การเริ่มต้นฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังถือเป็นเส้นทางที่ดีสำหรับพุทธศาสนิกชน เพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะการฝึกจิตให้คุ้นเคยกับการปล่อยวาง หลายคนจึงมักมองหาสถานที่ฝึกปฏิบัติธรรมต่าง ๆ รวมถึงบางวัดที่มีการเปิดให้บุคคลภายนอกได้เข้าไปร่วมกิจกรรม วันนี้ทีมงานขอนำเสนอการเตรียมตัวไปฝึกปฏิบัติธรรมแบบที่ต้องพักค้างแรม บางวัดเรียก “เนกขัมมะ” ดังนี้
การเตรียมตัวไปปฏิบัติธรรม
1. เลือกสถานที่ในการปฎิบัติธรรม ในปัจจุบันมีหลายวัดและหลายสำนักปฏิบัติธรรมที่เปิดให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าฝึกปฏิบัติธรรม บางวัดมีทุกสัปดาห์เข้าศุกร์กลับอาทิตย์ บางวัดมีเดือนละครั้ง บางสถานที่มีเป็นคอร์สระดับต้นไปจนถึงระดับสูง แต่ละสถานที่มีอาจารย์ มีแนวทาง วิธีปฏิบัติที่เข้มข้น วันเวลาที่สั้นยาวแตกต่างกัน การหาข้อมูลทั้งจากหน้าเว็บไซต์ สอบถามเพิ่มเติมจากผู้ที่เคยไปปฏิบัติธรรม จึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้การเลือกสถานที่ควรเลือกจากแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ชอบ การเดินทางไม่ไกล ระยะเวลาฝึกไม่นาน เพื่อให้กายและใจได้ฝึกปรับตัวให้คุ้นชินกับการฝึกปฏิบัติในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ตัวอย่างสถานที่ปฏิบัติธรรม ได้แก่ วัดปัญญานันทาราม วัดป่าเจริญราช วัดอัมพวัน หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ วัดมเหยงค์ เป็นต้น เมื่อเลือกสถานที่แล้ว อย่าลืมสอบถามกำหนดการ รายละเอียด เอกสารที่ต้องใช้ลงทะเบียน รวมถึงอื่น ๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมด้วย
2. พิจารณาว่าควรมีเพื่อนหรือกัลยาณมิตรไปด้วยหรือไม่ เนื่องจากเป็นมือใหม่ บางคนโดยเฉพาะเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้หญิง อาจไม่คุ้นชินกับการอยู่ปฏิบัติที่วัด การมีเพื่อนหรือกัลยาณมิตรไปด้วยอาจช่วยผ่อนคลายความเครียดหรือความกดดันลงได้บ้าง ทั้งนี้ควรเป็นเพศเดียวกัน เพราะสถานที่ปฏิบัติธรรมมักจะแยกหญิงชาย และถึงเป็นเพศเดียวกัน ระหว่างการฝึกก็จะไม่ได้พูดคุยกันเหมือนกับอยู่ข้างนอก เพื่อน ๆ จึงควรพิจารณาข้อดี ข้อเสียของการหาเพื่อนไปด้วยให้รอบคอบ
3. เตรียมข้าวของเครื่องใช้เท่าที่จำเป็น เบื้องต้นเพื่อน ๆ ควรเตรียมบัตรประชาชน เงินติดตัวเล็กน้อยไว้หาซื้อของขาด เน้นของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น ยาสีฟัน สบู่ แปรงสีฟัน เป็นต้น สวมชุดปฏิบัติธรรมสีขาว สำหรับผู้ชายจะเป็นกางเกงขายาวสีขาว เสื้อแขนสั้นสีขาว สำหรับผู้หญิงจะเป็นเสื้อแขนยาวสีขาว ผ้านุ่งสีขาว สไบสีขาว ซึ่งบางสถานที่ปฏิบัติธรรมจะมีให้เช่า ให้ยืม แต่บางแห่งผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องนำมาเอง และสิ่งที่ไม่ควรเตรียมมาคือ ของมีค่าต่าง ๆ รวมถึงของประทินโฉม เช่น เครื่องประดับ กระเป๋า นาฬิกาหรู เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม พึงระลึกว่าการอยู่ในระหว่างการปฏิบัติธรรมถือศีล จะห้ามไม่ให้แต่งหน้าทาปากหรือทาเครื่องหอม เครื่องประทินผิว แต่ที่สำคัญและขาดไม่ได้คือ ยาประจำตัว ยาที่ต้องกินเป็นประจำ
