ในชีวิตประจำวัน ร่างกายต้องการพลังงานเพื่อใช้ในกิจกรรมที่หลากหลายในแต่ละวัน เช่น เดิน ขึ้นบันได กวาดพื้น ตัดหญ้า ทำครัว เป็นต้น การออกกำลังกายจึงเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานเพิ่มเติม เพื่อให้พลังงานที่ต้องใช้ในแต่ละวัน สอดคล้องกันกับพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานอาหาร และเพื่อเป้าหมายทางสุขภาพในด้านต่าง ๆ โดยหากไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องอาจไม่ประสบความสำเร็จในการออกกำลังกายได้
ก่อนและหลังออกกำลังกาย ต้องอบอุ่นร่างกาย
การอบอุ่น (Warm up) ร่างกาย ควรทำก่อนออกกำลังกายโดยใช้เวลา 5 – 10 นาที ด้วยการเคลื่อนไหว ลักษณะที่คล้ายคลึงกับประเภทของการออกกำลังกาย เพื่อให้หลอดเลือดขยายตัว กล้ามเนื้ออบอุ่น ทำให้สามารถยืดหดตัวได้ดี ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ เช่น การวิ่งช้า ๆ การดริล (Drill) แบบยกเข่าต่ำ ยกเข่าสูง ส้นเท้าแตะก้น สำหรับวิ่ง หรือการสไลด์ขาข้าง การหมุนแขน ไหล่ วิ่งคอร์ต สำหรับแบดมินตัน เป็นต้น
ทั้งนี้ควรอบอุ่นร่างกายนานขึ้น หากเป็นการออกกำลังกายที่หนักและใช้เวลานาน และเมื่อจบการออกกำลังกาย ควรมีการคลายอุ่น (Cool down) ซึ่งสามารถทำได้ในลักษณะเดียวกับการอบอุ่นร่างกาย ระยะเวลา 5 – 10 นาทีเช่นกัน เพื่อให้กล้ามเนื้อบีบตัวไล่เลือดที่ค้างในกล้ามเนื้อกลับเข้าสู่หัวใจและหลอดเลือด ป้องกันอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือเป็นลมที่อาจเกิดจากการที่ยังมีเลือดค้างอยู่ในกล้ามเนื้อมากเกิน
แนะนำอ่าน ตอบข้อสงสัยเรื่องการออกกำลังกาย ตอน 1, ตอน 2, ตอน 3
ออกกำลังกายให้หลากหลาย จะเกิดประโยชน์สูงสุด
จริง ๆ แล้ว การออกกำลังกายสามารถแบ่งได้หลายประเภท โดยใช้เกณฑ์ในการแบ่งที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้การออกกำลังกายจะได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ออกกำลังกายควรพยายามออกให้ครบทุกอวัยวะ โดยจัดเป็นโปรแกรมลักษณะ Well – rounded exercise program เช่น ใน 1 สัปดาห์ ควรแบ่งการออกกำลังกายเป็น
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิกเพื่อพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจ และปอด (Cardiorespiratory fitness) เช่น การวิ่งโซน 2 – 3 ติดต่อกันมากกว่าครึ่งชม. 3 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป
- ออกกำลังกายแบบเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ (Resistance exercises) เช่น การเล่นเวทเทรนนิ่ง วิดพื้น ซิทอัพ และ
- ออกกำลังกายแบบเพิ่มความยืดหยุ่นและความอ่อนตัว (Flexibility exercises) เช่น โยคะ พิลาทิส ไทชิ ชีกง
โดยผู้ที่ออกกำลังกายครบทั้ง 3 ลักษณะ ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง ร่างกายจะมีกล้ามเนื้อที่ทนทานแข็งแรง แต่สามารถยืดหยุ่นได้ดี ออกกำลังกายแบบแอโรบิคติดต่อกันได้นาน โดยไม่เหนื่อยง่าย
แนะนำอ่าน ตอบข้อสงสัยเรื่องการออกกำลังกาย ตอน 1, ตอน 2, ตอน 3
ออกกำลังกายหนักเบาตามเป้าหมาย และสภาพร่างกาย
การออกกำลังกายโดยกำหนดความหนักเบาตามอัตราการเต้นของหัวใจ หรือที่เรียกว่า การออกกำลังกายแบบ In zone กำลังเป็นที่นิยมและมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งนี้ผู้ออกกำลังกายจำเป็นต้องมีอุปกรณ์การวัดติดตัว เช่น สายรัดข้อมืออัจฉริยะหรือสายคาดอก โดยควบคุมการออกกำลังกายให้หัวใจเต้นอยู่ในระดับเป้าหมายที่ต้องการ โดยมีการแบ่ง Zone การเต้นของหัวใจเป็น % ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด (Maximum heart rate, max HR) โดยนำอายุมาใช้ในการคำนวณ เช่น นาย ก อายุ 40 ปี ค่า max HR เท่ากับ 220 – 40 เท่ากับ 180 ครั้งต่อนาที ให้ 180 คือ 100%
การแบ่ง Zone อัตราการเต้นของหัวใจ จะเป็นดังนี้
- Zone 1 50 – 60% หรือ 90 – 108 bpm เป็นระดับเบามาก รู้สึกสบาย ๆ ไม่เหนื่อย เหมาะกับการฟื้นฟูร่างกาย หรือเตรียมความพร้อมสำหรับออกกำลังกายหนัก ๆ ในอนาคต
- Zone 2 60 – 70% หรือ 108 – 126 bpm เป็นระดับเบา รู้สึกหายใจเร็วขึ้นกว่าปกติ ไม่เหนื่อยมาก เหมาะกับการลดน้ำหนัก เพราะร่างกายดึงไขมันมาใช้ได้มาก และมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อน้อย
