สัตว์เลี้ยงถือเป็นอีกทางเลือกคลายเหงาสำหรับคนที่มีเวลาว่าง และใส่ใจมากพอที่จะดูแลคู่หูคนสำคัญอีกชีวิต หากกล่าวตามความรู้สึกของคนทั่วไป เราต่างเข้าใจกันดีว่าสัตว์เลี้ยงมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้สุงอายุเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อสืบค้นเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ เราจะพบว่าสัตว์เลี้ยงสามารถบรรเทาความเครียดได้จริง ในต่างประเทศมีการจัดตั้งศูนย์ให้บริการด้านสัตว์เลี้ยงคู่หูอย่างจริงจัง เพราะการบรรเทาความหดหู่ในด้านนี้ ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถตระหนักถึงคุณค่าของการใช้ชีวิตได้อย่างชัดเจน
สัตว์เลี้ยงกับการบำบัด
ในบรรดาสัตว์เลี้ยงที่นิยมใช้เพื่อบำบัด และบรรเทาอาการในผู้สูงอายุทั้งหมด สุนัข และแมว คือตัวเลือกยอดนิยม เนื่องจากสัตว์ทั้งสองสามารถให้สัมผัส ความใกล้ชิดทางกายได้ มีการตอบสนองต่อกิจกรรมการฝึกฝนชัดเจน รองลงมาก็คือสัตว์ประเภทอื่น ๆ เช่น กระต่าย หนู นก ฯลฯ โดยจากผลการวิจัย พบว่าการมีสัตว์เลี้ยงอยู่กับผู้สูงอายุ สามารถบรรเทาอาการได้ ดังนี้
- ความดันโลหิตลดลง
- บรรเทาความเครียด
- ต่อสู้กับความเหงา
- ลดอาการซึมเศร้า
- กระตุ้นให้ผู้สูงอายุออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ
- มีคุณค่าทางอารมณ์ความรู้สึก
- สัตว์เลี้ยงที่ผ่านการฝึกจากศูนย์ฯ โดยตรง สามารถช่วยเหลือการทำกิจวัตรต่าง ๆ ของผู้สูงอายุได้
อย่างไรก็ดี การบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงคู่หู เป็นวิธีที่เหมาะสมเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีอาการแพ้ขน หรือไม่ชอบสัตว์เลี้ยงเท่านั้น หากผ่านสองข้อนี้ไปแล้ว ผู้สูงอายุหรือคนใกล้ชิดก็สามารถเลือกทางนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลดีมาก ๆ ยกตัวอย่างเมื่อปี ค.ศ.1980 ได้มีการศึกษาเรื่องการเลี้ยงสัตว์ในผู้ป่วยโรคหัวใจโดยตรง พบว่า การเลี้ยงสัตว์ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการเข้าร่วมโปรแกรมการรักษา มีความมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการตอบสนองต่อตัวยา และกระบวนการรักษาเป็นอย่างดี
ประโยชน์ของผู้สูงอายุที่เลี้ยงสัตว์
1. เติมเต็มความต้องการทางกาย
ไม่มีอะไรจะส่งผลต่ออารมณ์ได้มากเท่าการกอดสัตว์เลี้ยงแน่น ๆ ซักครั้ง สัมผัสทางกายมีพลังในการเยียวยาอย่างน่าทึ่ง แน่นอนว่าหลายครอบครัวเผชิญปัญหาการแสดงออกระหว่างกัน จนต้องย้อนกลับไปถามตัวเองว่า ในหนึ่งวันคุณบอกรักพ่อแม่ผู้สูงวัยหรือไม่ กอด หรือสัมผัสพวกท่านกี่ครั้ง สิ่งเหล่านี้มักถูกละเลยไป ในขณะที่แง่มุมของสัตว์เลี้ยงทุกสิ่งจะกลับตาลปัตร เพราะโลกของสัตว์เลี้ยงจะมีเพียงเจ้าของสำคัญเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ดังนั้นการโต้ตอบทางกาย หรือสายตาของพวกมัน ล้วนแสดงออกชัดเจนถึงความรักใคร่
2. บรรเทาปัญหาสุขภาพ
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า สัตว์เลี้ยงสามารถบรรเทาความเครียดได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ช่วยป้องกันอาการต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคความดัน โรคซึมเศร้า หรือโรคเกี่ยวกับจิตใจอื่น ๆ อีกทั้งการเลี้ยงสัตว์ยังเป็นการชักจูงให้เจ้าของได้ออกกำลังกายทางอ้อม เช่น การเลี้ยงสุนัข ผู้เลี้ยงต้องพาพวกมันออกไปเดินเล่นบ้าง หรือบางทีอาจหาของเล่น เช่น บูมเมอแรง ลูกบอล มาโยนเล่นกับพวกมันบ้าง ซึ่งท้ายที่สุดพฤติกรรมนี้ จะส่งผลดีต่อตัวเจ้าของเองในระยะยาว
3. เยียวยาจิตใจ
ในระหว่างวันที่ไม่มีใครอยู่บ้าน ผู้สูงอายุหลายรายเกิดความเหงา เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว คงไม่สามารถนัดเพื่อเก่า ๆ แล้วออกไปเที่ยวด้วยกันได้ทุกวัน ดังนั้นสัตว์เลี้ยงจึงเป็นเพื่อคู่หูที่รู้ใจ การได้ใช้เวลาด้วยกันจะทำให้หยุดคิดฟุ้งซ่านได้ หรือในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า การได้มีสัตว์เลี้ยงอยู่ข้าง ๆ จะทำให้รู้สึกว่าไม่ได้อยู่เพียงลำพังอีกต่อไป
4. ยกระดับจิตวิญญาณ
ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ การเลี้ยงสัตว์ด้วยตัวเองสามารถทำให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นได้ อย่างแรกคือวินัย เพราะการรับผิดชอบชีวิตใหม่อีกชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องของความสนุก แต่เป็นเรื่องของการดูแล ให้น้ำ ให้อาหาร ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยง พาไปเดินเล่น หากิจกรรมให้ทำ อีกทั้งยังต้องพาไปหหมอเมื่อถึงเวลาให้วัคซีน หรือป่วยไข้ สิ่งเหล่านี้เป็นภาพจำลองชีวิตของคนแบบย่อส่วน รวมไปถึงเรื่องนิสัยใจคอ คุณอาจพบว่าคนที่เลี้ยงสัตว์มีความรับผิดชอบมากขึ้น โอบอ้อมอารี และใจดีเอื้อเฟื้อต่อคนรอบข้างมากขึ้นด้วย
กล่าวได้ว่าสัตว์เลี้ยงถือเป็นเพื่อนแท้ของมนุษย์มาทุกยุค ทุกสมัย แน่นอนว่าหากเราเลี้ยงพวกเขาอย่างถูกต้อง มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวพวกเขา ต่อตัวเอง และสังคมรอบข้างแล้ว ก็จะเกิดประโยชน์ในหลายแง่อย่างมหาศาล ซึ่งหากใครมีพ่อแม่ผู้สูงวัยชื่นชอบสัตว์เลี้ยงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ลองหาเพื่อนคลายเหงาให้พวกท่าน ไม่แน่ว่าอาจทำให้บรรยากาศภายในบ้านของคุณ เต็มเปี่ยมและสมบูรณ์ขึ้นก็เป็นได้
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ
แหล่งที่มา : www.parentgiving.com
ภาพประกอบจาก : www.freepik.com