คุณชื่นชอบดนตรีประเภทไหน…ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ดนตรีคลาสสิก คือหนึ่งในมรดกอันล้ำค่า ที่เกิดจากการสรรค์สร้างของมนุษย์ ในด้านจิตใจดนตรีส่งผลต่อความรู้สึก ในด้านร่างกาย มีผลวิจัยทางกาแพทย์หลากหลาย ที่หยิบบทเพลงคลาสสิคขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับการทำงานของระบบต่าง ๆ รวมไปจนถึงพัฒนาการ และคลื่นสมอง จากเหตุผลทั้งสองแง่ เราสามารถอนุมานได้ว่าดนตรีเป็นประโยชน์ มากกว่าจะก่อให้เกิดโทษ ดังนั้นหากใครอยากลองเริ่มหันมาสนใจดนตรีคลาสสิก ลองมาฟัง 10 บทเพลงยอดนิยมตลอดกาล แล้วคุณจะรู้ว่าเพลงคลาสสิก…ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่เคยคิด
1. Symphony no. 5 – Ludwig van Beethoven
บทเพลงนี้เขียนขึ้นในช่วง ค.ศ.1804-1808 และได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกทางดนตรี ที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก ตั้งแต่ครั้งแรกที่แสดง ณ กรุงเวียนนา ด้วยความที่เป็นดนตรีบรรเลงเร็ว จังหวะเร้าใจ เน้นเครื่องสายเป็นหลัก ทำให้เพลงนี้มีสำเนียงสูงสลับต่ำ เหมาะกับคนที่เริ่มฟังดนตรีคลาสสิกมาก ๆ เพราะมีจังหวะที่สนุกสนาน เข้าถึงได้ง่าย แม้ว่าที่จริงแล้วโน้ตเพลงจะซับซ้อนมากก็ตาม
2. Nocturne no. 2 – Frédéric Chopin
หากจะนิยามบทเพลงนี้คงต้องบอกว่า มีการบรรเลงปียโนที่โดดเด่น ท่วงทำนองเป็นอิสระไร้กฏเกณฑ์ ฟังง่าย และสามารถสร้างความรื่นรมย์ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะในโอกาสไหน เพลงนี้เขียนขึ้นในช่วง ค.ศ.1830-1832 และได้รับการยกย่องให้เป็นบทเพลงที่สวยงาม หากพูดถึงเรื่องโรแมนติก เชื่อว่าคอเพลงคลาสสิกหลายคนจะนึกถึงโชแปง
3. Serenade no. 13 – Wolfgang Amadeus Mozart
กลายเป็นนิยามของความหรูหรา โอ่อ่า ตระการตา ของสังคมชั้นสูงไปแล้ว เชื่อว่าหลายคนคุ้นหูกับเพลงนี้แน่นอน และนั่นคือหลักฐานการันตีถึงความนิยมได้เป็นอย่างดี เพลงนี้เขียนขึ้นในช่วง ค.ศ.1787 แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าแต่งขึ้นเพื่อประกอบละคร หรือจุดประสงค์ใด ทว่าบทเพลงนี้กลับกลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับงานเลี้ยงรื่นเริง รวมไปจนถึงงานเต้นรำต่าง ๆ
4. The four seasons – Antonio Vivaldi
บทเพลงซึ่งถ่ายทอดความงดงามของฤดูกาลทั้ง 4 อันได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ, ฤดูร้อน, ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว โดยใช้ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีหลัก ผสานสำเนียงอันงดงาม เพลงนี้ได้แต่งขึ้นเพื่อประกอบโคลง 4 บท แต่ไม่เป็นที่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่งโคลงเหล่านี้ ถึงอย่างนั้นนักประวัติศาสตร์ก็คาดว่าวิวาลดีอาจจะเป็นผู้แต่งขึ้นเอง เป็นบทเพลงที่ฟังง่าย ให้ความเพลินเพลินได้ทุกโอกาส
5. On the beautiful blue danube – Johann Strauss II
บทเพลงวอลซ์สำหรับการเต้นรำ ที่คงความคลาสสิกจับใจใครหลายคน และเชื่อว่าต้องมีคนคุ้นหู เคยได้ฟังกันมาบ้างแล้ว สเตราซ์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของแม่น้ำดานูบ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสายสำคัญของทวีปยุโรป เพลงนี้แม้จะเป็นเพลงเต้นรำจังหวะวอลซ์ แต่กลับมีการเรียบเรียบทำนองอย่างน่าสนใจ เน้นการบรรเลงเครื่องดนตรีให้ประสานกันกระหึ่มก้อง เป็นอีกบทเพลงที่สร้างความสุนทรีย์แก่จิตใจ
6. Swan lake – Pyotr Ilyich Tchaikovsky
สวอนเลคเป็นนิทานพื้นบ้านของรัสเซียและเยอรมนี ซึ่งนิยมนำมาใช้แสดงละครบัลเล่ต์ โดยเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหญิงที่ถูกสาปให้เป็นหงส์ในเวลากลางวัน และเป็นมนุษย์ในเวลากลางคืน โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหญิงมาพบรักกับเจ้าชาย เสน่ห์ของละครเรื่องนี้นอกจากเนื้อหาแล้ว ก็คงเป็นเรื่องของดนตรีบรรเลงที่แต่งโดยไชคอฟสกี ซึ่งส่งให้บทละครสวอนเลค กลายเป็นมหากาพย์อย่างแท้จริง หากลองได้ฟังเพลงนี้ดู คุณอาจเลิกคิดว่าเพลงคลาสสิกน่าเบื่ออีกเลย
7. Brandenburg concerto no. 3 – Johann Sebastian Bach
บทเพลงนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นผลงานดนตรีที่ดีที่สุดในยุคบาโรก เพลงนี้เขียนขึ้นเพื่อบรรเลงแบบออเคสตร้า และมักถูกนำมาเป็นเพลงบรเลงในงานเลี้ยงรื่นเริงบ่อยครั้ง ด้วยความที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน ฟังง่าย จึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน สามารถฟังได้ในทุกโอกาสเลยทีเดียว
8. Peer gynt suite no. 1 – Edvard Grieg
บทเพลงออเคสตร้าที่ประพันธ์โดยชาวสแกนดิเนเวียนในยุคนั้น ถือเป็นสิ่งที่หายาก และคู่ควรแก่การฟังอย่างหนึ่ง กล่าวถึงตัวบทเพลงเองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพลงนี้แบ่งออกเป็น 4 ช่วง โดยแต่ละช่วงให้อารมณ์แตกต่างกันไป ก็ได้อรรถรสไปอีกแบบ
9. the valkyrie: ride of the valkyrie – Richard Wagner
เป็นบทเพลงประกอบอุปรากรเยอรมันเรื่อง Die walküre ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพปกรณัมของชาวนอร์ส ด้วยความที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีท่วงทำนองที่สร้างความฮึกเหิม ทำให้ถูกนำมาเปิดกระจายเสียงทางวิทยุโดยกองพันรถถังเยอรมนี ลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบภาพยนตร์โฆษณาของกองทัพอากาศเยอรมนีอีกด้วย
10. Carmina burana – Carl Orff
คาร์มินา บูรานา เป็นเพลงที่เขียนขึ้นโดยแรงบันดาลใจจากบทกวีภาษาละติน ‘วงล้อแห่งโชคชะตา’ หรือ ‘Wheel of fortune’ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 โดยเพลงนี้เขียนขึ้นในแบบ คันตาตา หรือ เพลงมีเนื้อร้อง แสดงครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1937 ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานดนตรีจากเยอรมนี ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในขณะนั้น
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com