- Zone 3 70 – 80% หรือ 126 – 144 bpm เป็นระดับปานกลาง ไม่หอบ พูดประโยคสั้น ๆ ได้ มีเหงื่อปานกลาง กล้ามเนื้อล้าเล็กน้อย เหมาะสำหรับการเพิ่มความแข็งแรง เพิ่มความฟิตของร่างกาย เพื่อฝึกในระดับที่หนักมากขึ้น
- Zone 4 80 – 90% หรือ 144 – 162 bpm เป็นระดับหนัก มีการหอบ มีเหงื่อมาก พูดได้เป็นคำ ๆ กล้ามเนื้อล้ามาก เนื่องจากเริ่มหายใจไม่ทัน และมีการสะสมของกรดแลคติก เหมาะสำหรับการปรับสภาพร่างกาย สู่การฝึกเพื่อความเป็นเลิศ
- Zone 5 90 – 100% หรือ 162 – 180 bpm เป็นระดับหนักมาก หายใจไม่ทัน เหมาะสำหรับการฝึกเพื่อความเป็นเลิศ หรือเพื่อการแข่งขัน ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
แนะนำอ่าน อัตราการเต้นของหัวใจเป้าหมาย และประโยชน์ที่ได้รับ
ระยะเวลาและความถี่ ที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพดี โดยปกติแล้วคือ Zone 1 – 2 จะประมาณครั้งละ 60 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป ถ้า Zone 3 – 4 จะประมาณครั้งละ 30 – 60 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ควรปรับให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายและเป้าหมายในการออกกำลังกาย เช่น ถ้าต้องการลดน้ำหนัก ควรออกกำลังกาย Zone 2 – 3 ครั้งละ 60 – 90 นาที 5 – 6 วันต่อสัปดาห์ เสริมด้วยเวท เทรนนิ่ง 3 – 4 วัน เป็นต้น
ทั้งนี้มีความจำเป็นต้องออกกำลังกายให้ได้ 3 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากกล้ามเนื้อถ้าอยู่เฉย ๆ จะเสียความแข็งแรง และส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ในการออกกำลังกาย ควรออกต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายมีการเผาผลาญไขมันจากการหายใจแบบแอโรบิคได้อย่างเต็มที่
แนะนำอ่าน ทำไมต้องออกกำลังกายไม่น้อยกว่า 30 นาที, วิ่งหรือเล่นกีฬาอย่างไร ไม่ตาย ปลอดภัยกลับบ้านแน่
สังเกตอาการเจ็บป่วย ขณะออกกำลังกาย
ในการออกกำลังกาย ร่างกายต้องใช้งานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้การบาดเจ็บของอวัยวะในระบบต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด จึงควรสังเกตอาการของตนเองในขณะออกกำลังกาย สำหรับอาการเจ็บปวดในเบื้องต้น จะมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ หนึ่ง จากการคั่งของกรดแลคติกที่เกิดจากการออกกำลังกายที่หนัก และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดตะคริวในขณะออกกำลังกาย ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และหายไปได้ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง สอง จากการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ กระดูก และเอ็น โดยจากเรื่องบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา จะมีอยู่หลายประเภท โดยมีแนวทางการรักษาในเบื้องต้น คือ RICE ประกอบด้วย R (Rest) พัก ไม่เคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บ อาจต้องใช้ไม้ดาม ผ้ายืดพัน เฝือกหรือใช้ไม้เท้า, I (Ice) น้ำแข็ง คือ ประคบด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง ประคบบริเวณที่บาดเจ็บ, C (Compress) รัด = ใช้ผ้ายืดพันบริเวณที่บาดเจ็บ รอบข้อที่เคล็ด เพื่อให้อยู่นิ่ง และไม่ให้เลือดออกมากขึ้น, E (Elevate) ยก = ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ไม่คั่งอยู่บริเวณที่บาดเจ็บ ช่วยลดบวมและลดปวดได้ ส่วนแนวทางการรักษาในขั้นต่อไปจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง
แนะนำอ่าน บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ทำไงดี, รู้ได้อย่างไรว่า จะต้องประคบร้อนหรือเย็น
สำหรับอาการเตือนที่ควรสังเกต และควรหยุดออกกำลังกายทันที
1) เจ็บแน่นหน้าอก โดยอาจลามไปจนถึงช่วงแขน คอ กราม ใบหน้า หรือช่องท้อง
2) เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม หรือเหงื่อแตก ใจสั่น เพราะอาการในกลุ่มนี้ เป็นอาการเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้เสียชีวิตได้
หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบบอกเพื่อน ผู้เล่น กรรมการ เพื่อส่งให้หน่วยพยาบาลปฐมพยาบาล หรือไปโรงพยาบาล หากไม่มีหน่วยช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ ให้โทรศัพท์ไปที่เบอร์สายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
แนะนำอ่าน โรคหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย
ข้อมูลจาก : www.health2click.com