คุณอาจมีชีวิตสุดเหวี่ยงในช่วงอายุที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองสุขภาพก็เริ่มถดถอย สารเคมีและฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมนิสัยการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยดีก็อาจจะส่งผลไปถึงหัวใจและหลอดเลือดของเราอย่างเห็นได้ชัดขึ้น จนกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ
สิ่งที่ควรทำเมื่อเข้าสู่วัยทอง
1. ระวังเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่ออายุมากขึ้น ระบบการเผาผลาญก็เริ่มลดน้อยลง ทำให้การกินอาหารชนิดเดิมๆ ปริมาณเดิมๆ อาจเป็นสาเหตุให้น้ำหนักของคุณเพิ่มมากขึ้นทีละนิด และไขมันในร่างกายก็จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจเช่นกัน เพราะฉะนั้นควรหมั่นตรวจเช็คน้ำหนักของตนเองอยู่เสมอ โดยชั่งน้ำหนักตอนเช้าก่อนการรับประทานอาหาร ในช่วงเวลาเดิมทุกวัน พร้อมจดบันทึกเพื่อดูการเปลี่ยนแปลง
2. กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ ลดแคลอรี่ ลดคาร์โบไฮเดรต ไขมัน น้ำตาล รวมทั้งอาหารแปรรูปต่างๆ ที่อุดมไปด้วยโซเดียม เน้นการกินผัก ผลไม้ การทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างพอเพียงจะทำให้คุณไม่หิวในระหว่างวัน หรือแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยขึ้นก็ช่วยได้เช่นกัน
3. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
ถึงแม้ร่างกายของคุณจะดูปกติ ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย แต่การตรวจร่างกายปีละครั้งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะความผิดปกติหรือโรคร้ายบางอย่างไม่ได้แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น การตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละครั้งจะทำให้สบายใจ และอาจพบปัญหาสุขภาพแต่เนิ่นๆ ในระยะที่ยังไม่ลุกลามร้ายแรง ทำให้การรักษาสามารถทำได้ง่าย และมีโอกาศหายมากขึ้น
4. เลิกบุหรี่
หากช่วงอายุที่ผ่านมาคุณยังหยวนๆ ให้กับการเลิกบุหรี่ เข้าเลข 4 แล้วก็ควรตัดให้ขาดซักที เพราะการสูบบุหรี่สามารถส่งผลเสียมากมายต่อร่างกายจากสารพิษอันตรายต่างๆ เช่น นิโคติน แอมโมเนีย หรือทาร์ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคร้ายได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็งปอด หลอดอาหาร โรคเกี่ยวกับเส้นเลือดตีบ ที่อาจต่อเนื่องถึงความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจวาย และโรคเรื้อรังมากมาย ส่งผลให้ร่างกายถดถอยได้เร็วยิ่งขึ้น
5. ออกกำลังกาย
ซึ่งโดยปกติแล้วการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องมีการเตรียมร่างกายอย่างเหมาะสม อุ่นเครื่องอย่างน้อย 5-10 นาที ควรออกกำลังอย่างน้อยประมาณ 30-45 นาทีในแต่ละวัน ซัก 3-4 วันต่อสัปดาห์ แน่นอนว่าการขยับตัวทำสิ่งต่างๆ จะช่วยคงความแอคทีฟ กะปรี้กะเปร่าในชีวิตประจำวัน แต่การออกกำลังกายที่หนักหน่วงเกินไปอาจเป็นปัญหาต่อสุขภาพ เช่นกล้ามเนื้อและข้อต่อ
6. ทำสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด
ความเครียดสามารถส่งผลเสียในระยะยาวได้ ยิ่งช่วงอายุที่มีอารมณ์แปรปรวนพร้อมหน้าที่ความรับผิดชอบ อาจจะหลีกเลี่ยงอาการเครียดได้ยาก แต่ก็ควรมีลิมิต และใช้เวลาอยู่กับตัวเอง หยุดพักบ้าง เยียวยาความเครียดด้วยการทำสมาธิ ผ่อนคลายใจ ร่างกาย จัดการระบบความคิด ก่อนที่จะลืมตาขึ้นมารับมือกับสิ่งต่างๆ อีกครั้ง
7. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
เมื่อคุณอายุมากขึ้น การนอนน้อยจะมีผลกระทบกับร่างกายของคุณมากกว่าเดิม ความเหนื่อยล้าจะกินเวลานานขึ้น สมองจะเฉื่อยชาลง ขี้หลงขี้ลืม ในบางคนอาจจะมีอาการนอนไม่ค่อยหลับ ตื่นง่ายเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งหากมีอาการแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์เพื่อบำบัดรักษาต่อไป
ปัญหาสุขภาพในวัยทองถือเป็นจุดหมายที่หลายคนไม่ต้องการแต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นทางที่ดี การเริ่มต้นดูแลสุขภาพร่างกายตั้งแต่ตอนนี้เลยก็จะเป็นการปูพื้นฐานที่ดีแก่สุขภาพในระยะยาว จำเอาไว้ว่าสุขภาพดีเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงอายุ 40 ก่อน หรือใครอายุเกินแล้ว ก็ไม่สายที่จะเริ่มเสมอ!
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.prevention.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com