มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาอาการปวดหลัง โดยเฉพาะหลังส่วนบนลามถึงบริเวณคอ และเมื่อถามถึงสาเหตุของอาการดังกล่าว จะพบว่ามีทั้งสาเหตุที่แก้ไขได้ด้วยตัวเอง และอีกหลายสาเหตุต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือ มาดูกันว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่พอจะแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
สาเหตุจากโต๊ะทำงานของคุณ
อาการปวดหลังที่เกิดจากการนั่งโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน เป็นอาการเจ็บป่วยที่พบบ่อย และเป็นเหตุผลที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องลาหยุดงาน ทั้งนี้ท่าทางการนั่งที่ไม่ถูกวิธีและการแบกน้ำหนักที่มากเกินไป เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ปวดหลัง
การแก้ไขคือ ถ้าคุณนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรตั้งหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตาเพื่อที่จะไม่ต้องก้มมองหน้าจอ ขอเสริมอีกว่าหากงานของคุณต้องมีบางช่วงบางเวลาต้องยกของหนัก ให้ใช้ท่างอหัวเข่า หยิบจับของ แล้วใช้แรงขาช่วย ไม่ใช้การก้มตัวลงไปยกของโดยตรง
สาเหตุจากออกกำลังกายผิดวิธี
เรามักใส่ใจกับการออกกำลังกายไปยังอวัยวะหรือกล้ามเนื้อเป้าหมายโดยตรง จนลืมให้ความสำคัญกับกล้ามเนื้อบริเวณอื่นซึ่งช่วยรักษาสมดุลของร่างกายไว้ เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแล ร่างกายอาจขาดสมดุล นำไปสู่อาการปวดของกล้ามเนื้อหลังหรือคอได้
การแก้ไขคือ ควรให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายทุกสัดส่วน และลองใช้การออกกำลังกายพิลาทิส (Pilates exercises) เพื่อป้องกันอาการ ปวดหลัง และช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อพื้นฐานที่อาจลดความเสี่ยงต่อการปวดได้
สาเหตุจากกระเป๋าสะพายข้าง
แม้กระเป๋าสะพาย จะถูกออกแบบมาเพื่อให้สะพายที่ไหล่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะดีต่อร่างกายเสมอไปเพราะการสะพายกระเป๋าข้างใดข้างหนึ่ง จะส่งผลต่อไหล่หรือคอ ทำให้เกิดอาการปวดตามมา และอาจถึงขั้นกระดูกสันหลังบิดได้ในกรณีใช้งานระยะยาว
การแก้ไขคือ ในวันที่ต้องบรรจุของปริมาณมาก แนะนำให้เปลี่ยนจากกระเป๋าสะพาย เป็นกระเป๋าเป้หลัง(Backpack) แทน ข้อดีคือน้ำหนักจะกระจายทั่วไหล่ทั้งสองข้าง แต่ต้องมั่นใจว่าน้ำหนักในกระเป๋าเป้หลัง ต้องไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวด้วย
สาเหตุจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่
ทุกครั้งที่คุณสูบบุหรี่ นั่นหมายถึงคุณลดปริมาณออกซิเจนที่ไปเลี้ยงระบบกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาต่อกล้ามเนื้อ และความเสื่อมสภาพของระบบต่าง ๆ ในร่างกายตามมา
การแก้ไขคือ ลดหรืองด การนำสารนิโตตินจากบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย ทั้งจากการสูดดมควันโดยทางอ้อม และสูบบุหรี่เข้าสู่ร่างกายโดยตรง
สาเหตุจากระดับความเครียด
เมื่อมีความเครียด ร่างกายจะตอบสนองด้วยอาการปวด ตึงกล้ามเนื้อ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อภาวะดังกล่าว และเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดได้การแก้ไขคือ อย่าเก็บตัวอยู่เงียบ ๆ เพราะจะทำให้ความเครียดเพิ่มมากขึ้น หาวิธีเยียวยาจิตใจ ปรับมาเน้นไลฟ์สไตล์สุขภาพ ทำกิจกรรมกับกลุ่มคนรักสุขภาพ สามารถลดปัญหาลงได้มาก
- โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) และหมอนรองกระดูกทับเส้น (Herniated disc) เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกอ่อนจะสึกหรอไปตามกาลเวลา กรณีที่เกิดบริวณเข่า สามารถทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) ในทำนองเดียวกันหมอนรองกระดูกสันหลัง อาจมีการเคลื่อน แตกร้าว จนเกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated disc) ได้ ทั้ง 2 สาเหตุสามารถนำไปสู่อาการปวดหลังได้เช่นกัน
- กระดูกหักแบบอัด (Compression fractures) หรือโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) อายุที่เพิ่มขึ้น จะมาพร้อมความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน ซึ่งโรคนี้จะทำให้กระดูกอ่อนแอและเปราะบาง มีแนวโน้มที่จะแตกหักง่าย อาการปวดหลังจึงอาจเป็นสัญญาณแรกของโรคกระดูกพรุนโดยที่คุณไม่รู้ตัว
- โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี (Gallbladder diseases) ถุงน้ำดี เป็นอวัยวะในช่องท้องบริเวณใต้ตับ ทำหน้าที่ปล่อยน้ำดีเข้าไปในลำไส้เล็ก เพื่อช่วยในการย่อยไขมัน บางครั้งการอุดกั้นทางเดินน้ำดีจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) ก่อให้เกิดการอักเสบ และนำมาซึ่งการปวดหลังได้
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งข้อมูล : www.prevention.com
ภาพประกอบ : www.freepik.com