Health4senior

โรคติดเชื้อ

โรคติดเชื้อ (Infectious disease) พบได้บ่อยที่สุดในจำนวนโรคทั้งหมด เป็นความผิดปกติที่เกิดจากจุลชีพก่อโรคหรือเชื้อโรค (Pathogen) เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราหรือปรสิต ทั้งนี้ยังมีจุลชีพจำนวนมากอาศัยอยู่ในร่างกายของเรา โดยไม่ก่อให้เกิดโรคและเป็นประโยชน์ เรียก จุลชีพไม่ก่อโรค (Non pathogen) แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือในบางสภาวะ จุลชีพดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดโรคได้

โรคติดเชื้อสามารถส่งผ่านจากผู้ป่วยไปสู่คนปกติได้ในหลายช่องทาง เช่น การหายใจ การสัมผัส การกินอาหารปนเปื้อน ถูกสัตว์ที่เป็นพาหะกัด เป็นต้น จึงเรียกได้อีกชื่อว่า “โรคติดต่อ” (Transmissible disease หรือ Communicable disease)

 

อาการ

อาการที่พบบ่อย โรคติดเชื้อแต่ละชนิดมีอาการและอาการแสดงเฉพาะเจาะจง โดยอาการที่พบบ่อย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอ นอกนั้นจะเป็นอาการเฉพาะขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อกับอวัยวะในระบบใด เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อาการท้องเสีย ปวดท้อง อาจมีอุจจาระเป็นเลือด เมื่อเป็นการติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร อาการปัสสาวะแสบ ขัด บ่อย และอาจมีปัสสาวะเป็นเลือด เมื่อเป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ อาการตกขาวผิดปกติ หรือมีแผล หนอง ที่อวัยวะเพศ อาจเป็นการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์  การติดเชื้อที่ไม่รุนแรงอาจช่วยด้วยการพักผ่อนและการรักษาตามอาการอยู่กับบ้านได้ ในกรณีติดเชื้อรุนแรงหรือมีอาการดังนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที เช่น มีปัญหาในการหายใจ มีอาการไอนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ มีอาการปวดศีรษะรุนแรงมีไข้ พบผื่นหรือบวม มีไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้เป็นเวลานาน มีปัญหาในการมองเห็นฉับพลัน

 

สาเหตุ

จุลชีพก่อโรคหรือเชื้อโรค (Pathogen) เข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดโรคติดเชื้อหรือโรคติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมหลายช่องทาง ได้แก่
  • การสัมผัสเชื้อโรคทางตรง อาทิ การสัมผัสทางผิวหนังกับผู้ติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่เกี่ยวกับไวรัส เช่น โรคอีสุกอีใส โรคกลาก การหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่เกี่ยวกับระบบหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น สัมผัสเสมหะสามารถทำให้เกิดวัณโรค การสัมผัสสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือน้ำอสุจิสามารถทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี รวมทั้งการได้รับเชื้อโรคจากสัตว์กัด สามารถทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดนก เป็นต้น และ
  • การสัมผัสเชื้อโรคทางอ้อม เนื่องจากเชื้อโรคบางชนิด สามารถอยู่ภายนอกร่างกายสิ่งมีชีวิตได้ในระยะเวลาหนึ่ง โดยอยู่ตามสภาพแวดล้อม เช่น ราวบันได ลูกบิด เสื้อผ้า ตุ๊กตา ผ้าห่ม รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ของผู้ติดเชื้อ ทำให้เมื่อคนไปสัมผัส เช่น มือไปโดนแล้วมาสัมผัสจมูก ปากหรือดวงตา จะสามารถรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้อีกทาง

ปัจจัยเสี่ยง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความไม่สะอาดของสภาพแวดล้อม โดยผู้ที่อาศัยในแหล่งชุมชนที่มีอาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภคที่ไม่สะอาด มีการใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่นจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ รวมถึงผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สตรีมีครรภ์ ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาที่มีผลกดภูมิในผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็งชนิดที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยเบื้องต้นสามารถทำได้โดย การซักประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ การตรวจดูรอยโรค โดยอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสี โดยการถ่ายเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาตำแหน่งของอวัยวะที่สงสัยว่าติดเชื้อ รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรค ตัวอย่างการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจเชื้อจากคอหรือจมูก การตรวจน้ำไขสันหลัง การเก็บตัวอย่างอุจจาระ และแพทย์อาจพิจารณาการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยเพื่อส่งตรวจได้อีกด้วย

 

