ไข้ (Fever) เกิดจากการที่ร่างกายพยายามปรับสมดุล เนื่องจากมีการอักเสบเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น มีผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น รวมทั้งมีการระบายความร้อนออกด้วยการขับเหงื่อ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง ส่วนใหญ่มักจะถือว่า มีไข้ถ้าวัดอุณหภูมิทางปากได้มากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส ไข้ แบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามระยะเวลาที่มีอาการ คือ ไข้เฉียบพลัน ซึ่งมักจะมีอาการมาไม่เกิน 7 วัน หรือ ไข้เรื้อรัง คือเป็นไข้มาแล้วอย่างน้อย 3 สัปดาห์ แต่ถ้าอยู่ในระหว่าง 7 – 21 วันมักจะเรียกว่า ไข้กึ่งเฉียบพลัน หรืออาจจะแบ่งตามสาเหตุ อวัยวะที่มีอาการก็ได้ การแบ่งระยะเวลาของไข้ อาจจะบอกถึงกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดไข้
สาเหตุของไข้ เกิดจากทั้งโรคติดเชื้อ และโรคไม่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม โรคติดเชื้อเป็นสาเหตุที่สำคัญของไข้ โดยเฉพาะไข้เฉียบพลัน ถือเป็นร้อยละ 80 ขึ้นไป ในขณะที่ไข้เรื้อรังอาจเกิดจากโรคไม่ติดเชื้อ ร้อยละ 30 – 40 โรคไม่ติดเชื้อที่สำคัญ ที่เป็นสาเหตุของไข้ ได้แก่ โรคภูมิแพ้ตนเอง โรครูมาตอยด์ โรคคอพอกเป็นพิษ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่พบบ่อย ๆ เท่านั้น จริง ๆ แล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย
โรคติดเชื้อ เป็นสาเหตุสำคัญ ทั้งไข้เฉียบพลัน และไข้เรื้อรัง เชื้อโรคที่ทำให้เกิดไข้ อาจเป็นได้ทั้ง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค เชื้อรา เชื้อพยาธิ อย่างไรก็ตาม เชื้อโรคเหล่านี้บางอย่างเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของไข้เฉียบพลัน เช่น แบคทีเรีย ไวรัส แต่บางอย่างเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของไข้เรื้อรัง ได้แก่ วัณโรค เป็นต้น แม้กระทั่งในแต่ละกลุ่มเชื้อโรคเอง บางชนิดก็ทำให้เกิดไข้เฉียบพลัน บางชนิดก็ทำให้เกิดไข้เรื้อรังได้ หรือเกิดได้ทั้ง 2 แบบ ความรุนแรงของอาการก็แตกต่างกันได้ในแต่ละคน แม้จะเกิดจากการติดเชื้อชนิดเดียวกันก็ตาม เช่น ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ส่วนใหญ่จะหายเอง แต่บางรายอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้
คนที่มีไข้ จะรู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ไม่อยากไปทำงาน อยากจะพักผ่อน ซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกายในการปรับสมดุล นอกจากนั้นยังมีอาการตามอวัยวะที่มีการอักเสบเกิดขึ้น มีสารคัดหลั่งของระบบนั้น ๆ ออกมามากขึ้น เช่น ถ้ามีการอักเสบที่ปอด ก็จะไอ มีเสมหะ ถ้าอักเสบที่ข้อก็จะปวดข้อ ข้อบวมเนื่องจากมีน้ำในข้อเพิ่มขึ้น เป็นต้น สารคัดหลั่งอาจมีลักษณะเป็นสีเหลืองข้น หรือเป็นหนองได้ ถ้ามีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว และเนื้อเยื่อที่ตายมาสะสมจำนวนมากในสารคัดหลั่งนั้น เช่น น้ำมูกเหลืองข้น ฝี
โดยทั่วไป เมื่อมีไข้ก็ต้องกินยาลดไข้ก่อน เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการปฐมพยาบาลขั้นต้น และยาลดไข้สามารถซื้อหาได้ง่ายจากร้านขายยาทั่วไป นอกจากนั้นผู้ที่มีไข้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อชดเชยการการสูญเสียเหงื่อจากการระบายความร้อน
ไข้จะหายไปเมื่อร่างกายควบคุม หรือกำจัดสาเหตุของไข้ออกจากร่างกายไปได้ ดังนั้นการที่ไข้จะหายเร็วแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัยใหญ่ ๆ 3 ประการคือ ภูมิต้านทานของคนคนนั้น สาเหตุของไข้ และการรักษาจำเพาะที่ต้นเหตุ เนื่องจากไข้เฉียบพลันส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และมักจะหายเองได้ใน 3 – 7 วัน ดังนั้นการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นดังกล่าวก็เพียงพอ อาจไม่ต้องมาพบแพทย์ ถ้ามียารักษาอาการร่วมต่าง ๆ อยู่แล้ว
เมื่อไรที่ควรมาพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ควรมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาเพิ่มเติม เนื่องจากไข้ที่มีอาจไม่ใช่ไข้จากโรคติดเชื้อ หรือเป็นไข้จากโรคติดเชื้อที่ต้องได้รับการรักษาจำเพาะ หรือเป็นโรคติดเชื้อที่อาการอาจจะทวีความรุนแรง จนอาจเกิดการติดเชื้อหรือลุกลามไปยังระบบอื่น ๆ จนอาจถึงแก่ชีวิตได้ การกินยาลดไข้โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลเป็นจำนวนมาก หลายวันติดต่อกัน อาจมีพิษต่อตับ ทำให้ตับวายจนถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
- เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ เมื่อมีการติดเชื้ออาจเกิดการลุกลามได้รุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่มีการทำงานของอวัยวะในร่างกายบกพร่องอยู่เดิม ซึ่งเมื่อมีไข้สูงอยู่นาน อาจทำให้ร่างกายทนไม่ไหว ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่ยังควบคุมไม่ได้ดี โรคตับแข็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อายุมากหรือเด็กแรกคลอด เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีไข้ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงขึ้น จนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ไอมากขึ้น ท้องเสียมากขึ้น ปัสสาวะขัดขุ่นมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ได้รับการักษาตามอาการเต็มที่แล้ว
- มีอาการผิดปกติหลาย ๆ ระบบร่วมกัน เช่น มีดีซ่านร่วมกับจุดเลือดออก หอบเหนื่อย หรือมีความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
- มีการระบาดของโรคติดเชื้อในชุมชนที่พักอาศัย ซึ่งบางอย่างอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ในบางช่วงอายุ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่
- มีประวัติสัมผัสโรคบางอย่างที่มีการรักษาจำเพาะ เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้สุกใส
- ไข้เรื้อรัง กินยาลดไข้อย่างเดียว ไม่หาย หรือนานกว่าที่คาดหมาย อาจจะเกิดจากโรคติดเชื้อเรื้อรัง หรือจากโรคไม่ติดเชื้อ ควรมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ
- ไม่แน่ใจว่าไข้เกิดจากสาเหตุใด จะมีอาการรุนแรงหรือไม่ ก็ควรจะมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการเด่นชัด มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุ และประเมินความรุนแรงของอาการและสาเหตุ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้จากประวัติและการตรวจร่างกาย ในกรณีที่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของไข้ว่าอาการไม่รุนแรง หรือแพทย์คิดว่าการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ช่วยในการวินิจฉัยในขณะนั้นแพทย์จะสั่งการรักษาได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาไปก่อนด้วยยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตราย ยาปฏิชีวนะจะได้ประโยชน์เฉพาะไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น กรณีที่ไข้เกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อก็ต้องใช้ยารักษาสาเหตุอื่น ๆ เช่น ไข้จากคอพอกเป็นพิษ ก็ต้องรักษาด้วยยาลดการทำงานของไทรอยด์ ไข้จากโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเองก็ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ยังมีความสับสนระหว่างยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ หมายถึง ยาที่ไปลดการอักเสบในร่างกาย แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ส่วนยาปฏิชีวนะ หมายถึงยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่รวมถึงยาฆ่าเชื้อไวรัส หรือเชื้อพยาธิ ยาปฏิชีวนะมักจะลดการอักเสบลงได้ ถ้าเชื้อก่อโรคนั้นทำให้เกิดการอักเสบแต่ไม่ได้ลดการอักเสบโดยตรง
อย่างไรก็ตามโรคติดเชื้อไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเสมอไป เนื่องจากร่างกายสามารถกำจัดเชื้อโรคหลายชนิดออกจากร่างกายได้เอง เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสที่ก่ออาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบนในผู้ใหญ่ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ โรคติดเชื้อบางอย่างก็ไม่มียารักษาจำเพาะ เช่น ไข้เลือดออกการรักษาตามอาการ เช่น กินยาลดน้ำมูก แก้ไอ ระยะเวลาหนึ่ง อาการต่าง ๆ ก็จะหายไปได้เอง
นอกจากนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียในร่างกายดื้อยาสะสม และทำให้ใช้ยาดังกล่าวไม่ได้เมื่อจำเป็นต้องใช้ และอาจจะเกิดการแพ้ยาได้
ดังนั้น การกินยาลดไข้ ร่วมกับยาบรรเทาอาการอื่น ๆ อาจเพียงพอในโรคติดเชื้อหลาย ๆ ชนิดโดยเฉพาะโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัส และถ้าเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ ส่วนใหญ่จะเวลาประมาณ 3 – 7 วัน ไข้จะค่อย ๆ ลดลงและหายไปในที่สุด ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งมีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิต้านทานลดลง มีอาการรุนแรงของอวัยวะที่มีการอักเสบ เช่น ไอมากจนหายใจลำบาก ท้องเสียถ่ายมากจนไม่มีแรง หรือในช่วงที่มีการระบาดของโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ประเมิน และรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว
ภาพประกอบ : www.freepik.com