ภายหลังจากลำไส้เล็กย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ได้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหรือที่เรียกว่า น้ำตาลโมโนแซคคาไรด์ และทำการส่งไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนน้ำตาลโมโนแซคคาไรด์ประเภทอื่นให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส (Glucose) หลังจากนั้นกลูโคสจะถูกลำเลียงผ่านกระแสเลือด ไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย
น้ำตาลในเลือดค่าไหนสูง ค่าไหนต่ำ
โดยธรรมชาติร่างกายมนุษย์จะมีกลไกควบคุมและรักษาระดับของน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่สมดุลของร่างกาย (Homeostasis) ทั้งนี้ค่าน้ำตาลในเลือดจะมีความผันผวนตลอดทั้งวัน โดยจะมีระดับต่ำในช่วงเช้า ก่อนการรับประทานอาหารมื้อแรก และจะเพิ่มขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร ปกติการวัดระดับน้ำตาลในเลือด จะให้ผู้วัดอดอาหารและน้ำอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนทำการวัด โดยระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting blood sugar, FBS) ในผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานจะอยู่ระหว่าง 70 – 100 มก./ดล. (mg/dL) กรณีที่ค่าที่ได้มากกว่า 100 มก./ดล. จัดอยู่ในภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) โดยค่าที่วัดได้ระหว่าง 100 – 125 มก./ดล. จัดอยู่ในผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน กรณีค่าที่วัดได้มากกว่า 125 มก./ดล. จัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีภาวะเบาหวาน และกรณีระดับน้ำตาลที่วัดได้ต่ำกว่า 100 มก./ดล. จัดอยู่ในภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
ทั้งนี้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงสามารถเกิดได้กับทุกคน เช่น หลังกินอาหารที่มีน้ำตาลหรือแป้งในปริมาณมาก, มีภาวะเครียด, ไม่ออกกำลังกาย การกินยาบางชนิด โดยระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงอยู่สัก 2 – 3 ชม. หลังจากนั้นจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง ทั้งนี้ผู้ที่วัดได้ค่าระดับน้ำตาลหลังอดอาหารสูงแล้ว ควรได้รับการตรวจยืนยันซ้ำด้วยการทดสอบความทนต่อน้ำตาล (Oral glucose tolerance test : OGTT) โดยให้ผู้ที่วัดดื่มน้ำตาลกลูโคส และทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มน้ำตาลไปแล้ว 2 ชั่วโมง ซึ่งค่าปกติจะต่ำกว่า 140 มก./ดล. ถ้าค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 140 – 199 มก./ดล. จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเบาหวาน และถ้ามีค่าที่ได้ตั้งแต่ 200 มก./ดล. ขึ้นไป จัดอยู่ในกลุ่มที่มีภาวะเบาหวาน
แนะนำอ่าน โรคเบาหวาน, ฮอร์โมน เคมีวิเศษในร่างกาย
อาการน้ำตาลในเลือดสูง และน้ำตาลในเลือดต่ำ
น้ำตาลในเลือดสูงมักไม่มีอาการบ่งบอกในช่วงแรก แต่เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติได้เมื่อระดับน้ำตาลสูงเกิน 200 มก./ดล. โดยอาการจะแสดงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่บางรายอาจไม่มีอาการ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางคืน มองเห็นไม่ชัด กระหายน้ำมาก ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย ถ้าปล่อยไว้นานขึ้นอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากการสะสมของสารคีโตน (Ketones) ทำให้มีอาการลมหายใจมีกลิ่น หายใจสั้น ปากแห้ง
คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด รู้สึกสับสน แผลหายช้ากว่าปกติ ติดเชื้อง่าย เส้นประสาทเสียหายทำให้อวัยวะบางอย่างบกพร่องหรือไม่มีความรู้สึก มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ บางรายอาจหมดสติ เป็นต้น
น้ำตาลในเลือดต่ำ มีอาการที่พบบ่อย ได้แก่ หิว รู้สึกร้อน เหงื่อออก มือสั่น กระสับกระส่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
ความดันโลหิตตัวบนหรือซิสโตลิคสูง อาการชา อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ การตอบสนองช้า สับสน ไม่มีสมาธิ ตาพร่ามัว พูดช้า ง่วงซึม หลงลืม เป็นต้น
เนื่องจากหลาย ๆ อาการเกี่ยวเนื่องกับสาเหตุอื่น ๆ ด้วย ในเบื้องต้นแนะนำให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับวัย
แนะนำให้อ่าน ตรวจสุขภาพ คนวัยทำงาน, ตรวจสุขภาพวัยสูงอายุ, ตรวจสุขภาพเบื้องต้นด้วยตัวเอง
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล
- th.wikipedia.org/wiki/น้ำตาลในเลือด
- www.yaandyou.net
- www.pobpad.com