โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เป็นโรคที่หลอดเลือดแดงเกิดหนาตัว มีความแข็ง ขาดความยืดหยุ่นและอาจถึงขั้นตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดบริเวณดังกล่าวลดลง ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายและใกล้เคียงไม่เพียงพอ ในกรณีที่ตีบตันจะทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนปลายของหลอดเลือดที่ตีบตัน ทำให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อบริเวณส่วนปลายเท้าตาย ขึ้นกับตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ตีบหรือตัน
อาการ
โรคหรือภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยผู้ที่เป็นโรคส่วนใหญ่จะไม่ทราบจนกระทั่งเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน โดยอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตัน ได้แก่
- หลอดเลือดที่คอหรือสมอง อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอัมพาต อัมพฤกษ์ เวียนศีรษะ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
- หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิด โรคหัวใจขาดเลือด ปวดเค้นอก แน่นหน้าอก เหมือนมีสิ่งของมาทับอาจจะปวดร้าวมาไหล่และแขนซ้ายด้านใน เหงื่อออกมาก หายใจหอบเหนื่อย กรณีเป็นรุนแรงทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
- หลอดเลือดที่ขา อาจทำให้เกิดอาการปวดเวลาเดิน ชา มีแผลจะหายช้า เท้ามีสีดำคล้ำ อาจจะเกิดส่วนที่ดำและตายในส่วนปลายของตำแหน่งที่ตีบตันบริเวณเท้า
- เส้นเลือดที่ไต จะทำให้มีความดันโลหิตสูงและถ้าเป็นรุนแรงอาจจะทำให้ไตวายได้
กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง
กลไกการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งเกิดจากการมีไขมันหรือแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และการสะสมของไขมันและสารอื่น ๆ รวมถึงเม็ดเลือดขาวทำให้เกิดการอักเสบ มีเกล็ดเลือดมาเกาะ และแผ่นคราบ (plaque) หนาตัวขึ้น ซึ่งอาจจะแตกออกและเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง ทั้งนี้ หลอดเลือดแดงแข็งมักเกิดในหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ พบในหลอดเลือดแดงขนาดเล็กเป็นส่วนน้อย
ปัจจัยเสี่ยง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง
[supsystic-tables id=4]
- การสูบบุหรี่*
ความรุนแรงของความเสี่ยง อาจจะพิจารณาจากจำนวนซองบุหรี่ที่สูบต่อวัน X จำนวนปี
สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นนิโคตินและความถี่ที่สูบ
นอกจากนี้การได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุคคลในครอบครัวก็เพิ่มความเสี่ยงแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เอง
- ความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน อาจจะคำนวณจากดัชนีมวลกายหรือรอบเอว**
-
- ดัชนีมวลกาย (Body mass index) = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (ม.)๒
ตัวอย่าง ส่วนสูง 1.68 เมตร น้ำหนัก 68 กก. ดัชนีมวลกายเท่ากับ 68/(1.68)2 = 24.1 กก/ม2
ปกติ ดัชนีมวลกายถ้ามากกว่า 23 กก/ม2 จะถือว่าน้ำหนักเกินและเพิ่มความเสี่ยง - รอบเอว ชาย ไม่ควรเกิน 90 ซม. หญิง ไม่ควรเกิน 80 ซม. หรือ รอบเอวไม่เกิน ส่วนสูง/2
- ดัชนีมวลกาย (Body mass index) = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (ม.)๒
- ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท ขึ้นไป ที่สถานพยาบาล***
แม้แต่ระดับความดันโลหิต ≥ 130/85 มิลลิเมตรปรอทในกลุ่มที่อ้วนลงพุง ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- ไขมันผิดปกติ****
ไขมันที่ไม่ดี คือ ระดับ LDL-C ถ้ามากว่า 190 มก./ดล. ถือว่าความเสี่ยงสูงมาก การรักษาควรให้ลดระดับ LDL-C เท่าใด ขึ้นกับความเสี่ยง เช่น น้อยกว่า 100 มก./ดล. ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น เบาหวาน หรือ น้อยกว่า 70 มก./ดล. ในผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดไขมันที่ดี คือ HDL-C เพศชายควรมีระดับ มากกว่า HDL-C 40 มก./ดล. และเพศหญิง ควรมากกว่า 50 มก./ดล. และถ้ามากกว่า 60 มก./ดล. อาจจะมีส่วนในการป้องกันโรคหัวใจ
- เบาหวานหรือระดับน้ำตาลสูง*****
แม้ว่าจะมีระดับน้ำตาลสูงถึงระดับเบาหวาน แต่มีค่าน้ำตาลก่อนอาหารมากกว่า 100 มก./ดล. หรือน้ำตาลสูงที่ 2 ชั่วโมงหลังรับทานน้ำตาล 75 กรัม มากกว่า 140 มก./ดล. ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
การประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
บุคคลทั่วไปสามารถประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย application หรือ ทางอินเตอร์เน็ตที่ดูโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดและการแนะนำการปฏิบัติตนใน Thai CV risk score* ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลความเสี่ยง ได้แก่ อายุ เพศ การสูบบุหรี่ ประวัติโรคเบาหวาน ระดับความดันตัวบน ในกรณีที่ไม่ใช้ผลเลือดไขมัน จะใช้ค่าวัดรอบเอวและส่วนสูง หรือถ้ามีผลเลือด จะใช้ค่าโคเลสเตอรอล LDL-C HDL-C
* https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk/thai_cv_risk_score/
การวินิจฉัย
แพทย์จะซักประวัติอาการป่วย รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (ตามรายละเอียดในข้อสาเหตุ) พร้อมการตรวจร่างกาย การตรวจหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ รอบเอว น้ำหนัก ส่วนสูง เพื่อคำนวณดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต อาการแสดงของหลอดเลือดแดงแข็งบริเวณอวัยวะที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยง เช่น การตรวจคลำชีพจรที่เท้า ฟังเสียงฟู่ที่ท้อง หลัง และ คอ
ทั้งนี้เพื่อความแม่นยำ แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม เช่น
- การตรวจเพื่อเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด
