เพื่อน ๆ หลายคนที่อยู่ในวัยทำงานหรือเกษียณแล้ว คงจะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาไปไม่ได้ วันนี้เรามาดูผู้เชี่ยวชาญชี้แนะ กรณีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด จากการเล่นกีฬา ไม่นับรวมกรณีการบาดเจ็บรุนแรง จนทำให้กระดูกหักหรือข้อเคลื่อนกัน
สาเหตุการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา แบ่งได้เป็น 3 แบบ
- เกิดจากแรงภายนอกมากระแทก เช่น ถูกเตะที่ขา หกล้มข้อเท้าพลิก บิดเอี้ยวตัวมากเกินไป
- เกิดจากแรงภายใน มีการหดตัวอย่างรุนแรง เช่น เอ็นร้อยหวายฉีกขาดในนักกีฬากระโดดสูง กล้ามเนื้อต้นขาฉีกขาดในนักฟุตบอล กล้ามเนื้อต้นแขนฉีกขาดในนักเทนนิส
- เกิดจากการใช้งานมากเกินไป และซ้ำ ๆ เป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง แต่เกิดซ้ำที่เดิมบ่อย ๆ ซึ่งมักเกิดจากเทคนิคในการเล่นกีฬา และใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ เส้นเอ็นร้อยหวายอักเสบ กล้ามเนื้อหลังอักเสบ
ระดับความรุนแรง และแนวทางการรักษา
สำหรับแนวทางการรักษานั้น จะขึ้นอยู่กับระดับของความรุนแรง ในเบื้องต้นมี 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับที่ 1 – 3 มาดูกันว่า แต่ละระดับมีรายละเอียดเป็นอย่างไร
- ระดับหนึ่ง เส้นใยของเอ็นยึดข้อบางเส้นใยฉีกขาด ทำให้เวลากดหรือเคลื่อนไหวข้อนั้นจะรู้สึกปวดเล็กน้อย แต่จะบวมไม่มากหรือไม่มีเลย สามารถเดินลงน้ำหนัก หรือใช้ข้อนั้น ๆ ได้ใกล้เคียงปกติ ประมาณ 2 – 3 วัน ข้อที่บวมก็จะยุบเหมือนปกติ แต่อาจมีอาการปวดอยู่บ้าง ซึ่งใช้เวลา 1 – 2 อาทิตย์ ก็จะหายสนิท
การรักษา ใช้ผ้ายืดพันหรืออุปกรณ์พยุงข้อ 1 – 2 อาทิตย์
ภาพจาก : https://www.today.com
- ระดับสอง เอ็นยึดข้อมีการฉีกขาดบางส่วน จะมีอาการปวดและกดเจ็บมากพอควร มีบวมและฟกช้ำมากขึ้น ยังพอเดินได้หรือใช้ข้อนั้น ๆ ได้ กว่าจะยุบบวมอาจต้องใช้เวลานานเป็นอาทิตย์ ใช้เวลา 1 – 2 เดือนจึงจะหายสนิท
การรักษา ใส่เฝือก 2 – 4 อาทิตย์ แล้วต่อด้วยอุปกรณ์พยุงข้อ 2 – 4 อาทิตย์ - ระดับสาม เอ็นยึดข้อเกิดการฉีกขาดทั้งหมด จะมีอาการปวดมาก ข้อบวม และฟกช้ำมาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อหรือลงน้ำหนักได้ ขยับข้อนิดหน่อยก็ปวด
การรักษา ใส่เฝือก 4 – 6 อาทิตย์ หรือผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็น
แนวทางรักษา
ในเบื้องต้นจะขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ แต่จะต้องรีบทำการปฐมพยาบาล โดยใช้หลัก RICE
- R (Rest) พัก = ไม่เคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บ เช่น ไม้ดาม ผ้ายืดพัน เฝือก หรือใช้ไม้เท้าพยุงเดิน
- I (Ice) น้ำแข็ง = ประคบด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง ประคบบริเวณที่บาดเจ็บ เมื่อเกิดการบาดเจ็บในระยะ 24 – 48 ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยความเย็นครั้งละ 5 – 10 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง ความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ช่วยให้เลือดไม่ออกมาก ช่วยลดการบาดเจ็บ ลดการอักเสบ และลดบวม
ห้ามใช้ความร้อน เช่น ยาหม่อง น้ำมัน หรือครีมนวด ไม่ว่าจะทาแล้วร้อนหรือทาแล้วเย็น เพราะจะทำให้เลือดออกมาก บวมมากขึ้นได้ - C (Compress) รัด = ใช้ผ้ายืดพันบริเวณที่บาดเจ็บ รอบข้อที่เคล็ด เพื่อให้อยู่นิ่ง และไม่ให้เลือดออกมากขึ้น
- E (Elevate) ยก = ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ไม่คั่งอยู่บริเวณที่บาดเจ็บ ช่วยลดบวมและลดปวดได้ เช่น ถ้าข้อเท้าแพลง เวลานั่งควรยกเท้าพาดเก้าอี้ ไม่ควรนั่งห้อยเท้า หรือเวลานอนก็ใช้หมอนรองขาเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น
-
- ถ้าปวดมาก อาจรับประทานยาพาราเซตตามอล ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยแต่ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับ ส่วนยาต้านการอักเสบที่ไมใช่สเตียรอยด์ (Nsaids) จะมีผลข้างเคียงเรื่องแผลในกระเพาะอาหาร จึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
