สำหรับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ซึ่งนาน ๆ ครั้งจะเข้าโรงพยาบาลที พอถึงเวลาที่จะต้องออกจากโรงพยาบาล มีความกังวลใจว่า จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เราเรียบเรียงบทความจากจาก Health at home มานำเสนอให้ทุกท่าน รู้สึกมั่นใจมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกจากโรงพยาบาล
1. ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่า เป็นโรคอะไร เข้าใจตรงกับแพทย์ไหม
ก่อนออกจากโรงพยาบาลทุกครั้ง ควรตรวจสอบกับแพทย์เจ้าของไข้ ถึงโรคที่เป็นทุกครั้ง เพราะหลายครั้งผู้ป่วยอาจมีหลายโรค หรือมีแพทย์หลายคนที่ร่วมดูแล การสื่อสารให้ชัดเจน จะทำให้การปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ที่บ้านเป็นไปอย่างถูกต้อง
2. เตรียมความพร้อมของบ้านและอุปกรณ์ทางการแพทย์
ประเมินว่าสิ่งแวดล้อมที่บ้านเหมาะสมกับระดับความหนักเบาของโรคที่ผู้ป่วยเป็นไหม เช่น จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยพักที่ชั้นล่างของบ้านหรือเปล่า ต้องเพิ่มทางขึ้นลงแบบพื้นสโลปไหม อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลเช่น เตียงผู้ป่วย วอล์คเกอร์ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ ที่นอนลม เป็นต้น
3. วิธีปฏิบัติตัวระหว่างอยู่ที่บ้าน
กิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องทำขณะอยู่ที่บ้าน เช่น การกิน การนอน การเข้าห้องน้ำ การทำกายภาพบำบัด การให้อาหารทางสาย สิ่งเหล่านี้ ผู้ป่วยโดยเฉพาะญาติผู้ป่วยต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดีว่า จะทำอย่างไร ทำที่ไหน ใครเป็นคนทำ เพราะการกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ผู้ป่วยยังมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
4. ผู้ดูแลขณะอยู่ที่บ้าน
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ญาติหรือครอบครัวผู้ป่วยต้องพิจารณาความเหมาะสม ของผู้ที่มารับผิดชอบ กรณีที่ญาติดูแลเองต้องมีการหาข้อมูล เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้อง กรณีที่ต้องจ้างผู้ดูแล ควรพิจารณาเรื่อง ความปลอดภัย ประวัติอาชญากรรม ทักษะความสามารถ และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย
5. ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องป้องกัน
ควรทราบถึง สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของการป่วย สิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันการป่วยอีกครั้ง อย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีความเสี่ยงที่น้ำตาลจะสูงหรือต่ำกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจวายอาจต้องระวังปริมาณน้ำและเกลือ
6. อาการสัญญาณเตือนของโรค คืออะไร
ควรรู้ว่าผู้ป่วยมีโรคและโรคร่วมอะไรบ้าง เมื่อมีอาการแล้วเบื้องต้นควรปฏิบัติอย่างไร มีความเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที การบันทึกข้อมูลประจำวันของผู้ป่วย เช่น สัญญาณชีพ ระดับค่าน้ำตาล อาการทั่วไป ในแต่ละวันจะช่วยให้เราติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด และจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากถ้ามีผู้ดูแลร่วมดูแลหลายคน
7. ยาที่ผู้ป่วยต้องรับประทาน
จากสถิติพบว่าผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวเฉลี่ย 3 – 4 โรค และ ยาก็เป็นสิ่งที่ตามมา นอกจากนั้นทุกครั้งที่นอนโรงพยาบาล แพทย์ก็มักสั่งยาเพิ่มเติมกลับบ้านมาด้วย ดังนั้นผู้ดูแลจะต้องรู้จักยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยรับประทานให้ดี เช่น อะไรคืออาการข้างเคียงของยา อะไรคืออาการแพ้ยา เมื่อมีอาการเหล่านั้นควรปฏิบัติอย่างไร
8. วันนัดหมายกับแพทย์
ผู้ดูแลและญาติผู้ป่วย ควรตรวจสอบวันนัดหมายกับแพทย์ให้ถูกต้อง และต้องมีการตรวจสอบว่า ในวันนัดผู้ป่วย ต้องมีการเตรียมตัวอะไรบ้าง เช่น ต้องงดน้ำงดอาหารเพื่อเจาะเลือดหรือไม่ และควรนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดไปให้แพทย์ดูทุกครั้ง
9. เบอร์โทรติดต่อในกรณีฉุกเฉิน
ควรมีการรวบรวมเบอร์ติดต่อในกรณีที่ฉุกเฉินเอาไว้ เบอร์ของลูก หรือคนในครอบครัว (กรณีมีผู้ดูแลข้างนอกมาดูแล) เบอร์ของแพทย์ หรือโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ และที่สำคัญ 1669 คือเบอร์ติดต่อฉุกเฉินที่โทรได้ 24 ชั่วโมง
10. ประวัติการรักษา
ควรขอประวัติการรักษาของผู้ป่วยและผลทางห้องปฏิบัติการไว้เสมอ ในกรณีมีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ๆ หรือในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้การมีประวัติการรักษาและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจช่วยลดการตรวจซ้ำซ้อนลงได้
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.medium.com
ภาพประกอบ : www.pexels.com