หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า ฮอร์โมนกันมาบ่อยแล้ว วันนี้เรามาดูกันว่า ฮอร์โมนคืออะไร และมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร ฮอร์โมนที่ควรรู้จักในชีวิตประจำวันมีตัวไหนบ้าง
ฮอร์โมนและหน้าที่
- การเร่งการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระดับเซลล์ เนื้อเยื่อไปจนถึงอวัยวะ เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย พัฒนาการทางเพศ การเจริญพันธุ์ เป็นต้น
- การช่วยควบคุมและรักษาสมดุลของภาวะต่าง ๆ ในร่างกาย ให้คงที่ เช่น การรักษาอุณหภูมิ ความดันเลือด ความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ความเป็นกรดเป็นด่าง ความเข้มข้นของสารต่าง ๆ ภายในร่างกาย เป็นต้น
- การควบคุมอาการกระหายน้ำ ควบคุมอารมณ์และความจำ ตลอดจนการช่วยในการรักษาโรคบางโรค
โดยสรุปคือ เพื่อให้ระบบในร่างกาย ทำงานได้เป็นปกติ ตามเพศและวัยของแต่ละบุคคล
ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
จากการที่ฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของทุกระบบในร่างกาย การมีฮอร์โมนในระดับที่เหมาะสมจะทำให้การทำหน้าที่ของอวัยวะในทุกระบบเป็นไปอย่างราบรื่น สอดคล้องกับวัย แม้กระนั้นการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในภาวะปกติ อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก เช่น เพศหญิง จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายและจิตใจ ในช่วงก่อนมี ขณะมี และหลังการมีประจำเดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ขณะที่เพศชาย การเปลี่ยนแปลงของระดับฮออร์โมนเทสโทสเตอโรน จะทำให้หลายคนรู้สึกเหนื่อย ขาดความกระตือรือร้น หงุดหงิด เบื่อง่าย นอนไม่หลับ ในรายที่มีความบกพร่องของฮอร์โมน จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้นได้ เช่น โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น ที่เกิดจากความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน โรคไทรอยด์ เกิดความปรวนแปร ทั้งร่างกาย จิตใจและสมองโดยเฉพาะระบบประสาทอัตโนมัติ เกิดจากความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน
ฮอร์โมนที่ควรรู้
- อะดรีนาลิน (Adrenaline) หรืออิพีเนฟฟริน (Epinephrine) สร้างจากต่อมหมวกไต เวลาที่ตกใจ ตื่นเต้นหรือกลัวมาก ๆ ฮอร์โมนนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนและกลูโคสไปยังสมองและกล้ามเนื้อ โดยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ การขยายตัวของหลอดเลือด และเร่งปฏิกิริยาในการเปลี่ยนไกลโคเจนในตับ ให้กลายเป็นกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด กลไกดังกล่าวเพื่อให้ร่างกาย ตื่นตัว มีกำลังและความพร้อมต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
- คอร์ติซอล (Cortisol) สร้างจากต่อมหมวกไต จัดเป็นฮอร์โมนที่มีความจำเป็น (Essential Hormone) เพื่อตอบสนองต่อความเครียด รวมถึงมีบทบาทต่อกระบวนการอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ลดการอักเสบ เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมระดับอินซูลินในเลือด ควบคุมสารน้ำภายในร่างกาย โดยเป็นการช่วยให้ร่างกายกลับสู่สมดุล อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเครียดมาก ๆ ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามาก ๆ ส่งผลไปกระตุ้นร่างกายให้รู้สึกหิว อยากทานอาหารที่ให้พลังงานสูงมากขึ้น เพื่อชดเชยพลังงานที่สูญเสียไปกับความเครียด ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มในการเป็นโรคอ้วน
- โดพามีน (Dopamine) เป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยส่งสัญญาณภายในสมอง โดยจัดเป็นฮอร์โมนกลุ่ม catecholamine มีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรม ความรู้ ความเข้าใจและการเคลื่อนไหวโดยสมัครใจ ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต มีบทบาทสำคัญในคุณลักษณะทางจิตวิทยา เช่นแรงจูงใจ การลงโทษ การให้รางวัล ความสุข การรับรู้ ความจำ การเรียนรู้ เมื่อโดพามีนที่หลั่งออกมาจะทำให้ร่างกายตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิ และไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น มีการนิยามให้โดพามีนเป็นสารเคมีแห่งรัก
- เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ผลิตจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า และสมองส่วนไฮโปธาลามัส เป็นสารที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ทำหน้าที่ระงับความเจ็บปวด เสมือนยาระงับปวดตามธรรมชาติ นอกจากนั้นเอ็นดอร์ฟินยังเป็นสารเพิ่มความตื่นตัว ความมีชีวิตชีวาและมีความสุข สารนี้จะหลั่งเมื่อเราออกกำลังกาย ได้รับแสงแดดเหมาะสม มีงานวิจัยพบว่าการหัวเราะ การยิ้มมีความสุข จะช่วยให้สมองสร้างสารเอ็นดอร์ฟินเพิ่มขึ้น มีการนิยามให้เอ็นดอร์ฟินเป็นสารเคมีสารแห่งความสุข
