เมื่อพูดถึงเรื่องน้ำแล้ว หลายๆคนอาจไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพราะคุ้นเคยเป็นอย่างมากกับการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน ทั้งใช้เพื่อดื่ม เพื่อล้างจาน ถูบ้าน ล้างพื้น ชงกาแฟ เกือบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อีกมุมหนึ่ง น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย ทุกคนอาจอยู่ได้นานแม้อดอาหาร แต่รู้ไว้เลยว่าไม่สามารถอยู่ได้นานแบบนั้นแน่ ถ้าคุณอดน้ำ
น้ำมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยสิ่งมีชีวิตบางชนิด น้ำหนักตัว 90% มาจากน้ำ สำหรับร่างกายมนุษย์แล้ว 60% หรือ 2 ใน 3 ส่วนของร่างกาย คือ น้ำ ข้อมูลเรื่ององค์ประกอบของร่างกายมนุษย์ (Composition of human body) ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Biological Chemistry พบว่า สมองและหัวใจประกอบด้วยน้ำ 73% ปอดประกอบด้วยน้ำ 83% ผิวหนังประกอบด้วยน้ำ 64% กล้ามเนื้อและไตมีน้ำ 79% และกระดูกมีน้ำ 31%
ประโยชน์ของน้ำในร่างกาย
- เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ในทุกๆอวัยวะของร่างกาย เช่น สมอง ปอด ตับ
- เป็นส่วนประกอบหลักของสารที่เป็นของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำดี น้ำย่อย น้ำลาย
- ควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่
- ช่วยในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
- หล่อลื่นข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย
- ลำเลียงอาหารที่ย่อยแล้วไปส่งเซลล์ของอวัยวะต่างๆผ่านกระแสเลือด
- ทำหน้าที่เป็นโช็คอัพลดแรงกระแทกต่อสมอง เส้นประสาท ไขสันหลังรวมถึงทารกในครรภ์
แนะนำอ่าน เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมอง
การสูญเสียน้ำของร่างกาย
น้ำในร่างกายนั้นไม่ได้มีจำนวนคงที่ตลอดเวลา ในแต่ละกิจกรรม เราจะสูญเสียน้ำออกไปจากร่างกายได้ตลอดทั้งวัน เช่น จากการปัสสาวะ 1.5 ลิตร จากอุจจาระ 0.1 ลิตร จากการหายใจออก (ไอน้ำ) 0.4 ลิตร และเหงื่อ 0.6 ลิตร เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 2.6 ลิตร
แนะนำอ่าน ระบบขับข่าย (Excretory system)
การได้รับน้ำ และปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการ
ทั้งนี้การได้รับน้ำของร่างกาย มีได้จากหลายช่องทางเช่นเดียวกัน เช่น น้ำจากการดื่มน้ำสะอาด เฉลี่ย 1.5 ลิตร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและควรดื่มให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ น้ำจากอาหารที่บริโภคในแต่ละวัน เฉลี่ย 0.8 ลิตร เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อแดง ไขมัน เป็นต้น รวมถึงน้ำจากการเผาผลาญพลังงาน 0.2 ลิตร
ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการนั้น แตกต่างกันไปตามอายุ เพศ สภาพแวดล้อม โดยปริมาณที่ต้องการต้องไม่น้อยกว่าน้ำที่สูญเสียไปในแต่ละวัน ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดสูตรคำนวณปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ของแต่ละคนต่อวันไว้ดังนี้ น้ำหนักตัว (ก.ก.) / 2 X 2.2 X 30 = จำนวน C.C. (1,000 C.C. = 1 ลิตร, 1 ลิตร = 5 แก้ว) เช่น น้ำหนัก 45/2 x 2.2 x 30 = 1500 C.C. หรือ 1.5 ลิตรต่อวัน เฉลี่ยประมาณ 8 แก้วต่อวัน
แนะนำอ่าน เปลี่ยนชีวิตให้สดใส ด้วยการดื่มน้ำ
ภาวะขาดน้ำ
โดยปกติแล้วร่างกายจะประสบกับภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ด้วยสาเหตุหลักๆ คือ การสูญเสียน้ำมากเกินไป อาทิ เสียเหงื่อจากการเล่นกีฬาเสียน้ำไปกับอุจจาระจากอาการท้องเสีย ท้องร่วง การเป็นโรคหรือใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ปัสสาวะมาก และการได้รับน้ำน้อยเกินไป อาทิ การดื่มน้ำน้อยในคนปกติ การดื่มน้ำน้อยจากการไม่สบายในผู้ป่วยโคม่า ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงผู้ที่มีอาการป่วย เป็นหวัด หรือเจ็บคอ ทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและดื่มน้ำน้อยลง
ทั้งนี้อาการของการขาดน้ำ คือ กระหายน้ำ ง่วงซึม อ่อนเพลีย ผิวแห้ง ตาแห้ง ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ท้องผูก มึนหัว วิงเวียน ปวดศีรษะ อาการที่มีความรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องไปพบแพทย์โดยด่วน เช่น กระหายน้ำรุนแรง ไม่มีเหงื่อ ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็วและแรง หายใจเร็วและหอบ มีไข้ ตาโหลหรือตาลึก ผิวหนังแห้งและเหี่ยวย่น ท้องเสียรุนแรง อุจจาระเป็นเลือด ไม่สามารถดื่มน้ำได้ ดูซึมลง สับสน สูญเสียการรับรู้เรื่องบุคคล เวลาและสถานที่ (Disorientation) อ่อนเพลีย ทั้งนี้หากพบหรือสงสัยว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการป่วยหนักจากโรคอื่น ๆ มีอาการหรือเข้าข่ายของภาวะขาดน้ำ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
แนะนำอ่าน อาการและโรควัยซีเนียร์
การป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ควรดื่มน้ำมาก ๆ ทั้งก่อนและหลัง หรือในช่วงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย โดยดื่มบ่อย ๆ หรือทุก 15-20 นาที หรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ หากมีการออกกำลังกายต่อเนื่องนานกว่า 1 ชั่วโมง ควรหยุดพักจากการออกกำลังกาย หากพบว่ามีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือรู้สึกเหนื่อยมาก และเลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะกับการทำกิจกรรม เช่น เสื้อผ้าสีอ่อน เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เป็นต้น แนะนำอ่าน การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องเหงื่อท่วมกาย
- ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-12 แก้ว โดยเฉพาะในวันที่มีการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ อาหารทะเล พืชตระกูลถั่ว นมไขมันต่ำ เป็นต้นแนะนำอ่าน เปลี่ยนชีวิตให้สดใส ด้วยการดื่มน้ำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเบียร์และไวน์มากเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำแนะนำอ่าน ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล: www.water.usgs.gov www.vcharkarn.com www.pobpad.com
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com