- การตรวจเพื่อหาความผิดปกติของเส้นเลือดแดง โดยการใช้เทคนิคทางด้านเอ็กซเรย์หรือการสแกน เพื่อดูความผิดปกติหลอดเลือด เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-scan) การทำดอปเปอร์อัลตร้าซาวด์ (Doppler ultrasound) เพื่อวัดความดันและการไหลของเลือดในหลอดเลือดที่คาดว่าผิดปกติ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อวินิจฉัยและหาตำแหน่งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, การตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress test) เพื่อตรวจหาการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
- การฉีดสารทึบแสงพร้อมการเอ็กซเรย์ (Angiogram) เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือด
การรักษา
ภายหลังการวินิจฉัย รู้ตำแหน่งของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ภาวะของโรคร่วมหรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงแล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษาตามแนวทาง
- การรักษา/ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ ทั้งในรูปแบบของ
- การใช้ยา ซึ่งมียาหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ยาลดไขมัน ซึ่งยาที่มีหลักฐานชัดเจนส่วนใหญ่ คือ ยากลุ่มสแตติน (Statin) นอกจากนี้อาจจะใช้ยากลุ่มอื่นร่วมถ้าไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงจากยากลุ่มสแตติน (Statin) ยาลดความดันโลหิต กลุ่มเอจอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) กลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) และกลุ่มอื่น ๆ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต เป็นต้น ยาลดระดับน้ำตาลในผู้เป็นเบาหวาน อาจจะพิจารณายากลุ่มเอส จี แอล ที ทู อินฮิบิเตอร์ (SGLT2 inhibitor) หรือ จีแอลพีวัน รีเซ็บเตอร์อโกนิส (GLP-1RA) หรือ เม็ทฟอร์มิน (Metformin) หรือ ไพโอกลิททาโซน (Pioglitazone)
- การไม่ใช้ยา มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การควบคุมอาหาร กินให้ถูกโภชนาการ เน้นอาหารสุขภาพ เช่น ปลา ผัก ข้าวกล้อง ผลไม้ไม่หวานจัด การเพิ่มการออกกำลังกายตามสุขภาพร่างกายและอายุ งดบุหรี่รวมถึงหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง แอลกอฮอล์ การพักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกปล่อยวาง เป็นต้น
- การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยยาป้องกันเกาะกันของเกล็ดเลือด (Antiplatelet) เช่น แอสไพริน (Aspirin), โคพิโดรเกล (Clopidrogel) หรือ ยาอื่นๆ หรือการใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาลิน (Warfarin) ในกรณีที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดร่วมด้วย แต่ในกรณีที่หลอดเลือดแดงตีบเฉียบพลันพิจารณายาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic)
- การขยายหลอดเลือด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำบอลลูน (Balloon) การใช้ลวดตาข่าย (Stent) ถ่างหลอดเลือด
- การผ่าตัดทำบายพาส (Artery bypass grafting) เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดแดงที่หัวใจโดยการนำหลอดเลือดดำที่ขามาเชื่อมหลอดเลือดแดงเข้าด้วยกันเพื่อสร้างทางเบี่ยงข้ามบริเวณที่หลอดเลือดตีบตัน ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างปกติ ลดอาการเจ็บหน้าอก และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด
ซึ่งจะเลือกวิธีการใด ขึ้นกับว่าเป็นหลอดเลือดของอวัยวะใด การตีบตันเกิดในตำแหน่งใดของหลอดเลือด อายุ สุขภาพร่างกายผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์
ข้อแนะนำและการป้องกัน
- ผู้ป่วยต้องปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพและบางรายซึ่งส่วนใหญ่อาจจะต้องใช้ยาควบคุมเพื่อชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ทั้งนี้หากพบอาการที่ผิดปกติเพิ่มเติม ให้ปรึกษาแพทย์ทันที
- ผู้ที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคนี้ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุทันที แม้ว่าอาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ แต่ผู้ป่วยยังคงมีความเสี่ยงในการที่อาการดังกล่าวจะกลับมา และส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ มากกว่าเดิม
- บุคคลทั่วไป สามารถป้องกันและชะลอภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ได้โดย
- การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยควรงดสูบบุหรี่ งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
- การควบคุมอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการทานอาหารในทุกมื้อ ไม่ควรทานในปริมาณมากหรือตามใจปาก โดยมีมื้อหลักไม่เกิน 3 มื้อ มื้อเช้าสำคัญอย่าขาด มื้อเย็นควรให้น้อยที่สุด เพราะเป็นช่วงก่อนเข้านอน ในแต่ละมื้อเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะธัญพืช ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูง เช่น ของมัน ของทอด เนื้อติดมัน และอาหารที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือนมไขมันต่ำแทนน้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้งขึ้นไป โดยเลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
- การควบคุมน้ำหนัก ควรให้ความสำคัญกับปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ต่อวัน เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ไม่ให้น้ำหนักตัวเกินหรือมีภาวะอ้วน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการนำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้
- รักษา/ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน ให้ได้ตามเป้าหมาย
- ตรวจสุขภาพเพื่อดูการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และการทำงานของไต เพื่อคัดกรองความผิดปกติต่าง ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค
แหล่งข้อมูล
- en.wikipedia.org/wiki/Atherosclerosis
- www.mayoclinic.org
- www.honestdocs.co/atherosclerosis-cur
- https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk/thai_cv_risk_score/