หญ้าปักกิ่ง หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หญ้าเทวดา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Murdannia loriformis (Hassk.) Rolla Rao et Kammathy จัดอยู่ในวงศ์ Commelinaceae ในด้านสรรพคุณทางยาจากข้อมูลยืนยันทางด้านวิทยาศาสตร์ พบว่า ในน้ำคั้นสดหญ้าปักกิ่งมีสารกลัยโคสฟิงโกไลปิดส์ (จี1บี) ที่มีชื่อทางเคมีว่า 1B-O-D-glucopyranosy 1-2-(2,-hydroy-6,-ene-cosamide)-sphingosine(G1b) ซึ่งเมื่อนำไปทดลองทางห้องปฏิบัติการจะแสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งไม่ให้เซลล์มะเร็งก่อกลายพันธุ์และรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
นอกจากนี้ ยังต้านการก่อกลายพันธุ์ของยีนที่เกิดจากสารก่อกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ได้ ซึ่งการออกฤทธิ์ดังกล่าวไม่แสดงถึงการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาด และเมื่อแพทย์แผนปัจจุบันได้นำมาร่วมกับการรักษาก็พบว่า มีผลในด้านของการลดความรุนแรงของโรค ลดอาการข้างเคียงจากการใช้รังสีบำบัด หรือเคมีบำบัด และการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็ง นอกจากนั้น ในคนที่มีภาวะร่างกายปกติก็สามารถรับประทาน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้ ในขณะสภาวะร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นไข้
การนำหญ้าปักกิ่งมาให้ประโยชน์ทางยา ควรมีข้อควรพึงระวัง คือ
- เราต้องรู้จักต้นของหญ้าปักกิ่งจริง ๆ เพราะหญ้าปักกิ่งเป็นพืชล้มลุก อาจเกิดร่วมกับหญ้าชนิดอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันได้ เช่น หญ้ามาเลเซีย ลักษณะทั่วไปที่สามารถสังเกตได้ คือ ใบจะอวบน้ำกว่า ใบนุ่ม หลังใบมีขนอ่อน ๆ โคนต้นทรงกระบอก สีออกขาว ดอกออกเป็นช่อที่ยอด รวมกันเป็นกระจุกแน่น กลีบดอกสีฟ้า หรือสีม่วงอ่อน ส่วนที่เก็บมาปรุงเป็นยา คือ ทั้งต้น หรือส่วนเหนือดิน (ลำต้นและใบ)
- ระยะเวลาในการเก็บที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้ให้หญ้าปักกิ่งมีการสร้างสารจี1บีครบ คือ ถ้าปลูกด้วยการชำกิ่งต้องเก็บเมื่อหญ้าปักกิ่งมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป และถ้าปลูกด้วยเมล็ดต้องมีอายุ 5 เดือนขึ้นไป
- ก่อนนำมาคั้นเอาน้ำ ควรมีการล้างให้สะอาดปราศจากการเจือปนของดิน และสารอื่น นอกจากนั้น การปลูกหญ้าปักกิ่งที่ถูกหลักจึงไม่ควรใช้สารเคมีอื่น ๆ เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารกำจัดวัชพืช
- ปริมาณในการดื่ม คือ ดื่มครั้งละ 30 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ก่อนอาหาร ซึ่งขนาดที่แนะนำเหมาะสำหรับผู้ใหญ่น้ำหนักเฉลี่ย 60 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นเด็กก็ควรลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง
- ระยะเวลาของการรับประทาน ควรรับประทานเป็นรอบ โดยรับประทาน 7 วันแล้วหยุด 4 วันสลับกันไป แล้วจึงรับประทานรอบใหม่ ระยะเวลาก็ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการใช้ยา คือ
- กรณีเสริมภูมิต้านทานในผู้ป่วยร่างกายปกติไม่ได้เป็นมะเร็ง ไม่ควรเกิน 6 – 8 สัปดาห์
- กรณีลดผลข้างเคียงจากรังสีบำบัด หรือเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็ง การรับประทานยาควรหยุดเป็นช่วง ๆ เพื่อให้ร่างกายปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน
- กรณีป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และการกลับเป็นซ้ำ ควรทานติดต่อกันประมาณ 1 ปี พร้อมทั้งตรวจมะเร็งปีละ 2 ครั้ง
ข้อควรระวัง อย่าใช้เกินขนาดและติดต่อกันนานหลายปี เพราะจะส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้
ภาพประกอบจาก: th.wikipedia.org