ข่าวคราวการเสียชีวิตของนักวิ่งจากการเข้าร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอน ซึ่งล่าสุดใน 1 อีเวนต์ มีนักวิ่งเสียชีวิตทั้งขณะวิ่ง และภายหลังวิ่งเข้าเส้นชัยแล้ว ไม่นับรวมกีฬาประเภทอื่น เช่น แบดมินตัน ถ้าใครอยู่ในวงการจะเห็นข่าวคราวการเสียชีวิตระหว่างการเล่น ติดต่อกันหลายอาทิตย์ ทั้งนักกีฬาสมัครเล่นและนักกีฬาอาชีพ ทำให้เป็นที่กล่าวขวัญในหมู่นักกีฬา ถึงความปลอดภัย และทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าภายหลังเล่นหรือแข่งเสร็จแล้ว จะไม่ตายหรือปลอดภัยได้กลับบ้านไปหาครอบครัวแน่ ๆ
แนะนำอ่าน โรคหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย
อัตราการเสียชีวิตจากการออกกำลัง ทั่วโลกอยู่ที่ 1 : 80,000 – 200,000 โดยการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะมาจากโรคแฝง ที่นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่รู้ หรือรู้และอยู่ในระหว่างการรักษาหรือการควบคุม โอกาสที่จะเสียชีวิตในคนที่แข็งแรงไม่มีโรคแฝงจากการออกกำลังหรือเล่นกีฬาโดยตรงนั้น มีโอกาสเกิดน้อยกว่า
แนะนำอ่าน ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี
สาเหตุการเสียชีวิต จากการเล่นกีฬา
สำหรับการเสียชีวิต ซึ่งเกิดในระหว่างการแข่งขันกีฬา เช่น การวิ่ง การเตะฟุตบอล การเล่นแบดมินตัน โดยเฉพาะในการวิ่งระยะไกล ๆ นั้น มักจะมาจากโรคแฝงที่เกี่ยวกับหัวใจเป็นหลัก โดยมีโอกาสเกิดสูงในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ไขมันสูง ความดันสูง มีเบาหวาน สูบบุหรี่ อ้วน เป็นต้น เมื่อต้องออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ 3 – 5 ชม. และเมื่ออยู่ในสภาพที่มีความฟิตไม่เพียงพอ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ มีเรื่องเครียดก่อนแข่ง นอนดึกก่อนแข่ง จึงมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตระหว่างการเล่นกีฬาสูงขึ้น
จริงอยู่ว่าการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายอย่างหนัก และต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดหัวใจวายและเสียชีวิตได้ในผู้เล่นทุกวัย แต่ความเสี่ยงดังกล่าวจะมีอยู่สูงในกลุ่มผู้เล่นกีฬาที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีปัจจัยเสี่ยงร่วมอื่น ๆ สูง ทั้งนี้สาเหตุหลัก ๆ ของการเสียชีวิต จะมาจากการที่มีลิ่มเลือดหรือก้อน plaque หลุดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดการอุดตันเฉียบพลัน เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวายและเสียชีวิต ซึ่งโรคนี้ในการดำเนินชีวิตปกติอาจไม่มีอาการ นอกจากนี้การตรวจหลอดเลือดหัวใจตามปกติ เช่น การตรวจเลือด เอกซเรย์ทรวงอก CT scan, MRI, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การวิ่งสายพาน (Exercise stress test: EST) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) อาจให้ผลเป็นปกติได้ ทำให้ผู้เล่นกีฬาส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนว่ามีโรคแฝงอยู่ สำหรับนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า 40 ยังอาจเสียชีวิตจากโรคหัวใจผิดปกติอื่น ๆ ได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจโตผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศได้ชี้ให้เห็นว่า มีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตที่สูง ในผู้ที่ปกติไม่ค่อยออกกำลังกายแล้วจู่ ๆ ไปวิ่งในระยะยาวเป็นเวลานานทันที ซึ่งเกินหัวใจจะรับได้ทันท่วงที
