การไอ ช่วยขับสิ่งแปลกปลอมที่มากระตุ้นทางเดินหายใจ เช่น ควัน ฝุ่นละออง เสมหะ ออกจากทางเดินหายใจ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการไอชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น การไอติดต่อกันเป็นเวลานานจนเรื้อรัง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น หวัดจากการแพ้ หลอดลมอักเสบ ไอกรน วัณโรค
- กลุ่มที่มีสาระสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ เหง้าขิง หัวกระเทียม และผลดีปลี
- กลุ่มที่มีสาระสำคัญเป็นกรด ซึ่งมีรสเปรี้ยว ได้แก่ มะขามเปียก น้ำมะนาว ผลมะขามป้อม และเนื้อสับปะรด
- กลุ่มสมุนไพรอื่น ๆ ได้แก่ มะแว้งเครือ มะแว้งต้น และเพกา เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรพักผ่อนมาก ๆ งดบุหรี่ อาหารทอด น้ำเย็น และพยายามดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1 – 2 สัปดาห์ ร่วมกับน้ำหนักลด หรือมีอาการรุนแรงขึ้นควรปรึกษาแพทย์
ตำรับยาแก้ไอสมุนไพรต่าง ๆ ตามตำราพื้นบ้าน
- กระเทียม ใช้กระเทียมและขิงสดอย่างละเท่ากัน ตำละเอียดละลายกับน้ำอ้อยสด คั้นน้ำจิบแก้ไอขับเสมหะ หรือคั้นกระเทียมกับน้ำมะนาวเติมเกลือใช้จิบ หรือกวาดคอก็ได้
- ขิง วิธีใช้ขิงเป็นยาแก้ไอมีอยู่หลายวิธี อาจใช้ต้มกับน้ำพอเดือด ชงด้วยน้ำเดือด หรือคั้นน้ำขิงโดยใช้กระสายยา คือ น้ำมะนาวก็ได้ ขนาดที่ใช้ตั้งแต่ 5 – 30 กรัม
- ดีปลี ใช้ดีปลีประมาณครึ่งผล ตำละเอียดเติมน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย กวาดคอ หรือจิบบ่อย ๆ
- มะนาว ใช้น้ำมะนาว 1 ถ้วยชา ผสมน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือเล็กน้อย ชงน้ำอุ่นดื่มบ่อย ๆ หรือน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ จิบแก้ไอ
- มะขาม ใช้มะขามเปียก 3 กรัม จิ้มเกลือรับประทาน หรือนำมะขามเปียกมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย
- มะขามป้อม ใช้ผลสดตำคั้นน้ำดื่ม หรือกัดเนื้อเคี้ยวอมบ่อย ๆ
- มะแว้งเครือ/มะแว้งต้น ใช้ผลมะแว้งสด 5 – 6 ผล ล้างให้สะอาดเคี้ยวอมไว้ กลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมแล้วคายกาก หรือจะกลืนทั้งน้ำและเนื้อก็ได้ หรือใช้ผลสด 5 – 10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือเล็กน้อยจิบบ่อย ๆ เวลาไอ
- เพกา ใช้เมล็ดครั้งละครึ่งถึง 1 กำมือ (หนัก 1 1/2 – 3 กรัม) ใส่น้ำประมาณ 300 cc. ต้มไฟอ่อนพอเดือดประมาณ 1 ชั่วโมงรับประทานวันละ 3 ครั้ง
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com