ฝ้า เป็นปัญหาทางผิวหนังที่พบได้บ่อย มีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลเข้ม ส่วนมากจะขึ้นที่บริเวณใบหน้าส่วนที่ถูกแสงแดดมาก ๆ เช่น หน้าผาก โหนกแก้มทั้งสองข้างและดั้งจมูก นอกจากนี้ อาจพบได้ที่คอ และแขนด้านนอก มักเป็น 2 ข้างเท่า ๆ กัน บางคนอาจมีรอยดำที่หัวนม รักแร้ ขาหนีบ หรืออวัยวะเพศร่วมด้วย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในระหว่างตั้งครรภ์และในวัย 30 – 40 ปีขึ้นไป
ประเภทของฝ้ามี 2 ชนิด คือ
- แบบตื้น (Superficial type) ลักษณะเป็นสีน้ำตาลขอบชัด ขึ้นเร็ว หายเร็ว รักษาโดยการใช้ยาทาฝ้าอ่อน ๆ และยากันแดด
- แบบลึก (Deep type) ลักษณะเป็นสีม่วง ๆ อมน้ำเงิน ขอบเขตไม่ชัดเจน ไม่หายขาด การทายาฝ้าอ่อน ๆ และยากันแดดพอทำให้ดีขึ้นได้
การรักษาฝ้าด้วยสมุนไพร
- ว่านหางจระเข้ ช่วยลดการอักเสบเนื่องจากแดด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดฝ้า
- ขมิ้นชัน และขมิ้นอ้อย ช่วยบำรุงผิวให้สดใส ลดริ้วรอย รักษาโรคผิวหนัง แก้ผิวหนังอักเสบ ฟื้นฟูสภาพผิว
- ว่านสากเหล็ก ช่วยทำให้ผิวขาวสดใส กัดฝ้า ควรใช้แต่พอดีเพื่อความเหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละท่าน
- แตงกวา แก้หน้าเป็นฝ้า โดยหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ใช้แปะไว้ให้ทั่วใบหน้า
- หัวไชเท้า หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ถูบริเวณที่เป็นฝ้า เช้าและเย็นวันละ 2 ครั้ง ช่วยแก้หน้าเป็นฝ้าได้
- แครอท ช่วยบำรุงผิว มีคุณสมบัติในการช่วยดูดซับแสง UV และกระชับรูขุมขน
- ไพล แก้ผิวหนังอักเสบ บำรุงผิว
อย่างไรก็ตาม ฝ้าเป็นสิ่งที่รักษาให้หายจนผิวเนียนเรียบเสมอกันไม่ได้ แต่ทำให้ผิวค่อย ๆ จางลงจนเกือบเป็นปกติได้ วิธีที่ดีที่สุด คือ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฝ้า ที่สำคัญ คือ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด อย่าถูกแดดมาก (เวลาออกกลางแจ้ง ควรใส่หมวก หรือกางร่ม) ควรหลบแสงไฟแรง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมและเครื่องสำอาง พักผ่อนให้เพียงพอและอย่าให้อารมณ์เครียด
ภาพประกอบจาก: www.lovepik.com