หากกล่าวถึงความน่ากลัวของโรคเอดส์ ก็คงเป็นเรื่องที่ เมื่อผู้ป่วยเป็นแล้ว ก็มีแต่จะทำให้สภาพร่างกายเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ จนถึงแก่ชีวิต อีกทั้งอาการในระยะสุดท้ายของโรคก็ไม่เป็นที่พึงประสงค์ต่อผู้พบเห็นนัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอง ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เป็นที่รังเกียจในสังคม ในกลุ่มผู้ที่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างกระจ่างชัด เนื่องในโอกาสวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งถูกกำหนดไว้เป็น “วันเอดส์โลก” เราถึงขอหยิบยกประเด็นเรื่องผู้ป่วย AIDS / HIV ขึ้นมาพูดคุยกันในครั้งนี้
แต่เดิม องค์การอนามัยโลกกำหนดวันเอดส์โลกขึ้นเพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ เมื่อก่อนนั้นโรคเอดส์เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ.2524 แต่ในขณะนั้นจะรู้จักเพียงเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ต่อมามีการแพร่ระบาดโรคนี้ไปอย่างรวดเร็วและทั่วโลก จนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากจนเป็นที่น่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบแอฟริกาและเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเช่นเดียวกัน
โรคเอดส์คืออะไร
อย่างที่เราพอจะทราบกันมาบ้างว่า โรคเอดส์ คือ อาการของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS : Acquired immune deficiency syndrome) โดยเกิดจากเชื้อไวรัส (Human immunodeficiency virus : HIV) เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเม็ดเลือดขาวในร่างกายทำหน้าที่ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกทำลาย จึงทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ HIV มีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนในที่สุดร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอในการป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคภายนอก จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่ายกว่าคนปกติ ส่งผลให้เป็นโรคอื่น ๆ ตามมา อาทิ วัณโรค ปอดบวม ติดเชื้อในกระแสโลหิต เชื้อรา และอีกมากมาย
การติดต่อของโรคเอดส์
- การร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อ HIV โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย
ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือแม้จะเป็นชายกับหญิงซึ่งเป็นช่องทางธรรมชาติหรือไม่ธรรมชาติก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดต่อโรคเอดส์ได้ ทั้งนี้จากข้อมูลของทางกองระบาดวิทยาระบุว่า 83% ของผู้ติดเชื้อเอดส์นั้น ล้วนได้รับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ - การรับเชื้อทางเลือด
- ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- รับเลือดมาจากการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด แต่ในปัจจุบัน กรณีเช่นนี้เกิดได้ยากมาก เพราะได้มีการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย โดยจะนำเลือดที่รับบริจาคมา ไปตรวจหาเชื้อเอดส์ก่อนเสมอ ดังนั้นจึงมีความปลอดภัย 100%
- การติดต่อผ่านแม่สู่ลูก
เกิดจากแม่ที่มีเชื้อเอดส์อยู่แล้ว การตั้งครรภ์ทำให้มีการถ่ายทอดเชื้อเอดส์ไปสู่ลูก แต่ในปัจจุบัน ได้ค้นพบวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่ไปสู่ลูกได้สำเร็จแล้ว โดยวิธีการทานยาต้านไวรัสในช่วงตั้งครรภ์ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอดส์ของทารกลดลงเหลือ ร้อยละ 8 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ไม่ได้ปลอดภัย 100% นัก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การตรวจเลือดก่อนแต่งงานจะดีที่สุด
อยู่ร่วมกับผู้ป่วย AIDS / HIV เสี่ยงติดโรคหรือไม่
เชื่อว่าคำถามนี้อยู่ในใจของหลายคน และถือเป็นปัญหาหลักซึ่งเป็นอุปสรรคของการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างผู้ติดเชื้อและคนปกติ อย่างแรกคือต้องทำความเข้าใจก่อนว่า AIDS และ HIV นั้น แม้จะถูกกล่าวถึงร่วมกัน แต่ที่จริงแล้วเป็นคนละเรื่องกัน นั่นคือเมื่อคุณได้รับเชื้อ HIV ข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเล็อดขาว ทำให้เกิดภาวะความผิดปกติต่าง ๆ เกิดโรคแทรกซ้อน และเชื้อโรคฉวยโอกาส อาการที่เกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ยังไม่ใช่โรคเอดส์ และได้มีกาพัฒนายาต้านไวรัสแล้วในปัจจุบัน อีกทั้งนอกจาก 3 ช่องทางการติดเชื้อที่กล่าวไปในขั้นต้นแล้ว การที่คุณจะติดเชื้อ HIV โดยช่องทางอื่นนั้นมีน้อยมาก สำหรับโรคเอดส์ AIDS นั้น กล่าวได้ว่าเป็นอาการในระยะสุดท้ายที่เชื้อกลายเป็นโรคแล้ว เกิดขึ้นเมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกทำลายจนหมด จนไม่สามารถต้านไวรัสได้อีกต่อไป
ยาต้านไวรัสเอดส์คืออะไร
- PrEP : ย่อมาจาก Pre-exposure prophylaxis คือการให้ยาต้านไวรัสก่อนมีการสัมผัสเชื้อ HIV สำหรับคนที่น่าจะสุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนทั่วไป เช่น กลุ่มหญิงชายที่เสี่ยงติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ทราบว่าติดเชื้อหรือไม่, ผู้ที่มีแฟนติดเชื้อเอชไอวี, คนที่่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย, กลุ่มชายรักชาย, ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ และผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด เป็นต้น
