โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีสาเหตุมาจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีความสำคัญกับร่างกาย คือ ถ้าเรารับประทานอาหารเข้าไปเมื่อมีการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส แล้วจะมีอินซูลินเป็นตัวนำน้ำตาลกลูโคสเข้าไปสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานใช้ในการดำเนินชีวิต แต่เมื่อร่างกายขาดอินซูลิน หรือการออกฤทธิ์ไม่ดีร่างกายก็ไม่สามารถใช้น้ำตาลที่เกิดจากการกินอาหารเข้าไปได้ ส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือดสูง และเกิดโรคเบาหวานตามมา การตรวจเบาหวานแพทย์แผนปัจจุบันจะใช้วิธีเจาะเลือด
อาการที่มักเกิดกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ
- มีการปัสสาวะบ่อยในเวลาดึก เนื่องจากมีน้ำตาลในเลือดมากจึงมีการปัสสาวะบ่อย ทำให้สูญเสียน้ำในร่างกายตามมา ทำให้หิวน้ำบ่อย และปัสสาวะมีมดมาตอมด้วย
- มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้ จะมีการย่อยสลายส่วนที่เป็นโปรตีนออกมา
- กินเก่ง หิวเก่ง และมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น คันตามผิวหนัง ถ้าแผลมีการติดเชื้อจะหายยาก
- ตามีอาการพร่ามัว และอาจมีอาการอาเจียน หรือชาตามร่างกายร่วมด้วย
- เพ็ญโฉม พึ่งวิชา, 2530 ศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของรากเตยหอมในหนูที่เป็นเบาหวาน พบว่า ถ้าหนูเป็นเบาหวานปานกลาง เมื่อให้น้ำสกัดรากเตยหอมในขนาด 2 และ 4 กรัม/กก.น้ำหนักหนู ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยออกฤทธิ์หลังป้อนยา 1 ชั่วโมง และคงฤทธิ์อยู่นานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง และถ้าหนูเป็นเบาหวานรุนแรงจะออกฤทธิ์หลังป้อนยา 2 – 3 ชั่วโมง ด้วยน้ำสกัดรากเตยหอม 4 กรัม/กก.น้ำหนักหนู
- วิฑิต อรรถเวชกุล และชูสิทธิ์ พาณิชวิทิตกุล, 2522 ศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของต้นไมยราบ พบว่า น้ำสกัดจากไมยราบ ขนาด 20 กรัม ต่อกระต่าย 1 ตัว จะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลได้เท่ากับ Tolbutamide ขนาด 100 มก./กก.น้ำหนักกระต่าย และยาเริ่มออกฤทธิ์ 1 ชั่วโมง หลังได้รับยาและฤทธิ์สูงสุดในชั่วโมงที่ 5 ระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุด 51.3 % ระยะเวลาที่ออกฤทธิ์มากกว่า 5 ชั่วโมง
- ถวัลย์ จรดล และบัณฑิต ธีราทร, 2541 ศึกษาฤทธิ์รักษาโรคเบาหวานของผักตำลึง พบว่า น้ำยาสกัดตำลึงสามารถออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดเช่นเดียวกับ Tolbutamide แต่มีฤทธิ์ประมาณครึ่งหนึ่งของยาชนิดนี้ จะออกฤทธิ์หลังได้รับยา 1 ชั่วโมง และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดนี้มีอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง