ทุกวันนี้ใคร ๆ ต่างก็พูดถึงการลงทุน เพราะการเก็บออมเงินไว้ในธนาคารเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถทำให้เกิดความมั่งคั่งได้ เนื่องจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อของทุก ๆ ปี อีกประการคือผลตอบแทน ที่เป็นสิ่งล่อตาล่อใจในการลงทุนเสมอ ดังนั้นการลงทุน จึงเป็นวิธีการสร้างมูลค่าของเงินให้เพิ่มขึ้น และนับเป็นสิ่งที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ ในคนหมู่มาก
วัยเกษียณอยากเล่นหุ้น
แน่นอนว่าเมื่อเข้าใกล้การเกษียณ คุณก็จะมีอิสระทางเวลาอย่างเต็มขั้น พร้อมกับเงินสะสมก้อนหนึ่ง หรือบางคนอาจสนใจนำเงินบำนาญมาลงทุน เนื่องจากรายจ่ายในส่วนที่เป็นค่าเดินทางของแต่ละวันหายไป การเล่นหุ้น ถือเป็นทางเลือกในใจของหลายคน หรือบางคนอาจมีคนสนิทมาชักชวนต่าง ๆ นานา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะสร้างความร่ำรวยได้จากการลงทุนในหุ้น คุณควรระลึกอยู่เสมอว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และหากผิดพลาดในช่วงเวลานี้ โอกาสหารายได้ฟื้นคืนอาจไม่ง่ายเหมือนตอนที่มีงานประจำ
เล่นหุ้นวัยเกษียณให้เสี่ยงน้อย
1. ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงสูง
นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เราต้องย้ำหลายครั้ง และคุณเองก็คงได้ยินตามสื่อฯ ต่าง ๆ จนชินหู ซึ่งจุดนี้ต้องจำใส่ใจให้แม่น อย่าได้ประมาทเป็นอันขาด ไม่ว่าจะเลือกกองทุนแบบไหนก็ตาม ควรศึกษาเงื่อนไข และลักษณะของการลงทุนให้ดี เมื่อคุณสามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ก็สามารถคัดกรองได้ว่าการลงทุนนั้น ๆ เหมาะกับคุณหรือไม่ ความเสี่ยงระดับนี้คุณสามารถแบกรับไหวหรือไม่ บางกลุ่มที่เป็นการลงทุนระยะยาว ควรดูว่าคุณสามารถรอจนถึงเวลานั้นได้หรือไม่
2. ระยะเวลาคือสิ่งสำคัญ
อย่างที่เรากล่าวไปบ้างในข้อที่แล้วว่าการลงทุนบางอย่างมีระยะยาว เช่น การซื้อพันธบัตร ไม่ว่าจะเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี ซึ่งจุดนี้หมายถึงเงินที่นำมาลงทุนควรเป็นเงินเย็น หากคุณพบว่าชีวิตหลังเกษียณของคุณไม่ได้ราบรื่นนัก ยังมีเงินขาด ๆ ชนเดือนบ้าง การนำเงินไปแช่ไว้กับอะไรนาน ๆ คงไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หรือจะมาเล่นหุ้นที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก็อันตราย ลองหันมาดูพวกสลากออมสิน สลาก ธกส. หุ้นสหกรณ์ ที่แม้ผลตอบแทนไม่หวือหวา แต่ได้สม่ำเสมอ และเมื่อคำนวนออกมาแล้วปันผลดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากตามปกติเล็กน้อย ก็น่าสนใจดี
3. อย่าโลภ
นี่คือกฎเหล็กสำคัญของการเล่นหุ้น เพราะอะไรที่ได้มาง่าย ๆ ก็มักไปได้ง่าย ๆ เช่นกัน สำหรับมือใหม่อาจตาลุกวาวเมื่อได้กำไรในครั้งแรก และเริ่มคิดว่าการหาเงินมันช่างง่ายเสียเหลือเกิน จนทำให้เกิดอาการมือเติบ ความปั่นป่วนของตลาดหุ้นทำให้เจ็บหนักมาหลายราย แม้แต่โบรกเกอร์มืออาชีพ ซึ่งข่าวแบบนี้เราก็เห็นกันอยู่ทุก ๆ วัน ดังนั้นทุกครั้งที่ได้กำไร ควรพักมือ ลงทุนกลาง ๆ น้อย ๆ สลับกันไปบ้าง ลองคิดเผื่อก็ได้ว่าในเมื่อคุณได้กำไรอยากสู้ต่อ คนอื่นเขาก็ต้องคิดเหมือนกัน แล้วตอนนั้นต่างคนต่างเท ได้ราคาตกยกหมู่แน่นอน
