Health4senior

ระบบกล้ามเนื้อ (Muscular system)

โดยพื้นฐานแล้วกล้ามเนื้อเชื่อมโยงกับความแข็งแรงของร่างกาย โดยช่วยคงรูปร่างท่าทาง ยึดข้อต่อต่าง ๆ เข้าไว้ และช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ควบคุมการเดิน พูด นั่ง ยืน รับประทานอาหารและกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ รวมถึงการยิ้มและการแสดงออกทางสีหน้า ดวงตา นอกจากนี้กล้ามเนื้อยังช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายดำเนินไปได้ เช่น การเต้นของหัวใจ การบีบตัวของเส้นเลือด กระเพาะอาหาร ลำไส้ การทำงานของปอด เป็นต้น  

 

ชนิดของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อในร่างกาย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้
  1. กล้ามเนื้อลายหรือกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeleton muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานอยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ (Voluntary muscle) ควบคุมโดยระบบประสาทส่วนกลาง เป็นกล้ามเนื้อที่มีมากที่สุดในร่างกาย กล้ามเนื้อลายจะเกาะอยู่กับกระดูก และมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเซลล์ของกล้ามเนื้อลายจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีหลายนิวเคลียส และมีลายตามขวาง เรียกเส้นใยกล้ามเนื้อ (Muscle fiber) และหลาย ๆ เส้นใยกล้ามเนื้อรวมกันเป็นมัดกล้ามเนื้อ หลาย ๆ มัดกล้ามเนื้อขนาดเล็กรวมกันเป็นมัดกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ แต่ละเซลล์ของกล้ามเนื้อลายจะมีปลายประสาทมาเลี้ยง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหดตัว เมื่อต้องการใช้งาน
  2. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานนอกอำนาจจิตใจ (Non-voluntary muscle) พบที่อวัยวะภายในของร่างกาย เช่น หลอดอาหาร หลอดเลือด ลำไส้ เซลล์มีนิวเคลียสเดียว และไม่มีลายตามขวาง ที่เยื่อหุ้มเซลล์จะมีบริเวณที่ถ่ายทอดกระแสประสาทไปยังเซลล์ข้างเคียง การหดตัวของกล้ามเนื้อประเภทนี้จะถูกควบคุม โดยระบบประสาทอัตโนมัติ ดังนั้นกล้ามเนื้อประเภทนี้จึงไม่มีปลายประสาทไปเลี้ยงทุกเซลล์ ยกเว้นบางอวัยวะภายใน
  3. กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานนอกอำนาจจิตใจ (Non-voluntary muscle) ถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจะมีลักษณะเป็นลายพาดขวาง และมีหลายนิวเคลียสเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อลาย
.

การทำงานของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อโครงร่างจะมีปลาย 2 ข้างยึดเกาะกับกระดูก ข้างที่เกาะกับกระดูกส่วนใกล้ลำตัวเรียก จุดเกาะต้น ส่วนที่อยู่ปลายอีกด้านเรียก จุดเกาะปลาย โดยส่วนที่เกาะกับกระดูก จะมีลักษณะเป็นเอ็นสีขาวเรียก เอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon) ทั้งนี้การทำงานของกล้ามเนื้อจะประสานในทิศทางตรงกันข้ามเป็นคู่ ๆ (Antagonism) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสมองสั่งให้เรางอแขน กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์ (Biceps muscle) จะหดตัว และกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์ (Triceps muscle) จะคลายตัว กรณีที่เราเหยียดแขน กล้ามเนื้อไบเซ็ปส์จะคลายตัว และกล้ามเนื้อไตรเซ็ปส์จะเปลี่ยนมาหดตัว เป็นต้น ปกติแล้วกล้ามเนื้อสามารถหดตัวได้ราว 1 ใน 3 ของความยาวปกติ ยิ่งมีการหดตัวมาก กล้ามเนื้อก็ยิ่งแข็งและหนาขึ้น

 

โรคระบบกล้ามเนื้อที่พบบ่อย

โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคปวดกล้ามเนื้อ โรคกล้ามเนื้อเสื่อม เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ
  • โรคกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นภาวะอักเสบที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อและเส้นใยกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและล้า ภายหลังการเดินหรือยืนเป็นเวลานาน อาการเจ็บและบวมที่กล้ามเนื้ออาจเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ หรือเป็นอาการเรื้อรัง ทั้งนี้สาเหตุอาจมาจากการติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาก็ได้
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ยิ้มได้น้อยลง หายใจลำบาก มีปัญหาการพูด การเคี้ยว การกลืน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดนี้ เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย การรักษาในปัจจุบันเน้นการบรรเทาอาการ
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง จากไขสันหลังและสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติกับการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง จึงไม่ใช่โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อโดยตรง
  • โรคปวดกล้ามเนื้อ เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการปวดของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายแบบเรื้อรัง ร่วมกับอาการอ่อนล้า มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ปัญหาจิตใจและอารมณ์ อาการของโรคมักจะเกิดหลังได้รับบาดเจ็บ การผ่าตัด การติดเชื้อ หรือได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นสตรี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุ แต่เชื่อว่ามีความผิดปกติในระบบประสาทส่วนกลาง
  • โรคกล้ามเนื้อเสื่อม เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิด โดยมีความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อลายค่อย ๆ เสื่อมสภาพ และอ่อนแรงลง เมื่ออายุมากขึ้น ผู้ป่วยมักเป็นเพศชาย
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นการบวมเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูกเข้าไว้ด้วยกัน เอ็นกล้ามเนื้อจะมีการหดเกร็งทุกครั้งที่กล้ามเนื้อหรือข้อต่อต่าง ๆ มีการขยับเขยื่อน ดังนั้น สาเหตุของการอักเสบ จึงมักเกิดจากการใช้งานอวัยวะส่วนนั้นหนักหรือการได้รับบาดเจ็บซ้ำ ๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า เข่า หัวไหล่ ข้อศอก สะโพก

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.innerbody.com  www.britannica.com  th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก : www.shutterstock.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก