กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) หมายถึง กลุ่มอาการอักเสบของเซลล์กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากสาเหตุอะไรก็ได้ มักพบเป็นการอักเสบเรื้อรังได้บ่อยกว่าการอักเสบแบบเฉียบพลับ
อาการและอาการแสดง
แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- อาการทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ ๆ
- อาการจากตัวกล้ามเนื้อที่อักเสบ เช่น กล้ามเนื้อบวมและเจ็บเมื่อจับคลำหรือเมื่อใช้งาน ถ้าจับจะรู้สึกร้อน ในระยะยาวกล้ามเนื้อจะลีบจากเซลล์กล้ามเนื้อกลายเป็นพังผืด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันตามการทำงานของกล้ามเนื้อมัดที่อักเสบ เช่น แขนขาอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ จากการอักเสบของกล้ามเนื้อแขนขา การกลืนลำบากจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหลอดอาหารหรือกล้ามเนื้อในลำคอ การหายใจลำบากหรือหายใจเองไม่ได้จากการอักเสบของกล้ามเนื้อซี่โครง เป็นต้น
- อาการจากสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากโรคมะเร็ง กล้ามเนื้ออักเสบจากเชื้อไวรัส กล้ามเนื้ออักเสบจากยาลดไขมันในเลือดสแตติน (Statins) เป็นต้น
เมื่อไรควรไปพบแพทย์
หากพบว่ามีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ เช่น ปวด ร้อน บวม แดง ต่อเนื่องกันนานเกิน 3 วัน หรือ ลองรักษาด้วยตัวเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาตามความเหมาะสม
สาเหตุ
แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
- กลุ่มที่ยังไม่ทราบแน่ชัด (Idiopathic inflammatory myopathy) แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของตนเอง หรือกล้ามเนื้ออักเสบอาจเป็นอาการแสดงส่วนหนึ่งของโรคออโตอิมูนก็ได้ กล้ามเนื้ออักเสบจากสาเหตุนี้มักเป็นแบบเรื้อรัง รักษาไม่หาย ตัวอย่างเช่น
- Polymyositis (PM) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหลายมัดพร้อมกัน พบบ่อยในกล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขา กล้ามเนื้อหลอดอาหาร
- Dermatomyositis (DM) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหลายมัดพร้อมกับมีผื่นผิวหนังอักเสบ แดง เป็นสะเก็ดร่วมด้วยเสมอ โดยมักพบที่ใบหน้า ลำคอ รอบตา และผิวหนังบริเวณที่ได้รับแสงแดดเป็นประจำ โรคนี้พบเกิดร่วมกับโรคมะเร็งได้ประมาณ 10%
- Inclusion body myositis (IBM) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อทุกมัดแต่มักเป็นซีกเดียวกันเช่นซ้ายหรือขวา โดยจะค่อย ๆ แสดงอาการ จนมีอาการกล้ามเนื้อลีบ โดยอาจใช้ระยะเวลาเป็นปี
- การติดเชื้อ (Infectious myositis) จากการที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดโรคฉี่หนู เป็นต้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของกล้ามเนื้ออักเสบจากการติดเชื้อมักเป็นการอักเสบแบบเฉียบพลัน และมีการพยากรณ์โรคที่ดี เนื่องจากสามารถรักษาให้หายไปพร้อม ๆ กับโรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ได้ ในเด็ก อาจพบอาการกล้ามเนื้ออักเสบเฉียบพลันที่ไม่รุนแรง ตามหลังการติดเชื้อ เช่น อักเสบกล้ามเนื้อน่องจนเดินไม่ได้จากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
- การมีหินปูนจับ (Myositis ossification) มักเกิดหลังจากการบาดเจ็บจนฟกช้ำ มีเลือดออกภายในกล้ามเนื้อ ร่างกายจะมีการซ่อมแซม จนเกิดเป็นเนื้อเยื่อกระดูกในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเจ็บปวดเมื่อคลำหรือใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้น กล้ามเนื้ออักเสบจากสาเหตุนี้มักไม่รุนแรง โดยทั่วไปสามารถรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ร่างกายดูดซึมหินปูนหรือกระดูกที่เกิดขึ้นให้หมดไปได้
- ยา (Drug-induced myositis) ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ โดยอาการมักเกิดหลังเริ่มรับประทานยา หรือหลังใช้ยานั้นเป็นเวลานาน หรือใช้ยาหลายตัวพร้อมกัน เช่น ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statins) ยารักษาโรคเกาต์ (Cochicine) ยา Interferon เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์สามารถวินิจฉัยจาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการใช้ยา การตรวจร่างกาย การตรวจคลำกล้ามเนื้อมัดที่เกิดอาการ การตรวจเลือด เช่น CBC ที่บอกถึงการติดเชื้อ ค่าเอนไซม์ที่บอกถึงมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ (CK, Creatine kinase หรือ CPK, Creatine phosphokinase) ค่าสารภูมิต้านทานหรือสารก่อภูมิต้านทานของโรค การตรวจสภาพกล้ามเนื้อด้วยเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอ็มอาร์ไอ อาจมีการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อที่มีการอักเสบเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
การรักษา
แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ
- การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ในกรณีที่มีการอักเสบไม่มาก
- การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) (Paracetamol, Acetaminophen) การประคบร้อนและประคบเย็น ในช่วง 1-3 วันแรก เพื่อบรรเทาอาการและลดการอักเสบ
- พักใช้งานกล้ามเนื้อมัดที่อักเสบ และการใช้อุปกรณ์ช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อมัดที่อักเสบนั้นเกิดการเคลื่อนไหวหรือให้เคลื่อนไหวได้น้อยที่สุด
- การยืดและบริหารกล้ามเนื้อเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการยึดติด รวมถึงการทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อที่อักเสบเมื่ออาการดีขึ้น เป็นต้น
- การรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาเอ็นเสด) ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือ ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน
- การรักษาสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ แนวทางนี้จะแตกต่างกันขึ้นกับโรคหรือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น การปรับวิธีการรักษามะเร็ง เมื่อมีการอักเสบของกล้ามเนื้อจนส่งผลต่อการรักษาและคุณภาพชีวิตผู้ป่วย การหยุดหรือเปลี่ยนยา เมื่อการอักเสบของกล้ามเนื้อเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมถึง การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อกล้ามเนื้ออักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น
ข้อแนะนำและการป้องกัน
- ปฏิบัติตามแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำโดยรับประทานยาให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง เข้ารับการตรวจรักษาตามนัดหมายทุกครั้ง อาจไปพบแพทย์ก่อนกำหนดนัด หากอาการที่เป็นแย่ลง เช่น ปวดกล้ามเนื้อมากขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น หรืออาการผิดปกติหายแล้วกลับมาเป็นใหม่ มีไข้ มีผื่น ปัสสาวะขัด เป็นต้น
- ในส่วนการป้องกันจะเน้นการป้องกันที่สาเหตุ ซึ่งแตกต่างกันไป เช่น
- ป้องกันการใช้กล้ามเนื้อผิด โดยออกกำลังกายแต่พอดี ไม่หักโหม มีการวอร์มอัพและคูลดาวน์ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ
- ป้องกันการติดเชื้อ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ใช้หน้ากากอนามัย
- ใช้ยาเฉพาะที่จำเป็น ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ เมื่อซื้อยาใช้เองต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ
แหล่งข้อมูล