โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อย และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนใหญ่เกิดกับผู้สูงอายุ เมื่อเป็นแล้วจะทำให้มีอาการปวดและเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจโต เส้นโลหิตเปราะ โรคไต และอัมพาต
องค์ประกอบต่าง ๆ ที่อาจนำมาซึ่งการเป็นโรคความดันโลหิตสูง คือ
- พันธุกรรมและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น ชอบกินเค็ม และมีอาการเครียด
- มีความผิดปกติที่ระบบสมองส่วนควบคุมความดันโลหิต
- มีความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด
- มีไขมันในเลือดมาก
- ผนังหลอดเลือดมีโซเดียมมาก มีน้ำมาขังสูงเกินปกติ
- ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายโซเดียม (เกลือ) ที่รับประทานเข้าไปได้ดีเท่าคนปกติ
และการใช้สมุนไพรในการรักษา ยังไม่มีผลงานวิจัยที่เด่นชัดว่ารักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ ในตำรายาไทยจึงเน้นการป้องกันและบรรเทาอาการ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระดับความดันโลหิตสูง เช่น อาการนอนไม่หลับ มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ขับปัสสาวะลำบาก ซึ่งสมุนไพรที่ช่วยรักษาตามอาการมีดังนี้
สมุนไพรคลายเครียดแก้นอนไม่หลับ จะเป็นในกลุ่มสมุนไพรที่มีรสขม
ได้แก่
- ขี้เหล็ก ใบอ่อนและดอก มีสารจำพวกโครโมน และสารแอนตร้าควิโนน มีฤทธิ์ระบาย สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ในการกล่อมประสาททำให้นอนหลับดี
- ระย่อม ใช้ราก มีฤทธิ์กล่อมประสาท ทำให้เจริญอาหาร และนอนหลับดี นอกจากนั้นในรากระย่อมยังมีสารแอลคาลอยด์ ที่สำคัญ คือ เรเซอบีน มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตอย่างดี
สมุนไพรที่ช่วยลดไขมันในเลือด ได้แก่
- น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย จากการทดลองทั้งในสัตว์และคน สามารถลดไขมันในหลอดเลือดและทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้
- กระเทียม มีสารอัลลิซินที่มีฤทธิ์ลดไขมันในหลอดเลือดได้
- ถั่วเหลือง มีกรดอะมิโน เลซิลิน และวิตามิน อี สูง จะช่วยลดไขมันในหลอดเลือด
สมุนไพรที่ช่วยขับปัสสาวะ ได้แก่
- หญ้าหนวดแมว ใช้ใบอ่อน เนื่องจากมีเกลือโพแทสเซียมสูงแต่ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ
- หญ้าคา รากหญ้าคามีสารอะรันโดอิน และไซลินดริน และกรดอินทรีย์หลายชนิด
- ขลู่ ในใบขลู่มีสารเกลือแร่ โซเดียมคลอไรด์ ที่ออกฤทธิ์ขับปัสสาวะได้
หมายเหตุ การใช้สมุนไพรร่วมกับการรักษาโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องระมัดระวังและปรึกษาแพทย์เป็นประจำ เพราะเรายังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด การใช้สมุนไพรเข้าร่วมอาจจะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพได้
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com