- เอสโตรเจน (Estrogen) ผลิตจากรังไข่ ส่งผลต่อรูปร่าง นิสัยและอารมณ์ของเพศหญิง โดยทำให้มีหน้าอก เต้านมเต่งตึง สะโพกผาย ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีอารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลาตามรอบของประจำเดือน นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างเซลล์ ซ่อมแซมระบบสืบพันธุ์ รักษาสภาพผนังช่องคลอด ควบคุมเมือกในช่องคลอด ทำให้ไข่ในรังไข่เจริญเติบโต ควบคุมการตกไข่ กระตุ้นการหนาตัวของเยื่อบุผนังมดลูกชั้นใน รองรับการปฏิสนธิร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
- โกรท ฮอร์โมน (Growth hormone) ผลิตจากต่อมใต้สมอง เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการเจริญและเพิ่มความยาวของกระดูก โดยการเก็บรักษาแคลเซียม กระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนทำให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่ม กระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ๆให้กับอวัยวะภายในที่มีการสึกหรอ รวมถึงการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการสลายไขมันและไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงควบคุมการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด มีการนิยามโกรท ฮอร์โมน ให้เป็นสารเคมีต้านความชรา
- อินซูลิน (Insulin) ผลิตจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และยังมีบทบาทต่อการเผาผลาญไขมัน ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด โดยเร่งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส (Glucose) จากกระแสเลือด เข้าสู่ตับ กล้ามเนื้อลายและเนื้อเยื่อไขมัน โดยตับจะเก็บกลูโคสไว้ในรูปของไกลโคเจน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ตับจะเปลี่ยนจากไกลโคเจนกลับมาเป็นกลูโคส เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือด อินซูลินมีผลกระทบต่อเซลล์เกือบทุกชนิดในร่างกาย
- เมลาโทนิน (Melatonin) ผลิตจากต่อมไพเนียล มีกลไกในการทำงานขึ้นอยู่กับแสงสว่าง และอุณหภูมิ โดยในเวลากลางคืนต่อมนี้จะหลั่งเมลาโทนินเข้าสู่กระแสเลือด ส่งสัญญาณให้ร่างกาย รู้ว่าเป็นเวลาพักผ่อน ร่างกายจะผ่อนคลาย อุณหภูมิร่างกาย ลดลง พร้อมที่จะนอนหลับ เมลาโทนินมีส่วนสำคัญในการควบคุมระบบนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ ทั้งนี้ฮอร์โมนดังกล่าวจะมีอยู่ในร่างกายสูงในตอนกลางคืน และจะคงอยู่ในกระแสเลือดประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะลดปริมาณลงในตอนเช้า
- โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ผลิตจากรังไข่หลังจากที่มีการตกไข่ เปรียบเสมือนฮอร์โมนสำหรับการตั้งครรภ์โดยทำงานร่วมกันกับเอสโตรเจน ในการช่วยกระตุ้นให้เยื่อบุผนังมดลูกชั้นในหนาตัวขึ้น เพื่อรองรับการตั้งครรภ์ โดยกรณีที่มีการตั้งครรภ์ โปรเจสเตอโรนจะช่วยปรับสภาพเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมกับการฝังตัว ช่วยสะสมไขมัน เพื่อให้มีพลังงานและสารอาหาร ช่วยทำให้ร่างกายพร้อมสำหรับการมีบุตร ในกรณีที่ไม่มีการตั้งครรภ์ โปรเจสเตอโรนก็จะไปสลายเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาขึ้น ให้หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนออกมาไปจนถึงอายุ 50 ปีปลาย ๆ จากนั้น ฮอร์โมนจะเริ่มผลิตน้อยลง เข้าสู่ภาวะวัยทอง
- เซโรโทนิน (Serotonin) ประมาณ 80 – 90% จะถูกสร้างและอยู่ที่ทางเดินอาหาร ที่เหลือจะพบที่ระบบประสาทส่วนกลาง โดยเซโรโทนินมีหน้าที่แตกต่างกันในแต่ละอวัยวะ เช่น พบที่ทางเดินอาหารจะมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะอาหาร การเคลื่อนไหวของลำไส้ กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย พบที่สมอง มีหน้าที่ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึก ไม่ให้แปรปรวน ควบคุมวงจรการนอนหลับ อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต การหลั่งฮอร์โมน การรับรู้ความเจ็บปวด ฯลฯ เป็นเหมือนกับระบบเข็มนาฬิกาของสมอง มีการให้นิยามของเซโรโทนิน เป็นสารเคมีแห่งความสงบ
- เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ผลิตจากลูกอัณฑะ เป็นฮอร์โมนหลักที่ช่วยกระตุ้นลักษณะความเป็นชาย ทำให้ผู้ชายมีรูปร่างลักษณะ อารมณ์ นิสัย แตกต่างไปจากผู้หญิง เช่น การมีเสียงทุ้มใหญ่ มีหนวดเครา ขนตามร่างกาย มีกล้ามเนื้อ กระดูกที่ใหญ่และแข็งแรง รวมถึงมีการสร้างอสุจิ ในส่วนของนิสัย ทำให้ผู้ชายมีนิสัยชอบแข่งขัน ชอบเอาชนะ ชอบความท้าทาย มีความสนใจในเรื่องเพศมากกว่าผู้หญิง
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.bodytomy.com th.wikipedia.org haamor.com www.bangkokhealth.com www.vcharkarn.com
ภาพประกอบจาก: www.pixabay.com