หยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะที่การหายใจในขณะหลับถูกหยุดและเริ่มใหม่เป็นช่วง ๆ ตลอดระยะเวลาการนอน ซึ่งมีได้หลายประเภท ที่พบมากที่สุดคือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA) โดยภาวะนี้กล้ามเนื้อบริเวณลำคอจะคลายตัวเป็นช่วง ๆ ในระหว่างนอนหลับ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือถูกปิดกั้น ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีการกรนเสียงดัง หายใจลำบากขณะนอนหลับ และอาการอื่น ๆ อันส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันและอาจเป็นสาเหตุของโรคที่เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา หลายครั้งที่ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจะไม่รู้ตัว เนื่องจากอยู่ในขณะนอนหลับ ต้องให้ผู้ใกล้ชิดเป็นผู้สังเกต
อาการของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ขณะนอนหลับ จะมีอาการ กรนเสียงดัง หายใจออกทางจมูกเสียงดัง อาจตื่นกลางดึกจากการหายใจไม่ออกหรือสำลัก เหงื่อออกขณะนอนหลับ
- เมื่อตื่นขึ้นมา อาจมีอาการปากแห้งหรือเจ็บคอ ปวดศีรษะ ระหว่างวันอาจง่วงมาก สมาธิลดลง อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เช่น ซึมเศร้าหรือหงุดหงิด ความดันโลหิตสูง ความต้องการทางเพศลดลง
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ขณะนอนหลับ หากกล้ามเนื้อบริเวณลำคอ รวมถึงเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล และลิ้น คลายตัวมากเกิน จะทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบหรือถูกปิดกั้นเป็นเวลาสั้น ๆ ราว 10 – 20 วินาที โดยสามารถเกิดขึ้นได้ 5 – 30 ครั้งในทุกชั่วโมงตลอดการนอน ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง เกิดการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์ สมองจะรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวและจะมีการกระตุ้นให้ร่างกายตื่น เพื่อกลับมาหายใจแบบปกติอีกครั้งในระหว่างการนอน ภาวะดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ช่วงหลับลึกในวงจรการนอนหลับได้
สำหรับปัจจัยเสี่ยง เช่น ภาวะน้ำหนักตัวเกิน กายวิภาคที่ทำให้ทางเดินหายใจแคบ โรคบางโรค เช่น เยื่อบุโพรงจมูกบวมโต คัดจมูก เพศชายจะมีโอกาสเกิดมากกว่าเพศหญิง การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน พันธุกรรม อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ และผู้ที่รับประทานยาระงับประสาท ยาคลายเครียด หรือยานอนหลับ เป็นต้น
เมื่อไหร่ถึงควรพบแพทย์
หากการนอนกรนนั้น รบกวนการนอนหลับของตนเองหรือคนอื่น หรือหลาย ๆ ครั้งที่ต้องตื่นนอน จากการหายใจไม่ออกหรือสำลัก หรือมีอาการง่วงนอนในระหว่างวันมากเกิน จนส่งกระทบต่อชีวิตประจำวัน การนอนกรนนั้นอาจไม่ใช่เรื่องปกติ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องทันที
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกายหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่บริเวณที่เกี่ยวข้อง วัดความดันโลหิต รวมถึงการตรวจสุขภาพการนอนหลับ อาจต้องนอนค้างที่โรงพยาบาลเพื่อศึกษาและวิเคราะห์การนอนหลับโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจจับและบันทึกสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คลื่นสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ รูปแบบและอัตราการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด ระยะของการนอนหลับ การเคลื่อนไหวของดวงตา การเคลื่อนไหวของขาขณะนอนหลับ เป็นต้น หรือในบางกรณีแพทย์อาจให้ผู้ป่วยตรวจสุขภาพการนอนหลับเองที่บ้าน
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถวัดจากจำนวนครั้งของการหยุดหายใจใน 1 ชั่วโมง หรือเรียกว่าดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว (Apnea-Hypopnoea Index: AHI) โดยแบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้
การรักษา
- การปรับพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การลดน้ำหนักตัว หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ เปลี่ยนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง เป็นต้น
- การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม/ช่องปาก (Mandibular advancement devices, MAD) การใช้ MAD จะช่วยดึงกรามล่างมาด้านหน้า เพื่อทำให้ช่องทางเดินหายใจด้านหลังกว้างขึ้น การนอนกรนน้อยลง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่รุนแรง
- การใช้เครื่องสร้างแรงดันในทางเดินหายใจ (Continuous positive airway pressure, CPAP) หรือซีแพพ เครื่องนี้จะสร้างแรงดันอากาศเข้าไปเปิดทางเดินหายใจตลอดเวลา จัดเป็นวิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยผู้ป่วยจะต้องใส่อุปกรณ์หน้ากาก ครอบจมูกหรือปาก แล้วเครื่องจะทำการปรับแรงดันให้สูง พอที่จะเป่าอากาศให้ไหลผ่านลงไป ป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงในขณะนอนหลับอย่างต่อเนื่อง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงปานกลางถึงมาก
- การรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าการรักษาด้วยวิธีขั้นต้นไม่สามารถบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้ และภาวะดังกล่าวมีความรุนแรงกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก
- Somnoplasty เป็นวิธีการรักษาโดยการใช้คลื่นความถี่ จี้ความร้อนเข้าไปใต้เนื้อเยื่ออ่อน บริเวณเพดานปาก หรือลิ้นไก่ เพื่อเพิ่มทางเดินหายใจ
- Uvulopalatopharyngoplasty (UPPP) คือ การผ่าตัดที่ตัดเนื้อเยื่อ ทอนซิล ลิ้นไก่และเพดานอ่อนออกไป เพื่อเปิดทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างมากขึ้น
- Mandibular/maxillary advancement surgery คือ การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีความผิดปกติของกระดูกใบหน้ามาก
- Nasal surgery คือ การผ่าตัดในโพรงจมูก ซึ่งจะช่วยในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของอวัยวะดังกล่าว เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated nasal septum)
- การรักษาโดยใช้ยา เช่น มอนเทลูคาส ลิวโคทรีน หรือยาสเตียรอยด์พ่นจมูก จะช่วยบรรเทาอาการในเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบบไม่รุนแรง
ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้ นอกเหนือจากความง่วงนอน อ่อนเพลีย ขาดสมาธิในระหว่างวันแล้ว ยังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัญหาเรื่องต้อหิน รวมถึงปัญหาจากการใช้ยาที่ส่งผลต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.mayoclinic.org www.pobpad.com www.bangkokpattayahospital.com
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com