4. อย่าทุ่มหมดหน้าตัก
ถ้าคุณกำลังคิดว่าจะเอาเงินเก็บทั้งหมดทุ่มเล่นหุ้น…ล้มเลิกความคิดแบบนั้นไปเลยดีกว่า การเกษียณหมายความว่า คุณไม่มีเงินเข้าประจำรายเดือนอีกแล้ว ดังนั้นการหมดตัวถังแตกในตอนนี้ไม่ดีแน่นอน หากต้องการลงทุนจริง ๆ ควรแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน ประมาณ 10 – 20% ของเงินเก็บกำลังดี สำหรับนักลงทุนมือใหม่ คิดรอบด้านเอาไว้บ้าง เพราะคุณอาจป่วยกระทันหัน หรืออาจต้องตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตต่อไป ควรเหลือทางเลือกไว้ให้ตัวเองเยอะ ๆ
5. เก็บเงินผ่านประกันชีวิต
ถ้าพูดถึงประกันชีวิตหลายคนอาจจะมีอคติในใจ หรือบางคนอาจบอกว่ามีแล้ว แล้วก็ไม่สนอะไรอีก แต่ทุกวันนี้มีประกันที่ควรรู้ นั่นคือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่เหมาะมาก ๆ สำหรับผู้สูงวัยยุคใหม่ ซึ่งอยู่ในยุคที่การแพทย์เจริญก้าวหน้า เทรนด์รักสุขภาพมาแรง ค่าเฉลี่ยอายุไขของคนเราที่ยาวนานขึ้น ก็คิดบวกไว้ได้เลยว่าเรามีโอกาสสูงมากที่จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้ ข้อดีคือได้เงินก้อนจำนวนแน่นอนตามสัญญา ผลตอบแทนจากประกันชีวิตไม่ต้องเสียภาษีแบบการลงทุนอื่น และการซื้อประกันยังช่วยลดหย่อนภาษีได้ด้วย
6. ลงมือทำด้วยตัวเองหรือผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับมือใหม่จริง ๆ อาจชิมลางการลงทุนด้วยตัวเองพอหอมปากหอมคอไปก่อน พอเริ่มคิดว่ามั่นใจแล้ว ลองมาใช้บริการธนาคารหรือสถาบันทางการเงินก็เป็นอีกทางที่ดี และมีการประเมินผลต่าง ๆ อย่างเป็นมืออาชีพ อย่าให้คนสนิท ใกล้ชิด มามีอิทธิพลในการลงทุนของคุณจนเกินไป เพราะการโดนโกง การเป็นหนี้ การล้มละลายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มักจะเกิดจากการไว้ใจคนที่คิดว่าเป็นเพื่อน…ระวังข้อนี้ให้สำคัญ อย่างที่เราเตือนไปแล้วว่า ถ้าอยากได้คนช่วยจริง ๆ ไปใช้บริการโบรกเกอร์มืออาชีพ ที่มีสังกัดชัดเจนดีกว่า
7. ออมเงินระยะสั้นอย่าได้ขาด
ท่ามกลางการลงทุนมากมาย ไม่ว่าเมื่อไหร่การออมเงินระยะสั้น แบบรายปี ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทิ้ง เพราะการออมเงินลักษณะนี้ เป็นโครงการที่ทุกธนาคารจัดทำเพื่อสนับสนุนการออมเงินของประชาชนทั่วไป ไม่มีการเสียภาษี เหมาะแก่การใช้เก็บเงินให้เป็นกลุ่มก้อน หมุนเวียนไปได้เป็นอย่างดี ทำเรื่อย ๆ ให้เป็นประจำทุกปีจะเป็นประโยชน์มาก ๆ และสามารถเลือกธนาคารที่ชอบ เปรียบเทียบข้อเสนอและเงื่อนไขต่าง ๆ ได้เลย
รู้แบบนี้แล้ว หลายคนคงสามารถมองเห็นแนวทางการลงทุนในวัยเกษียณได้ชัดเจนมากขึ้น ทำอย่างไรจึงจะเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด และสามารถคงมูลค่าเงินเก็บ เพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปีไปได้ สำหรับในบางคนที่จับจุดถูก การลงทุนอาจสร้างผลตอบแทนให้คุณได้อย่างมากเลยทีเดียว ดังนั้นควรศึกษาหาความรู้ และทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงในทุกการลงทุน เพื่อการจัดการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ
ภาพประกอบจาก: www.freepik.com