โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable ฺBowel Syndrome, IBS) เป็นโรคที่มีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ในส่วนการทำงานของลำไส้ พบในผู้ใหญ่มากกว่าวัยหนุ่มสาว พบในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคนี้ มากกว่าครอบครัวที่ไม่มีสมาชิกเคยเป็นโรคนี้มาก่อน โรคลำไส้แปรปรวนไม่ทำให้เกิดอันตรายรุนแรง แต่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย
อาการ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมมากในท้อง เรอบ่อย ๆ ถ่ายอุจจาระมีลมด้วย
- ปวดท้อง ซึ่งอาการจะดีขึ้นหลังขับถ่าย หลังจากนั้นก็กลับมาปวดท้องใหม่ โดยอาการปวดในแต่ละครั้งรุนแรงไม่เท่ากัน บางครั้งปวดมาก บางครั้งปวดน้อย
- ท้องผูกหรือท้องเสียโดยเฉพาะหลังกินอาหาร หรือเมื่อตื่นนอนต้องรีบขับถ่าย
- ท้องผูกสลับท้องเสีย เป็น ๆ หาย ๆ บ่อยครั้งอุจจาระคล้ายมีมูกปน แต่ไม่มีเลือดปน
- มีอาการคล้ายถ่ายอุจจาระไม่สุด
- กลั้นอุจจาระไม่อยู่ เมื่อปวดอุจจาระต้องเข้าห้องน้ำทันที
เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการของลำไส้แปรปรวน ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาการอาจแย่ลงได้ หรือพบว่ามีอาการอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ มีอาการบวมที่ท้อง รวมถึงอาการของโรคโลหิตจาง เช่น รู้สึกเหนื่อย หมดแรง หายใจถี่ หัวใจเต้นแรง ผิวซีด ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
สาเหตุ
- การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติ นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก
- ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหารซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการตอบสนองมากกว่าปกติ มีการบีบตัวและการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้น จนมีอาการปวดท้องและท้องเสีย หรือท้องผูกเป็นต้น นอกจากอาหารแล้วตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญ คือ ความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนเสริมให้มีอาการมากขึ้น
- มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง (Brain-gut axis) โดยเกิดจากความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงานซึ่งมีหลายชนิดและทำหน้าที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้อาจมีปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เพศ อายุ พันธุกรรม ความไวต่ออาหารที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะบางตัวด้วย
การวินิจฉัย
โรคลำไส้แปรปรวนจะได้รับการวินิจฉัย ก็ต่อเมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ ที่มีอาการใกล้เคียงกันออกแล้ว และยังหาสาเหตุของอาการไม่ได้ โดยแพทย์จะมีการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจเลือดเพื่อหาภาวะโลหิตจาง ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ และการติดเชื้อ ตรวจอุจจาระเพื่อหาการติดเชื้อในทางเดินอาหารและตรวจหาเลือดที่ปนมาในอุจจาระ ตรวจ X-rays ลำไส้ใหญ่ หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Flexible Sigmoidoscopy) หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscopy) เพื่อหาสัญญาณและอาการของการอุดตันหรือการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่ หรือส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Upper Endoscopy) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนกลางอกหรืออาหารไม่ย่อย ซึ่งหากผลการตรวจร่างการและการสืบค้นต่าง ๆ อยู่เกณฑ์ปกติ ไม่พบโรคอื่น ๆ จึงสรุปว่า เป็นโรคลำไส้แปรปรวน
การรักษา
แนวทางการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน เป็นการรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาแก้ปวดท้อง หรือน้ำมันหอมระเหยช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหาร การใช้ยาระบาย จะช่วยทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มและเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น การใช้ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย จะช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อในลำไส้ มีเวลาให้อุจจาระแข็งและจับตัวเป็นก้อนมากขึ้น
นอกจากนี้ยังอาจใช้ยาในกลุ่มจิตเวช เช่น ยาลดอาการซึมเศร้า ยาคลายเครียด รวมถึงการปรึกษาโภชนากรเพื่อปรับเปลี่ยนประเภท/ปริมาณ และ/หรือพฤติกรรมการบริโภคอาหาร
ข้อแนะนำและการป้องกัน
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร สังเกตและหลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการ รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยลดอาการ เช่น ทานกล้วย แอบเปิ้ล อาหารเส้นใยในผู้ที่มีอาการท้องผูก ขณะที่ทานซีเรียล ถั่ว ธัญพืช ในผู้ที่มีอาการท้องเสีย
- รับประทานอาหารตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร และไม่ควรรีบรับประทาน โดยรับประทานอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง กินอาหารที่ย่อยง่าย และรสไม่จัด
- กินอาหารในกลุ่มโปรไบโอติก (Probiotic) เช่น โยเกิร์ต เพื่อปรับสมดุลของแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ โดยจะมีแบคทีเรียที่เป็นมิตรต่อร่างกาย ช่วยสร้างสมดุลให้กับแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางงานวิจัยยืนยันถึงประโยชน์ของโปรไบโอติกอย่างชัดเจน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม
- ดื่มน้ำสะอาด ประมาณอย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม (เช่น โรคหัวใจล้มเหลว) เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียจากท้องเสีย เพื่อป้อง กันภาวะขาดน้ำ และเพื่อป้องกันท้องผูก
- ปรึกษาแพทย์เรื่องการกินยาแก้ท้องเสียในลักษณะที่เป็นการป้องกันไว้ก่อน
- ออกกำลังกายแต่พอดี และเป็นประจำ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด กระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย
- www.haamor.com
- www.bangkokhospital.com
- www.pobpad.com