลือดตีบแคบลง จนทำให้เลือดซึ่งนำออกซิเจนไหลผ่านได้น้อยลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ ขาดเลือดด้วย
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ มีทั้งแบบที่เป็นตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ โดยที่พบบ่อยจะเป็น โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการโดยไม่ทราบสาเหตุ ชนิดที่หัวใจขยายตัวโตขึ้นและบีบตัวได้ไม่ดี (Dilated Cardiomyopathy) มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่พอ นอกจากนั้นไวรัสหลายชนิดยังสามารถทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
- โรคลิ้นหัวใจ เป็นโรคที่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ ทั้งลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ การทำงานของหัวใจผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจมีทั้งที่เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
- โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงใหญ่ของร่างกาย โดยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการแสดงมาก่อน แต่อาจตรวจพบโดยบังเอิญ เช่น การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ทรวงอก หรือการคลำก้อนได้ในช่องท้อง ทั้งนี้หากหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองกำลังปริแตก หรือแตกแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราตายที่สูง
- โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยวัดความดันโลหิตได้สูงตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท ขึ้นไป แบ่งเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบได้ 90 – 95% และชนิดทราบสาเหตุ 5 – 10%
เรียบเรียงข้อมูลโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.livescience.com www.hematology.org th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก: www.shutterstock.com