4. เตรียมจิตใจให้พร้อม ฝึกกินอยู่ล่วงหน้าจะดี วัตรปฏิบัติในสถานปฏิบัติธรรมนั้น เข้มงวดกว่าข้างนอกมาก มีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน ส่วนใหญ่กิน 1 – 2 มื้อ บางที่นอนเสื่อ ชั่วโมงนอนน้อย ตื่นก่อนเช้า ทางที่ดีทีมงานแนะนำให้เพื่อน ๆ ลองฝึกปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว อย่างน้อย 2 – 3 วันล่วงหน้า เพื่อให้สามารถผ่านการฝึกจริงไปได้ โดยมีสมาธิอยู่กับการฝึกจิตอย่างแท้จริง และที่สำคัญ เพื่อน ๆ ควรจัดแจงฝากงาน ฝากคน ฝากเรื่องต่าง ๆ ที่อาจเป็นข้อกังวลให้เรียบร้อยก่อนเข้าปฏิบัติธรรม
5. อย่าคาดหวังสูงเกินไป การคาดหวังถึงความสะดวกสบาย หรือผลที่ว่าจิตใจจะสงบ และลดละวางได้จากการฝึกในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ นั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ควรเข้าใจว่าการเข้าปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเรื่องของการฝึกจิต ซึ่งจะสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการฝึกฝนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนรู้เท่าทันจิตของตัวเอง ลำพังการเป็นมือใหม่ปฏิบัติธรรมจึงเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น
วันไปปฏิบัติธรรม
บางสถานที่อาจต้องลงทะเบียนล่วงหน้า บางสถานที่อาจลงทะเบียนในวันเข้าปฏิบัติได้เลย ให้สอบถามเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางถึง ทบทวนระเบียบปฏิบัติ รับฟังคำแนะนำเพิ่มเติม หลังจากนั้นเข้าที่พักให้ถูกต้องตามที่ได้จัดไว้ ปกติจะแยกชายหญิงมีข้อสงสัยใด ๆ ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ทันที
ปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่สถานที่ได้มีการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการกิน การอยู่ การนอน ช่วงแรก ๆ ของการปรับตัว หลาย ๆ คนจะรู้สึกเบื่อมาก ๆ จนท้อ อยากเลิก โดยเฉพาะการห้ามพูดห้ามคุย การต้องนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมเป็นเวลานาน ๆ การกินแค่ 1 – 2 มื้อ เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เบื่อและท้อได้ ทีมงานแนะนำให้อดทน พยายามต่อไปสักพัก เมื่อจิตเริ่มนิ่งขึ้น ร่างกายปรับตัวได้ดีขึ้น เพื่อน ๆ จะรู้สึกคุ้นเคยกับการอยู่กับตัวเองมากขึ้น วิเคราะห์จิตใจได้มากขึ้น มีสติ สมาธิ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของจิต จนเกิดปัญญา ในระหว่างการปฏิบัติหากเจอปัญหาให้สอบถามพระอาจารย์ พระหรือแม่ชีพืี่เลี้ยงถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิด
เมื่อผ่านการฝึกปฏิบัติธรรมแล้ว กลับมาบ้าน ที่ทำงาน ให้นำสิ่งที่ฝึกมาประยุกต์ปฏิบัติให้เป็นประจำ จนติดเป็นนิสัย และหากมีความสนใจเพิ่มเติม ให้หาข้อมูล รายละเอียดการอมรมเพื่อเข้าฝึกปฏิบัติธรรมในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.pixabay.com