- หลังจาก 24 – 72 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ ให้ประคบด้วยความร้อน เพื่อทำให้เลือดที่คั่งถูกดูดซึมได้เร็วขึ้น เช่น กระเป๋าไฟฟ้า ถุงร้อน อัลตร้าซาวด์ ครีม โลชั่น น้ำมัน สเปรย์ เป็นต้น
- ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์ โดยทั่วไปถ้าเป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน แต่ถ้าอาการปวดหรือบวม ไม่ดีขึ้นใน 3 วัน ก็ควรไปพบแพทย์
- ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเป็นข้อเคล็ดชนิดรุนแรง ปวดมาก บวมมาก ขยับข้อไม่ได้ เดินลงน้ำหนักไม่ได้ หลังจากประคบด้วยน้ำแข็งแล้วให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้ารักษาช้าเกินไปหรือรักษาไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดอาการข้อบวม ปวดข้อเรื้อรัง และรู้สึกว่าข้อไม่มั่นคง ข้อหลวม การรักษาจะยากมาก และผลการรักษาก็จะไม่ค่อยดี
ข้อแนะนำเพื่อฟื้นฟูสภาพ
- เส้นเอ็นที่ฉีกขาด ใช้เวลา 4 – 6 อาทิตย์ จึงจะเริ่มติด อาการปวดบวมลดลง แต่กว่าเส้นเอ็นจะติดสนิท แข็งแรงเหมือนเดิม ต้องใช้เวลา 4 – 6 เดือน ถ้าบาดเจ็บรุนแรงก็ต้องใช้เวลานานมากขึ้น และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้หายใกล้เคียงปกติ คือการบริหารกายภาพบำบัด การดูแลฟื้นฟูสภาพ
- ในระยะแรกที่ยังมีการอักเสบ มีอาการปวด บวม ควรบริหารข้อและกล้ามเนื้อใกล้เคียงที่ไม่บาดเจ็บ โดยไม่ให้ส่วนที่บาดเจ็บเคลื่อนไหว เช่น เจ็บที่ข้อเท้า ก็ให้บริหารขยับเคลื่อนไหว ข้อเข่าและข้อนิ้วเท้า เป็นต้น
- เมื่อพ้นระยะอักเสบ ประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ ต้องออกกำลังและเคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการพักนานเกินไป เช่น กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ข้อติดแข็ง เป็นต้น
- ข้อควรระวังคือ ต้องทำในระดับที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บซ้ำอีก ค่อย ๆ ทำ และเริ่มเบา ๆ ก่อน ใช้ความรู้สึกเจ็บเป็นตัวกำหนด ถ้ารู้สึกเจ็บมากขึ้น แสดงว่าทำมากหรือรุนแรงเกินไป ก็ให้ทำน้อยลง หรือหยุดพัก
แนวทางการฟื้นฟูสภาพ
หลังจาก 4 – 6 อาทิตย์ ก็จะต้องพยายามฟื้นฟูร่างกายให้คืนสู่สภาพปกติ มีแนวทางทั่วไปคือ
- เริ่มออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เช่น ใช้การถ่วงน้ำหนัก และค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น
- ออกกำลังเพื่อเพิ่มความทนทานควบคู่ไปด้วยซึ่งทำได้โดยใช้น้ำหนักต้านที่เบา ๆ หนักประมาณ 20 – 40% ของน้ำหนักที่กล้ามเนื้อเส้นเอ็นข้างปกติสามารถยกได้มากที่สุด แต่ต้องยกติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง
- เพิ่มความทนทานให้ระบบหัวใจหลอดเลือดและปอด โดยออกกำลังแบบแอโรบิก อย่างน้อยวันละ 30 นาที
- ออกกำลังเคลื่อนไหวข้อที่บาดเจ็บให้มากขึ้น แต่จะต้องเพิ่มช้า ๆ ไม่เช่นนั้น อาจทำให้ข้อนั้นเกิดบาดเจ็บซ้ำอีก
จะกลับไปเล่นกีฬาได้เมื่อไร
ปัญหาที่พบบ่อยหลังจากรักษา คือ เกิดการบาดเจ็บซ้ำขึ้นอีก เนื่องจากใจร้อนกลับไปเล่นกีฬาในสภาพที่ร่างกายยังไม่พร้อม คิดว่าไม่เจ็บแล้วน่าจะเล่นได้ หลักพิจารณาเบื้องต้นคือ
- ในกรณีเล่นกีฬาทั่วไป (ไม่มีการแข่งขัน) ก่อนที่จะเล่นกีฬาจะต้องรู้สึกว่ากล้ามเนื้อและข้อปกติ ไม่มีอาการปวด บวม หรือ เสียวในกล้ามเนื้อหรือในข้อ ขณะเล่นกีฬาควรใช้ผ้ายืดรัดบริเวณกล้ามเนื้อหรือข้อ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ ค่อย ๆ ปรับเพิ่มความเร็ว-ความหนักของกีฬา เพื่อประเมินอาการ ถ้าเล่นกีฬาแล้วรู้สึกผิดปกติ รู้สึกเจ็บมากขึ้น ให้หยุดเล่น หรือลดความเร็ว-ความหนักลง
- ในกรณีที่เป็นการแข่งขัน เล่นกีฬาอย่างเต็มที่เหมือนก่อนการบาดเจ็บ ต้องมีการทดสอบความพร้อมของร่างกาย ถ้าร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อมมากกว่า 95% ขึ้นไป จึงจะลงแข่งขันได้
ภาพประกอบ : www.freepik.com