การรักษา

โรคติดเชื้อชนิดไม่รุนแรง สามารถรักษาตามอาการได้ แต่ในกรณีที่เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต หรือผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ทันที โดยภายหลังจากทราบถึงชนิดของเชื้อ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยให้ยาเพื่อกำจัดหรือต้านเชื้อโรคในร่างกายเป็นหลัก เช่น
  • ยาปฏิชีวนะในกรณีที่ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้แบคทีเรียและยาปฏิชีวนะมีหลากหลายชนิด โดยจะมีผลในการรักษาต่อเมื่อเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่สอดคล้องกับเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะจึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร การซื้อยาทานเอง อาจได้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ตรงกับเชื้อที่อยู่ในร่างกาย หรืออาจทานไม่ครบปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาและโรคไม่หายได้
  • ยาต้านไวรัสในกรณีที่ร่างกายติดเชื้อไวรัสชนิดที่มียาต้าน ทั้งนี้การรักษาโดยทั่วไป จะเป็นการรักษาตามอาการ เนื่องจากร่างกายจะสร้างภูมิต้านโรคขึ้นมากำจัดไวรัสได้เอง โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาต้านไวรัสในกรณีโรครุนแรง หรือเมื่อเป็นการติดเชื้อของผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ
  • ยาต้านเชื้อราในกรณีที่ร่างกายติดเชื้อรา มีทั้งชนิดที่เป็นยาภายนอก (Topical antifungal drug) เพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังหรือเล็บ ชนิดกินเพื่อรักษาการติดเชื้อราบางชนิดที่มีผลต่อปอดหรือเยื่อเมือก หรือชนิดฉีดเพื่อรักษาการติดเชื้อราอวัยวะภายใน โดยเฉพาะกับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • ยาต้านปรสิต ปรสิตบางชนิด เช่น โปรโตซัวที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย จะมียาต้านเชื้อมาลาเรียอยู่หลายชนิด ทั้งนี้ แพทย์จะต้องพิจารณาถึงเรื่องการดื้อยา ในการพิจารณาใช้ยาให้เหมาะสมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน โรคติดเชื้อส่วนใหญ่มีภาวะแทรกซ้อนไม่มาก ยกเว้นโรคติดเชื้อรุนแรงบางชนิด เช่น โรคปอดบวม โรคเอดส์ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้การติดเชื้อบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ เช่น เชื้อ Papillomavirus เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก เชื้อ Helicobacter pylori เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและแผลในกระเพาะอาหาร เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับ รวมทั้งเชื้อโรคบางชนิดที่สามารถกลับมาทำให้ผู้ป่วยคนเดิมป่วยใหม่ได้แม้จะผ่านไปเป็นเวลานาน เช่น เชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใสสามารถอยู่ในตัวผู้ป่วยเวลานานเป็น 10 ปี ก่อนกลับมาทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคงูสวัด และบางรายเสียชีวิตได้

 

ข้อแนะนำและการป้องกัน

เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง เช่น การสัมผัสทางผิวหนัง การหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศ การกินอาหารหรือน้ำปนเปื้อน การถูกสัตว์กัด การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงควรทำตามข้อแนะนำดังนี้
  • ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนและหลังการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำ อย่าแตะต้องตาจมูกหรือปากด้วยมือ เนื่องจากเป็นช่องทางหลักที่เชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นวิธีที่สามารถลดโอกาสในการเกิดโรคได้อย่างมาก
  • กรณีที่ป่วยควรพักรักษาตามอาการอยู่กับบ้าน หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่แออัด เช่นเดียวกับบุตรหลานกรณีที่ป่วยควรอยู่กับบ้าน ไม่ควรไปโรงเรียน
  • ดูแลขั้นตอนในการเตรียมอาหารให้สะอาดและปลอดภัย เช่น ความสะอาดอุปกรณ์ครัว ภาชนะบรรจุ การเก็บอาหารทั้งก่อนและหลังทำเสร็จ รวมถึงการปรุงอาหารให้สุกซึ่งอาจต้องใช้อุณหภูมิที่แตกต่างกันตามประเภทของอาหาร
  • มีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย เช่น ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องอุปโภคบริโภคร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน หวี มีดโกน แก้วน้ำ รวมถึงจานชามในกรณีที่ไม่มั่นใจในความสะอาด
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนพิเศษ ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น วัคซีนไข้เหลือง วัคซีนอหิวาตกโรค วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ หรือ บี วัคซีนไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น

 

แหล่งที่มา
  1. www.mayoclinic.org
  2. www.haamor.com

ภาพประกอบจาก : www.freepik.com

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก