ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic system) จัดเป็นส่วนหนึ่งของระบบหมุนเวียน (Circulatory system) ในร่างกาย ประกอบด้วย น้ำเหลือง (Lymph) หลอดน้ำเหลือง (Lymphatic vessel) ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) รวมอวัยวะน้ำเหลือง (Lymphatic organ) มีหน้าที่หลักคือ นำของเหลวที่ซึมออกมาจากหลอดเลือดฝอยกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำ รวมถึงสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
อวัยวะที่เกี่ยวข้อง
- น้ำเหลือง (Lymph) เป็นของเหลวที่ซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยออกมาอยู่ระหว่างเซลล์หรือรอบ ๆ เซลล์ ต่อมาของเหลวบางส่วนกลับเข้าสู่หลอดน้ำเหลือง เรียก น้ำเหลือง มีส่วนประกอบคล้ายกับพลาสมา (Plasma) ในเลือด แต่มีโปรตีนน้อยกว่า และไม่มีเม็ดเลือดแดง อย่างไรก็ตามส่วนประกอบนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงโดยขึ้นกับว่าน้ำเหลืองมาจากอวัยวะใด เช่น น้ำเหลืองที่มาจากบริเวณลำไส้เล็กซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการดูดซึมไขมันสูง ทำให้น้ำเหลืองมีลักษณะคล้ายน้ำนม ขณะที่น้ำเหลืองที่มาจากบริเวณต่อมน้ำเหลือง จะมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์จำนวนมาก
- หลอดน้ำเหลือง (Lymph vessel) เป็นท่อตันมีอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยมีทิศทางมุ่งเข้าสู่หัวใจ เริ่มจากท่อน้ำเหลืองฝอยจากบริเวณต่าง ๆ มารวมเป็นท่อน้ำเหลืองขนาดใหญ่ขึ้น ไหลเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองหลักของร่างกาย ได้แก่ ท่อน้ำเหลืองทางด้านซ้าย (Left lymphatic duct) หรือท่อน้ำเหลืองทอราซิก (Thoracic duct) และท่อน้ำเหลืองทางด้านขวา (Right lymphatic duct) ก่อนไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำ จนถึงหลอดเลือดดำใหญ่ เวนาคาวา (Venacava) และเข้าสู่หัวใจ หลอดน้ำเหลืองมีลักษณะคล้ายกับหลอดเลือดดำ โดยมีลิ้นกั้นป้องกันการไหลกลับของน้ำเหลือง การไหลของน้ำเหลืองจะไปอย่างช้า ๆ จากการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ หลอดน้ำเหลือง จากความแตกต่างของความดันระหว่างหลอดน้ำเหลืองเล็กและหลอดน้ำเหลืองใหญ่ รวมถึงการหายใจเข้าทำให้ปอดขยายตัว
- ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) เป็นต่อมที่เชื่อมต่อกับหลอดน้ำเหลือง โดยกระจายอยู่เป็นระยะ ๆ ระหว่างทางเข้าสู่หลอดเลือดดำและหัวใจ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้และขาหนีบ ภายในต่อมน้ำเหลืองมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยจะช่วยในการกรองแบคทีเรียและสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด นอกจากต่อมน้ำเหลืองแล้ว ยังมีอวัยวะอื่น ๆ รวมเรียกว่าอวัยวะน้ำเหลือง (Lymphatic organ) ดังนี้
- ต่อมทอนซิล (Tonsil) เป็นต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ มีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ทำหน้าที่ดักจับและทำลายจุลินทรีย์ที่ผ่านมาในอาหารไม่ให้ผ่านเข้าสู่หลอดอาหารและกล่องเสียง ถ้าทอนซิลติดเชื้อจะมีอาการอักเสบและบวมขึ้น
- ต่อมไทมัส (Thymus gland) เป็นต่อมไร้ท่อมีตำแหน่งอยู่ตรงทรวงอก ด้านหน้าหลอดเลือดใหญ่ของหัวใจ เนื้อเยื่อส่วนใหญ่ของต่อมไทมัสทำหน้าที่พัฒนาเม็ดเลือดขาวชนิด ที ลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) โดยเซลล์ที่สร้างจะถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือดและน้ำเหลืองไปสู่อวัยวะต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายจากผู้อื่นด้วย
- ม้าม (Spleen) จัดเป็นต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีตำแหน่งอยู่ใต้กะบังลมด้านซ้ายติดกับด้านหลังของกระเพาะอาหาร โดยมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ช่วยในการป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่กระแสเลือด และสร้างแอนติบอดี (Antibody) รวมถึงการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดที่หมดอายุ
โรคระบบน้ำเหลืองที่พบบ่อย
- ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นภาวะบวม แดง ร้อน กดเจ็บของต่อมน้ำเหลือง บางครั้งมีหนอง และ/หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ แขนขาบวม มักพบที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณ ลำคอ ใต้คาง ใต้รักแร้ และบริเวณขาหนีบ อาการดังกล่าวบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น การติดเชื้อหวัด วัณโรค โรคเอดส์ หรือการเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- วัณโรคต่อมน้ำเหลือง วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายได้เป็นระยะเวลานาน สามารถแพร่กระจายผ่านทางการไอ จาม หายใจ ซึ่งนอกเหนือจากการติดเชื้อและเป็นวัณโรคปอด ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่แล้ว เชื้อนี้ยังสามารถติดไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำลาย สมอง ลำไส้ ได้อีก ผู้ป่วยวัณโรคต่อมน้ำเหลือง จะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต กลายเป็นฝีและแตกออกมีหนอง ปัจจุบันการแพทย์พัฒนามากขึ้น วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มี 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s Lymphoma) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma) โดยคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์จะมีการแบ่งตัวจนไม่สามารถควบคุมได้ และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง พบในวัยผู้ใหญ่หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
- บวมน้ำเหลือง เป็นภาวะที่มีการคั่งค้างสะสมของน้ำเหลืองชั้นใต้ผิวหนัง อันเนื่องมาจากทางเดินน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงกันถูกอุดกั้นหรือถูกทำลาย จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ การผ่าตัด ภาวะติดเชื้อ หลอดเลือดดำขอดหรือตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ใช้นิ้วกดแล้วเป็นรอยบุ๋ม แต่สามารถยุบบวมเองได้ ต่อมาผิวหนังมีความผิดปกติ เกิดการสะสมของพังผืดใต้ผิวหนังมาก ผิวมีสีคล้ำและหนาขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการอักเสบ ติดเชื้อใต้ผิวหนัง นำสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
เรียบเรียงข้อมูลโดย: กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา: www.britannica.com www.livescience.com th.wikipedia.org
ภาพประกอบจาก: www.shutterstock.com