การตรวจสุขภาพมีจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรค ทำให้ตระหนักถึงโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการตรวจสุขภาพของทุกเพศที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป จะมีการคัดกรองเบื้องต้น ได้แก่
- การซักประวัติ และการตรวจร่างกายทั่วไป
- การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดเส้นรอบเอว วัดความดันโลหิตเป็นประจำ อาจตรวจวัดเองที่บ้านหรือที่สถานพยาบาล เมื่อมีโอกาสไปหาหมอด้วยเรื่องอื่น (เช่น ไม่สบาย วางแผนครอบครัว) ฉีดวัคซีนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- การตรวจสุขภาพช่องปากและฟันจากทันตแพทย์หรือทันตาภิบาลเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
- แบบประเมินสภาวะสุขภาพ:
- ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ภาวะซึมเศร้า
- การติดนิโคตินในผู้สูบบุหรี่ (ถ้าไม่สูบบุหรี่ไม่ต้องประเมิน)
- การดื่มแอลกอฮอล์ (ถ้าไม่ดื่มแอลกอฮอล์ไม่ต้องประเมิน)
- การใช้ยาและสารเสพติด (ถ้าไม่ใช้ยาและสารเสพติดไม่ต้องประเมิน)
กลุ่มวัยทำงาน 18 – 60 ปี
- การตรวจตา โดยทีมจักษุแพทย์ อายุ 40 – 60 ปี อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อวัดสายตาและคัดกรองโรคต้อหิน/ภาวะความดันลูกตาสูง/ความผิดปกติอื่น ๆ
- การตรวจอุจจาระ (Fecal occult blood test) อายุ 50 – 60 ปี ควรตรวจปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แนะนำให้ตรวจเลือดดู
- อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือด ทุก 5 ปี
- อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ทุก 3 ปี
- ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจ 1 ครั้ง หากเคยตรวจพบว่าปกติ ไม่ต้องตรวจซ้ำ
- ไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ตรวจครั้งเดียวเฉพาะคนที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535
- สำหรับสตรี นอกจากการตรวจดังกล่าวข้างต้นแล้ว ควรตรวจเพิ่ม ได้แก่
- การตรวจเต้านม จากแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม เมื่ออายุ 30 – 39 ปี ควรตรวจทุก 3 ปี และอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการเก็บเซลล์โดยวิธีพื้นฐาน (conventional pap smear) ทุก 3 ปี
กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
- การตรวจตา โดยทีมจักษุแพทย์
- อายุ 60 – 64 ปี ควรตรวจทุก 2 – 4 ปี และตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1 – 2 ปี
- การตรวจอุจจาระ
- (Fecal occult blood test) ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- การประเมินสภาวะสุขภาพ ภาวะโภชนาการ ความเสี่ยง โรคกระดูกพรุนการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน และอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับประเมินสมรรถภาพสมองเพิ่มเติม
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แนะนำให้ตรวจ
- ระดับไขมันในเลือด ทุก 5 ปี
- ระดับน้ำตาลในเลือดทุกปี
- ระดับครีอะทินีน (creatinine) ในเลือดทุกปี เพื่อประเมินภาวะการทำงานของไต
- ปัสสาวะทุกปี
- ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) อายุ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี
- สำหรับสตรี นอกจากการตรวจดังกล่าวข้างต้นแล้ว ควรตรวจเพิ่มเติม ได้แก่
- การตรวจเต้านม จากแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม เมื่ออายุ 60 – 69 ปี ควรตรวจทุกปี และอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสม
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุ 60 – 64 ปี ควรตรวจคัดกรองด้วยวิธีการเก็บเซลล์โดยวิธีพื้นฐาน (conventional pap smear) ทุก 3 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสม
จากรายการดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในการตรวจสุขภาพมีรายการตรวจที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอายุ เพศ ดังนั้น การตรวจสุขภาพไม่ใช่เพียงว่าอยากจะตรวจอะไรก็ตรวจ หรือตรวจมากจะดี ต้องตรวจเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมตามวัย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข http://www.healthcheckup.in.th/article/10
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com