นอกจากการเสียชีวิตจากโรคแฝงที่เกี่ยวกับโรคหัวใจแล้ว ยังมีการเสียชีวิตจากการสูญเสียเกลือแร่จากโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยกว่า
อาการเตือนที่ต้องสังเกต ในระหว่างเล่นกีฬา
ทั้งนี้ผู้เล่นกีฬาควรต้องสังเกตอาการเตือนที่สำคัญ ๆ ในระหว่างเล่นกีฬา โดยถ้ามีอาการ อย่าฝืน อย่าพยายามเล่นต่อเด็ดขาด อาการดังกล่าวได้แก่
- การเจ็บแน่นหน้าอก โดยอาจลามไปจนถึงช่วงแขน คอ กราม ใบหน้า หรือช่องท้อง
- เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม หากมีอาการดังกล่าวให้รีบบอกเพื่อน ผู้เล่น กรรมการ เพื่อส่งให้หน่วยพยาบาลปฐมพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลทันที
ข้อแนะนำในการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิต ในขณะเล่นกีฬา
- ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตรวจร่างกายตามระดับความเสี่ยง เช่น อายุมาก มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ อาจต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การวิ่งสายพานหรือการตรวจอื่น ๆ ที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นกีฬาแต่ละราย ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดและค่าใช้จ่ายในการตรวจจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งจะมีแพ็กเกจเฉพาะออกมาเป็นระยะ โดยภายหลังการตรวจควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด
- ควรมีการฝึกซ้อมก่อนแข่งอย่างเพียงพอ โดยมีรูปแบบการฝึกทั้งแบบ interval หนักสลับเบา แบบ tempo หนักต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความทนทาน การฝึกเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เป็นต้น ที่สำคัญต้องค่อย ๆ เพิ่มระดับความหนักอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่ง มีวันพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้มีการปรับตัว
- ถึงวันแข่งหรือวันเล่นกีฬา ให้เล่นเหมือนกับที่ซ้อมมา อาจเข้มข้นขึ้นได้อีกเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายคุ้นเคยกับระดับความหนักของการเล่นระดับนี้มาแล้ว อันตรายมากหากซ้อมน้อยและไปมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังเฉพาะตอนแข่ง ซึ่งหัวใจจะโหลด และมีความเสี่ยงสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้
- สำหรับการวิ่ง นักวิ่งควรมีการคุมชีพจรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่แช่อยู่ใน HR zone สูง ๆ เป็นเวลานาน ควรดื่มน้ำเติมเกลือแร่ทุกครั้งที่วิ่งเมื่อถึงจุดที่ผู้จัดเตรียมไว้ นอกจากนี้ควรสอบถามผู้จัดการแข่งขันถึงรายละเอียดด้านการปฐมพยาบาลที่ผู้จัดเตรียมไว้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้แก้สถานการณ์ได้ทัน
- หากพบอาการเตือน เช่น แน่นหน้าอก เวียนหัวหน้ามืดจะเป็นลม อย่าฝืนเล่นหรือวิ่งต่อ ให้หยุดพัก แจ้งหน่วยพยาบาลของการแข่งขัน ตามช่องทางที่ผู้จัดเตรียมไว้ทันที
- นอกจากนี้ควรหาเวลาเข้าอบรมการทำ CPR หรือการปั้มหัวใจ เผื่อมีโอกาสในการช่วยผู้เล่นกีฬาคนอื่น ๆ ได้
แนะนำอ่าน พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพวัยทำงาน
ถึงตอนนี้แล้ว เพื่อน ๆ คงมั่นใจมากขึ้นว่า นอกจากความสนุกที่ได้จาการเล่นกีฬาแล้ว การใส่ใจในรายละเอียดทางด้านสุขภาพให้มากขึ้น จะทำให้ทุกคนปลอดภัย กลับไปหาคนที่รออยู่ได้แน่
- บทความ นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.เวิลด์เมดิคอล
- หัวใจวายขณะวิ่ง โดย นพ.ภัทรภณ อติเมธิน รพ.สมิติเวช
- บทความจากเว็บไซต์ running-advice.com, firstmarathon.net
- กระทรวงสาธารณสุข แนะนักวิ่งมาราธอนประเมินความพร้อมทางกาย