- PEP : ย่อมาจาก Post-exposure prophylaxis เป็นยาต้านไวรัส HIV หลังผ่านการสัมผัสเชื้อมาแล้ว จึงเรียกกันว่า เป็นยาต้านไวรัส HIV แบบฉุกเฉิน ทั้งนี้ ผู้ที่จะทานยาต้องเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อ เช่น คนที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ใช้ถุงยางแล้วเกิดฉีกขาด มีเพศสัมพันธ์กับผู้ใช้สารเสพติด ถูกล่วงละเมิดทางเพศมา ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น หรือได้รับอุบัติเหตุจากการถูกเข็มฉีดยาตำมา หากใครมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจำเป็นต้องทานยา เพื่อป้องกันการติดเชื้อให้เร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง งานวิจัยระบุว่า ยานี้ปมีประสิทธิภาพพอสมควร แต่ให้ผลได้มากแค่ไหนนั้นยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัด ดังนั้น การป้องกันก่อนเพื่อไม่ให้รับเชื้อด้วยการใช้ถุงยางอนามัยก็ยังเป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่า
“ยาต้านไวรัสเอดส์ของไทย ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจาก WHO รายแรกของอาเซียน”
ยาต้านไวรัสเอดส์ของไทย ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (GPO) ถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อ WHO Prequalification program (WHO PQ) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้แสดงอยู่บนเว็บไซต์ของ WHO เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรสาธารณสุขนานาชาติ ได้จัดซื้อยาจากผู้ผลิตที่ได้ผ่านกระบวนการตรวจรับรองที่เข้มงวดแล้วเท่านั้น อาทิ กองทุนโลก (Global fund), องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ที่ทำหน้าที่ในการจัดซื้อจัดหายาให้กับประเทศสมาชิกที่ต้องการยา หรือประเทศที่ด้อยโอกาสต่อการเข้าถึงยา ซึ่งการได้รับการรับรองครั้งนี้ เป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยา และมาตรฐานการผลิตเป็นระดับสากลที่ทั่วโลกยอมรับ เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยต่อผลิตภัณฑ์ยาขององค์การฯ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ทั้งตลาดยาภายในประเทศและต่างประเทศ
ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz tablets 600 mg ทำอะไรได้บ้าง
- เป็นยาที่ผู้ป่วยเอดส์มีความจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสที่แนะนาให้เป็นสูตรแรก (First line regimen) ตามแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อ HIV ของประเทศไทย
- ช่วยลดปริมาณเชื้อ HIV ในร่างกายและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น
- ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเอชไอวี เช่น การติดเชื้อของโรคฉวยโอกาสซึ่งเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค การติดเชื้อที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ดีขึ้น
การผลิตภัณฑ์ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz tablets 600 mg ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้รับการรับรองครั้งนี้ ดำเนินการผลิตที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 คลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นอกจากยาดังกล่าวนับเป็นยารายการแรกของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ ได้รับรองมาตรฐานสากล WHO
นอกจากนั้นทางองค์การเภสัชกรรม นำโดยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม และ ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ยังกล่าวย้ำถึงเจตนารมณ์อีกว่า “องค์การเภสัชกรรมจะไม่หยุดยั้งในการคิดค้น วิจัย และพัฒนา ตัวยาใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตัวเองได้”
ปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้ใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz tablets 600 mg ประมาณ 80,000 ราย กล่าวได้ว่าการได้รับรองมาตรฐานจึงเสมือนเป็นการการันตีว่าผู้ป่วยในไทยสามารถเข้าถึงยาคุณภาพได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการช่วยเหลือผู้ป่วยในภูมิภาคอาเซียน หรือประเทศอื่น ๆ อีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการ WHO Collaborative registration procedure ซึ่งเป็นความร่วมมือของ WHO กับ หน่วยงานดูแลผลิตภัณฑ์ยาแต่ละประเทศ ส่งผลให้องค์การฯ สามารถขึ้นทะเบียนตำรับยา Efavirenz ไปยังประเทศเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนตำรับยาไปยังประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะมีมูลค่าการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นราว 50 ล้านบาท
- www.thaihealth.or.th
- www.honestdocs.co
- www.wikipedia.org
- เอกสารประกอบการแถลงข่าว “ยาต้านไวรัสเอดส์ ขององค์การเภสัชกรรม(จีพีโอ) ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล จาก WHO รายการแรกของไทยและอาเซียน”